กะทกรก ยาดีต่อคนเป็นซึมเศร้า ช่วยระงับความเครียด ดีต่อความจำ
กะทกรก หรือกะทกรกป่า เป็นไม้เถาเลื้อยที่มีกลิ่นเหม็นเขียว ดอกสีขาว มีเส้นฝอยโคนม่วง ต้นสดมีรสเบื่อเมา ผลสุกที่ส้ม รสหวาน

กะทกรก

กะทกรก (Fetid passionflower) หรือกะทกรกป่า เป็นไม้เถาเลื้อยที่มีกลิ่นเหม็นเขียว ดอกเป็นสีขาวและมีเส้นฝอยโคนม่วงทำให้ดูสวยงาม สามารถนำมาทานเป็นผักต้มหรือลวก และนำมาใช้ในการเกษตรเพราะมีฤทธิ์ป้องกันแมลงศัตรูพืช รวมถึงเป็นพืชคลุมดินได้ ทว่าทั้งต้นสดมีรสเบื่อเมาและเป็นพิษ หากนำมากินอาจทำให้เสียชีวิตได้ จึงต้องนำมาต้มก่อน กะทกรกเป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาได้จากทุกส่วน แพทย์ชาวเวียดนามนิยมนำมาใช้ในการระงับความเครียดได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกะทกรก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Passiflora foetida L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Fetid passionflower” “Scarletfruit passionflower” “Stinking passion flower”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “รก” ภาคเหนือเรียกว่า “ผักแคบฝรั่ง” ภาคใต้เรียกว่า “กระโปรงทอง” จังหวัดเลยเรียกว่า “ผักขี้หิด” จังหวัดเพชรบูรณ์เรียกว่า “รุ้งนก” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “เงาะป่า” จังหวัดชัยนาทเรียกว่า “เถาเงาะ เถาสิงโต” จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “ยันฮ้าง” จังหวัดอุดรธานีเรียกว่า “เยี่ยววัว” จังหวัดสกลนครเรียกว่า “ผักบ่วง” จังหวัดพิษณุโลกและอุตรดิตถ์เรียกว่า “หญ้าถลกบาต” จังหวัดศรีสะเกษเรียกว่า “เครือขนตาช้าง” จังหวัดชลบุรีเรียกว่า “ตำลึงฝรั่ง ตำลึงทอง ผักขี้ริ้วห่อทอง” จังหวัดระนองเรียกว่า “รกช้าง” จังหวัดพังงาเรียกว่า “หญ้ารกช้าง” ชาวมลายูนราธิวาสและจังหวัดปัตตานีเรียกว่า “ละพุบาบี” ชาวขมุเรียกว่า “ผักแคบฝรั่ง” ชาวม้งเรียกว่า “มั้งเปล้า” กะเหรี่ยงแดงเรียกว่า “หล่อคุ่ยเหมาะ” คนจีนเรียกว่า “เล่งจูก้วย เล้งทุงจู” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “รังนก กะทกรกป่า”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กะทกรก (PASSIFLORACEAE)

ลักษณะของกะทกรก

กะทกรก เป็นไม้เถาเลื้อยอายุประมาณ 2 – 5 ปี
ลำต้น : มีมือสำหรับใช้ยึดเกาะ มีขนขึ้นปกคลุมอยู่ทุกส่วน ทุกส่วนของลำต้นเมื่อนำมาขยี้จะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเขียว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปหัว ปลายใบแหลม โคนใบเว้า ขอบใบเว้าเป็น 3 แฉก แผ่นใบมีขนสีน้ำตาลขนาดเล็กขึ้นทั้งสองด้าน ที่ขนมีน้ำยางเหนียว
ดอก : เป็นดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ มีกลีบดอก 10 กลีบ กลีบดอกด้านนอกเป็นสีเขียวอ่อน ด้านในเป็นสีขาว มีกระบังรอบเป็นเส้นฝอยสีขาวโคนม่วง กลีบเลี้ยงของดอกเป็นเส้นฝอย ดอกมีก้านชูเกสรร่วม
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม เมื่ออ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมสีส้ม มีใบประดับเส้นฝอยคลุมอยู่ ภายในผลมีเนื้อหุ้มเมล็ดใสและฉ่ำน้ำ มีรสหวานแบบปะแล่ม ๆ มักจะออกผลในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน

