ผักตบชวา พืชน้ำแห่งระบบนิเวศ แก้พิษ ขับลม ดับร้อนในร่างกายได้

0
1476
ผักตบชวา
ผักตบชวา พืชน้ำแห่งระบบนิเวศ แก้พิษ ขับลม ดับร้อนในร่างกายได้ ซึ่งพืชไม้น้ำชนิดที่พบได้ทั่วไปในแม่น้ำเจ้าพระยา มีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการ

ผักตบชวา

ผักตบชวา

ผักตบชวา เป็นพรรณไม้น้ำที่คนไทยรู้จักกันอย่างแพร่หลาย มักจะพบได้ทั่วไปในแม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่าคงไม่มีใครที่ไม่รู้จักเจ้าต้นไม้น้ำชนิดนี้ ทว่าแต่เดิมนั้นผักชนิดนี้ไม่ได้กำเนิดขึ้นที่ไทย มีการนำเข้ามาปลูกครั้งแรกไว้ที่วังสระปทุมในกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ.2444 หลังจากนั้นก็เกิดการแพร่หลายกระจายไปทั่ว แต่พืชไม้น้ำชนิดนี้ก็มีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการที่น่าสนใจอยู่เหมือนกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักตบชวา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eichhornia crassipes (Mart.) Solms
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Water Hyacinth” “Floating water hyacinth” “Java Weed”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ผักตบป่อง สวะ” ภาคตะวันตกเฉียงเหนือเรียกว่า “ผักตบ” จังหวัดเชียงรายเรียกว่า “บัวลอย” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “ผักปง” จังหวัดอ่างทองเรียกว่า “ผักปอด” จังหวัดสุพรรณบุรีเรียกว่า “ผักป่อง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักตบ (PONTEDERIACEAE)
ชื่อพ้อง : Eichhornia speciosa Kunth

ลักษณะของผักตบชวา

ผักตบชวา เป็นพรรณไม้น้ำที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ สามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว พบได้ทั่วไปตามริมน้ำ
ลำต้น : ลำต้นสั้นอวบน้ำ แตกใบเป็นกอลอยไปตามน้ำ มีไหล ผิวลำต้นเรียบเป็นสีเขียวอ่อนและเข้ม จะมีขนาดสั้นหรือยาวจะขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ภายในมีลักษณะเป็นรูพรุน จึงช่วยพยุงลำต้นให้ลอยน้ำได้
ราก : รากจะแตกออกจากลำต้น บริเวณข้อ รากมักจะมีสีม่วงดำ
ใบ : เป็นใบเดี่ยว แตกจากลำต้นเป็นกอ โคนก้านใบแผ่เป็นกาบหุ้ม ใบจะป่องออก เพื่อช่วยให้ลอยตัวอยู่ในน้ำได้ ใบเป็นรูปไข่หรือเกือบกลม ก้านใบอวบน้ำตรงกลาง ภายในเป็นช่องอากาศคล้ายกับฟองน้ำ ใบมีขนาดกว้างใหญ่ รูปร่างค่อนข้างกลม ปลายใบมน โคนใบเว้าเข้าหาก้านใบ มีหูใบ ขนาดของใบและความยาวของก้านจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม แผ่นใบเป็นสีเขียวสด ใบสดจะประกอบไปด้วยสารแคโรทีนในปริมาณที่ค่อนข้างสูง
ดอก : ออกดอกเป็นช่ออยู่กลางกอ ช่อหนึ่งมีดอกขนาดเล็กประมาณ 3 – 25 ดอก ดอกย่อยเป็นสีชมพูอมฟ้าหรือสีม่วง กลีบดอก 6 กลีบ ลักษณะบาง จะเริ่มบานตั้งแต่แสงอาทิตย์เริ่มส่อง และจะบานเต็มที่เมื่อแสงแดดส่องแรง โดยดอกจะบานแค่เพียง 1 วัน มักจะออกดอกช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน ช่อดอกมีลักษณะคล้ายกับดอกไฮยาซินธ์ จึงมีชื่อสามัญว่า Water Hyacinth
ผล : ผลเป็นแบบแคปซูล แห้งและแตกได้ เป็นรูปทรงกระบอก แบ่งเป็น 3 พู เมื่อแก่จะแตกกลางพู
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมขนาดเล็ก

