แพงพวยน้ำ
แพงพวยน้ำ (Water primrose) เป็นผักที่พบอยู่ในน้ำได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย มีรากแก้วเป็นฝอยและมีปุ่มที่ช่วยในการพยุงตัวทำให้สามารถลอยน้ำได้ มีดอกเป็นสีขาวและใจกลางของดอกเป็นสีเหลืองอ่อนดูสวยงามมากจึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับในอ่างปลา นอกจากนั้นยังนำใบอ่อนมารับประทานในรูปแบบของผักสดจิ้มกับน้ำพริก ทั้งต้นมีรสจืดและเป็นยาเย็นจึงนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ ทว่าก่อนที่จะนำมาทำเป็นยาหรือรับประทานนั้นก็ต้องดูแหล่งน้ำของผักชนิดนี้ที่ไปเก็บมาด้วย หากน้ำมีการปนเปื้อนก็อาจจะเป็นอันตรายแทนได้ ซึ่งหนองน้ำในประเทศไทยนั้นมักจะไม่มีการบำบัดที่เหมาะสมและยังมีการเทสารพิษจากโรงงานมากมายอีกด้วย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของแพงพวยน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ludwigia adscendens (L.) H.Hara
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Sunrose willow” “Periwikle” “Creeping water primrose” “Water primrose”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ผักแพงพวย ผักพังพวย ผักแพงพวยน้ำ พังพวย ผักปอดน้ำ” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “ก้วย ชื่อเผื่อเข่า จุ่ยเล้ง นั่งจั้ว ปี่แป่ฉ่าย” จีนกลางเรียกว่า “กั้วถังเสอ สุ่ยหลง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์พญารากดำ (ONAGRACEAE)
ชื่อพ้อง : Jussiaea repens L.
ลักษณะของแพงพวยน้ำ
แพงพวยน้ำ เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยหรือไม้ล้มลุกที่อาศัยอยู่ในน้ำที่มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค มักจะพบบนดินโคลนตามข้างทาง ทุ่งนาหรือตามห้วย หนอง คลองบึง
ลำต้น : มีลำต้นทอดยาวไปตามผิวน้ำหรือบนดินเหลว ลำต้นไม่มีขนปกคลุมและเรียบเป็นสีเขียวอมสีแดงเล็กน้อย ลักษณะอวบน้ำ เป็นรูปกลม เป็นข้อปุ่ม ตามข้อของลำต้นจะมีรากแก้วเป็นฝอยและมีปุ่มที่ช่วยในการพยุงตัวทำให้สามารถลอยน้ำได้
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมนหรือกลมมน โคนใบเรียวสอบเข้าหาก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบ หน้าใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน
ดอก : เป็นดอกเดี่ยวโดยจะออกตามง่ามใบ ดอกเป็นสีขาว ใจกลางของดอกเป็นสีเหลืองอ่อน มีกลีบดอก 5 กลีบ แตกออกเป็นแฉก 5 แฉก ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ ตั้งชูออกจากข้อ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบห่อหุ้มอยู่ มีเกสรเพศผู้ 10 ก้าน เพศเมีย 1 ก้าน มีรังไข่ 5 อัน อยู่ส่วนล่างของเกสร สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปกลมยาวแบบทรงกระบอกหรือเป็นรูปหลอดยาวคล้ายเทียนนา
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดมีรูปร่างไม่แน่นอนและเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล
สรรพคุณของแพงพวยน้ำ
- สรรพคุณจากทั้งต้น ช่วยขับน้ำชื้น ช่วยแก้บิด เป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ รักษาโรคงูสวัด
– เป็นยาแก้ร้อนในและกระหายน้ำ ช่วยแก้อาการท้องผูก ออกฤทธิ์ต่อปอดและกระเพาะปัสสาวะ ด้วยการนำต้นสดมาตำคั้นเอาน้ำ 60 – 120 กรัม ผสมกับน้ำผึ้งเดือนห้าแล้วอุ่นใช้กินเป็นยา
– แก้ไข้หวัดตัวร้อน แก้ไอแห้ง ด้วยการนำทั้งต้น 30 กรัม มาต้มกับน้ำกิน
– ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการนำทั้งต้น 60 กรัม มาต้มกับน้ำกิน
– ช่วยแก้โรคหนองใน แก้ปัสสาวะเป็นหนอง ด้วยการนำต้นสด 30 กรัม น้ำตาลกรวด 15 กรัม มาต้มรวมกันใช้กินหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง
– ช่วยแก้อาการบวมน้ำ ด้วยการนำทั้งต้นมาผสมกับชะเอมเทศ จุยฮ่วยเฮีย จุยเจ่ากับและหกเหล็งอย่างละ 15 กรัม มารวมกันต้มกับน้ำกิน
– ช่วยแก้ดีซ่านอันเกิดจากพิษสุรา ด้วยการนำต้นสด 1 กำมือ มาคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำผึ้งเดือนห้ากิน
– แก้กลากน้ำนม แก้แผลหกล้ม แก้แผลเน่าเปื่อยและแผลอักเสบอื่น ๆ ช่วยแก้ฝีหนองภายนอกบริเวณผิวหนัง แก้ฝีหัวดาวหัวเดือน แก้เด็กเป็นฝีมีหัวกลัดหนองและยังไม่แตก แก้โรคผิวหนัง ด้วยการนำต้นสดมาตำพอกบริเวณแผล
– ช่วยแก้พิษงูกัด แก้แมลงสัตว์กัดต่อย แก้สุนัขบ้ากัด ด้วยการนำต้นสดล้างให้สะอาด 1 – 2 กำมือ มาตำคั้นเอาแต่น้ำกิน ส่วนกากที่เหลือนำมาพอกบริเวณแผล
– ช่วยแก้ผดผื่นคัน แก้ออกหัด แก้อาการมีไข้ตัวร้อน แก้ไข้ไม่ลด ด้วยการนำต้นสด 60 กรัม มาตำคั้นเอาแต่น้ำ นำไปนึ่งก่อนกิน - สรรพคุณจากยอด