สรรพคุณของกะทกรก

  • สรรพคุณจากกะทกรก ช่วยลดอาการซึมเศร้า ลดความจำบกพร่อง
    – ช่วยแก้อาการเหน็บชา ด้วยการนำมาสับตากแดด แล้วต้มกิน
  • สรรพคุณจากเปลือก เป็นยาชูกำลัง ช่วยทำให้แผลเน่าเปื่อยแห้ง
    – ช่วยแก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการนำเปลือกมาตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าว
  • สรรพคุณจากเนื้อไม้ เป็นยาคุมธาตุในร่างกาย ช่วยถอนพิษเบื่อเมาทุกชนิด ช่วยรักษาบาดแผล
  • สรรพคุณจากเถา เป็นยาธาตุ เป็นยาพอกรักษาแผล
  • สรรพคุณจากราก ช่วยแก้ความดันโลหิตสูง ช่วยแก้กามโรค
    – ช่วยทำให้สดชื่น ด้วยการนำรากสดหรือรากตากแห้งมาชงกับน้ำดื่มเป็นชา
    – แก้ไข้ แก้ไข้จับสั่น แก้ปัสสาวะขุ่นข้น ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากผล ช่วยบำรุงปอด ช่วยรักษาบาดแผล ช่วยแก้อาการปวด
  • สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาบำรุงหัวใจ ช่วยแก้อาการไอ ช่วยขับเสมหะ เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยแก้อาการบวม แก้อาการบวมที่ไม่รู้สาเหตุ
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยแก้อาการไอ ช่วยขับเสมหะ เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยรักษาบาดแผล ฆ่าเชื้อบาดแผล ช่วยแก้อาการบวม
    – ช่วยระงับความเครียดและความวิตกกังวล โดยแพทย์ชาวเวียดนามนำใบแห้งประมาณ 10 – 15 กรัม ต่อวัน มาต้มกับน้ำกิน
    – ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ช่วยแก้อาการหวัด แก้คัดจมูก ด้วยการนำใบมาตำใช้พอกหรือประคบที่ศีรษะ
    – เป็นยาเบื่อและยาขับพยาธิ ด้วยการนำใบมาตำให้ละเอียด แล้วคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยา
    – รักษาโรคผิวหนัง แก้อาการคัน แก้หิด แก้หืด ด้วยการนำใบสดมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำพอสมควร แล้วทาวันละ 3 – 4 ครั้ง
    – รักษาสิว ด้วยการนำใบมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำใช้พอก
  • สรรพคุณจากดอก ช่วยแก้อาการไอ เป็นยาขับปัสสาวะ
  • สรรพคุณจากเมล็ด
    – แก้เด็กที่มีอาการท้องอืดเฟ้อ ช่วยทำให้ผายลม ด้วยการนำเมล็ดมาตำให้ละเอียด ใช้ผสมกับน้ำส้มและรมควันให้อุ่น เอาไปทาท้องเด็ก

ประโยชน์ของกะทกรก

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ผลอ่อน ผลสุก และผลแก่นำมาใช้ทานเป็นผักสด ต้มหรือลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริกและแกงเลียง ส่วนผลนำมาปั่นเพื่อทำเป็นเครื่องดื่มได้
2. ใช้ในด้านทางการเกษตร มีสารพิษชื่อว่า Cyanpgenetic glycosides ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นยาฆ่าและป้องกันแมลงศัตรูพืชได้โดยเฉพาะตัวด้วงถั่วเขียว ใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดินและทำปุ๋ยหมักได้
3. เป็นส่วนประกอบในเม็ดยา เป็นยาสมุนไพรที่เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุได้

ข้อควรระวังของกะทกรก

1. ทั้งต้นสดมีรสเบื่อเมาและเป็นพิษ หากนำมากินอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นก่อนนำมาทานควรต้มให้สุกก่อน
2. ผลอ่อนมีพิษ เนื่องจากมีสารไซยาโนจีนิก ไกลโคไซด์ (Cyanogenetic glucoside) ซึ่งมีความเป็นพิษ ที่เปลือกผล เมล็ดและใบมีสารที่ไม่คงตัวอยู่ เมื่อสารดังกล่าวสลายตัวจะทำให้ Acetone และ Hydrocyanic acid ซึ่งเป็นกรดมีพิษ จะมีผลทำให้เม็ดเลือดแดงขาดออกซิเจน และทำให้เกิดอาการอาเจียนได้

กะทกรก ทั้งต้นเป็นยาและก็เป็นพิษด้วยเช่นกัน ดังนั้นก่อนนำมาใช้ทานไม่ว่าจะในรูปแบบของอาหารหรือยาสมุนไพร ควรนำมาต้มหรือลวกให้สุกเสียก่อน ซึ่งความเป็นพิษเหล่านี้กลับเป็นประโยชน์ต่อการเกษตรในการไล่แมลงศัตรูพืชได้ กะทกรกมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบและทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยลดอาการซึมเศร้า ลดความเครียด ลดความจำบกพร่อง แก้ไข้ บำรุงปอด แก้ความดันเลือดสูง บำรุงหัวใจและรักษาบาดแผลได้ เหมาะอย่างมากในการนำมาเป็นยาให้กับผู้สูงอายุหรือคนที่มีอาการซึมเศร้า ทั้งนี้ไม่รับประกันว่าจะได้ผลแน่นอนนัก ทว่ากะทกรกก็เป็นหนทางหนึ่งในการช่วยลดความเครียดและโรคซึมเศร้า ซึ่งถือเป็นโรคที่คนในยุคปัจจุบันมักจะเป็นกัน

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “กะทกรก Ka Thok Rok“. หน้าที่ 42.
ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กะทกรก“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [8 ม.ค. 2014].
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “กะทกรก“. (ไพร มัทธวรัตน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [8 ม.ค. 2014].
ศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “กะทกรก“. (รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.cmu.ac.th. [8 ม.ค. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “กะทกรกป่า“. (อนงค์นาฏ ศรีบุญแก้ว). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [8 ม.ค. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “กะทกรก“. อ้างอิงใน: หนังสือผักพื้นบ้านภาคใต้ (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [8 ม.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “กะทกรก“. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [8 ม.ค. 2014].
มหาวิทยาลัยนเรศวร. “สมุนไพรไทยกะทกรก“. (วชิราภรณ์ ทัพผา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th. [8 ม.ค. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “กะทกรก“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [8 ม.ค. 2014].
โครงการฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “กะทกรก ตำลึงทอง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: copper.msu.ac.th. [8 ม.ค. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์ โรงเรียนทุ่งโพวิทยา. “กระทกรก“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: botany.hostzi.com. [8 ม.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : Medthai