สรรพคุณของผักตบชวา

สรรพคุณจากผักตบชวา เป็นยาแก้พิษในร่างกาย ช่วยขับลม ตำพอกแก้แผลอักเสบ ช่วยระบายความร้อนในร่างกาย

ประโยชน์ของผักตบชวา

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อนนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริกทาน หรือนำมาทำแกงส้ม
2. ใช้ในการเกษตร นำมาเลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่ แต่ควรเลือกผักตบชวาจากแหล่งน้ำที่ปลอดสารพิษจำพวกยาฆ่าแมลงหรือโลหะหนักเท่านั้น ทำปุ๋ยหมักสำหรับการปลูกพืชผักต่าง ๆ นำมาใช้คลุมต้นไม้ที่ปลูกเอาไว้ให้เกิดความชุ่มชื้นได้ นำมาตากแห้งใช้เพาะเห็ดฟางเพื่อสร้างรายได้ ช่วยบำบัดน้ำเสียได้โดยตรง ช่วยทำให้น้ำสะอาดขึ้น ช่วยสะสมพลังงานจากดวงอาทิตย์ ทำให้อากาศบริสุทธิ์และเย็นสบาย ช่วยลดปัญหาที่เกิดจากวัชพืชใต้น้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำ
3. ใช้ทำเชื้อเพลิง นำผักตบชวาแห้งทั้งต้นมาทำเป็นแอลกอฮอล์ และ gas แต่ผลไม่ค่อยน่าพอใจมากนัก ทำเป็นเชื้อเพลิงแท่งโดยการนำมาผสมกับแกลบอัดเป็นแท่งเชื้อเพลิง
4. เป็นผลิตภัณฑ์ แปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์จักสานหรือสินค้าอื่น ๆ เช่น กล่อง กล่องใส่กระดาษทิชชู ตะกร้า กระเป๋า เก้าอี้ เปลญวน รองเท้าแตะ ถาดรองผลไม้ ถาดรองแก้วน้ำ แจกันสาน เสื่อ กระดาษ เป็นต้น

คุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่รับประทานได้ของผักตบชวา

คุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่รับประทานได้ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 30 แคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ
น้ำ 89.8%
โปรตีน 0.5 กรัม 
ไขมัน 0.1 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 7.5 กรัม 
ใยอาหาร 2.4 กรัม

ผักตบชวา ต้นมีรสจืด เป็นพืชน้ำที่กระจายได้อย่างรวดเร็ว มักจะพบในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และยังมีคุณค่าทางโภชนาการ สามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้ ผักตบชวามีสรรพคุณทางยา คือ ช่วยแก้พิษ ช่วยขับลม แก้แผลอักเสบ และช่วยระบายความร้อนในร่างกายได้ เป็นพืชที่พบเห็นบ่อยในประเทศไทย แต่ทว่าน้ำในประเทศเรานั้นมักจะมีสารพิษปนเปื้อน จึงไม่น่าเป็นผลดีมากนัก หากจะลงไปเก็บแล้วนำมารับประทาน

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักตบชวา”. หน้า 490-491.
“ผักตบชวา Water hyacinth”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : webserv.kmitl.ac.th/notyBurin/arjarnsodpdf/P_central/PDF_01central/. [31 ส.ค. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักตบชวา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [31 ส.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ผักตบชวา”. อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้น้ำบึงบอระเพ็ด, หนังสือสยามไภษัชยพฤกษ์ ภูมิปัญญาของชาติ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [31 ส.ค. 2014].
ฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน. “ชีววิทยาของผักตบชวา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : irrigation.rid.go.th/rid15/ppn/om/om.htm. [31 ส.ค. 2014].
“การจัดการผักตบชวา”. (นางศุภฤกษ์ ดวงขวัญ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ).
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/