– แก้ร้อนใน ด้วยการนำยอดมาตำให้ละเอียดใช้โปะกระหม่อมเด็กเป็นยา - สรรพคุณจากใบ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้พิษร้อน
– ดับพิษปวดแสบปวดร้อน ด้วยการนำใบมาตำแล้วพอก
แพงพวยน้ำที่ดีในการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพร
1. ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10 – 35 กรัม มาต้มกับน้ำกิน ยาแห้งที่ดีควรมีลักษณะของลำต้นยาวและอวบอ้วน มีความกว้างประมาณ 3 – 5 มิลลิเมตร สีออกน้ำตาลแดง มีรอยย่นทั้งตามยาวและตามขวาง มีเนื้อนิ่ม ตามใต้ข้อมีรากแห้งเป็นฝอยสีดำคล้ายเส้นผม กลีบมันร่วงง่ายและมักร่วงหายหมดไป ยาสดให้ใช้ครั้งละ 30 – 70 กรัม มาตำคั้นเอาแต่น้ำกินหรือใช้ตำพอกแผลภายนอก
2. ควรเก็บในช่วงกำลังออกดอกและลำต้นงอกงามแล้วนำมาล้างให้สะอาด ตากให้แห้งเก็บเอาไว้ใช้หรือจะใช้แบบสด
3. ไม่ว่าจะนำมาทานหรือใช้เป็นยาต้องมาจากแหล่งที่ไม่มีพิษและสะอาด ไม่ว่าแหล่งน้ำนั้นจะเป็นอย่างไรก่อนนำมาทานต้องล้างให้สะอาดด้วยการแช่น้ำด่างทับทิม
ประโยชน์ของแพงพวยน้ำ
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ใบอ่อนและลำต้นอ่อนนำมาลวกให้สุกแล้วนำมาทำยำ จิ้มกินกับน้ำพริกหรือใช้ประกอบอาหารอย่างแกงส้มได้
2. เป็นยารักษาของสัตว์ ชาวบ้านจะนำลำต้นผสมกับกะปิ เติมน้ำเล็กน้อยแล้วนำไปให้วัวควายกินเป็นยารักษาโรคปากเปื่อยและเท้าเปื่อย
3. ปลูกเป็นไม้น้ำประดับ ปลูกทั่วไปตามแหล่งน้ำ ปลูกประดับในอ่างเลี้ยงปลา
คุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่รับประทานได้ ต่อ 100 กรัม
คุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่รับประทานได้ ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 38 แคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหารที่ได้ |
น้ำ | 87% |
โปรตีน | 3.3 กรัม |
ไขมัน | 4.8 กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 4.8 กรัม |
ใยอาหาร | 3.3 กรัม |
เถ้า | 1 กรัม |
วิตามินเอ | 9,875 หน่วยสากล |
วิตามินบี2 | 0.01 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 2.8 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 3 มิลลิกรัม |
แคลเซียม | 57 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 300 มิลลิกรัม |
เหล็ก | 1.3 มิลลิกรัม |
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของแพงพวยน้ำ
สารที่พบจากทั้งต้นของแพงพวยน้ำ พบสารที่มีปฏิกิริยาทางเคมีจำพวก Flavonoid glycoside, Pinenols, Amino acid, Glucoline เป็นต้น
แพงพวยน้ำ เป็นพืชน้ำที่มีประโยชน์ได้หลากหลายและมีดอกสีขาวชวนให้น่ามอง สามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักและเป็นยาสมุนไพรได้ ที่สำคัญนอกจากจะเป็นยาแล้วยังเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วยโดยเฉพาะวิตามินเอ แพงพวยน้ำมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้ร้อนใน แก้โรคหนองในและอาการภายนอกทั่วไป เป็นพืชที่มีประโยชน์มากกว่าที่เห็นจากภายนอก
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “แพงพวยน้ํา”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 402.
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักแพงพวย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [08 พ.ค. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “แพงพวยน้ํา” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [08 พ.ค. 2014].
พรรณไม้น้ำ, มหาวิทยาลัยนเรศวร. “แพงพวยน้ำ ผักแพง” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/suphansa/home.htm. [08 พ.ค. 2014].
หนังสือรายชื่อวัชพืชที่มีรายงานในประเทศไทย. “แพงพวย”. (ธวัชชัยรัตน์ชเลศ และเจมส์ เอฟ แมกซ์เวล).
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “แพงพวยน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [08 พ.ค. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 6 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้. “พังพวย”. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). อ้างอิงใน: หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรจีน ของประเทศจีน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [08 พ.ค. 2014].
หนังสือ ผัก-ผลไม้ ต้านโรค. “แพงพวย”.
เทศบาลเมืองทุ่งสง. “แพงพวย (น้ำ)” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tungsong.com. [08 พ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/