ไม้เท้ายายม่อม พรรณไม้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมอญ ช่วยแก้พิษไข้ได้ทุกชนิด
ไม้เท้ายายม่อม เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก รากแก้วอันเดียวลึกและพุ่งตรง ดอกเล็กสีขาว ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีน้ำเงินแกมสีดำ

ไม้เท้ายายม่อม

ไม้เท้ายายม่อม (One Root Plant) ชนิดนี้เป็นพืชคนละชนิดกันกับเท้ายายม่อม เป็นพืชในวงศ์กะเพราที่สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังในประเทศไทย เป็นพรรณไม้ที่ปลูกง่ายและโตเร็ว สามารถเจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด คนไทยสมัยใหม่อาจจะไม่ค่อยรู้จักแต่เป็นต้นที่ชนชาติสายมอญถือกันว่าเป็นพรรณไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่มีประโยชน์ นอกจากนั้นยังเป็นส่วนประกอบในยาสมุนไพรของตำรายาพื้นบ้านล้านนาและตำรายาไทยอีกด้วย ไม้เท้ายายม่อมเป็นต้นที่มีลักษณะพิเศษอีกอย่างตรงที่หัวในดินนั้นสามารถนำมาใช้ทำเป็นแป้งได้ซึ่งเรียกว่า “แป้งท้าวยายม่อม”

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของไม้เท้ายายม่อม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum indicum (L.) Kuntze หรือ Clerodendrum petasites (Lour.) S.Moore
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “One Root Plant”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ดอกไม้มอญ จรดพระธรณี พญาลิงจ้อน ปู่เจ้าปทุมราชา ไม้ท้าวยายม่อม เท้ายายม่อม” ภาคเหนือเรียกว่า “ปิ้งขม ปิ้งหลวง ไม้เท้าฤาษี” ภาคใต้เรียกว่า “พญารากเดียว ไม้เท้าฤาษี” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “พญาเลงจ้อน พญาเล็งจ้อน เล็งจ้อนใต้” จังหวัดเลยเรียกว่า “พินพี” จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “ท้าวยายม่อมป่า” จังหวัดอุดรธานีเรียกว่า “พมพี” จังหวัดราชบุรีเรียกว่า “โพพิ่ง” จังหวัดสระบุรีเรียกว่า “ว่านพญาหอกหล่อ” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า “หญ้าลิ้นจ้อน” จังหวัดยะลาเรียกว่า “กาซะลอง จรดพระธรณี ดอกคาน” ชาวกะเหรี่ยงกำแพงเพชรเรียกว่า “พวกวอ” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ท่าละม่อม ท้าวยายม่อม เท้ายายม่อมตัวเมีย ปู่เจ้าหายใจไม่รู้ขาด”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)

ลักษณะของไม้เท้ายายม่อม

ไม้เท้ายายม่อม เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดย่อมที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย มักจะพบทั่วไปตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังในประเทศไทย
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ไม่มีกิ่งก้านสาขาหรือแตกกิ่งน้อยบริเวณยอด ลักษณะโปร่ง บริเวณปลายกิ่งเป็นสันสี่เหลี่ยม
ราก : เป็นไม้ลงรากแก้วอันเดียวลึกและพุ่งตรง รากมีลักษณะกลม ดำและโต
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันหรือออกรอบข้อ ข้อละประมาณ 3 – 5 ใบ สลับกันจากตามข้อของลำต้นไปจนถึงส่วนยอด มีการแตกกิ่งใหม่ตามยอดสูงของลำต้น ใบมีขนาดเรียวเล็ก ลักษณะเป็นรูปวงรีแกมขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมใบหอกกลับ ปลายใบและโคนใบแหลม แผ่นใบเป็นสีเขียว เส้นกลางใบงอโค้งเข้าหาลำต้น เกือบเป็นรูปครึ่งวงกลม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตั้งตรงโดยจะออกที่ปลายกิ่งเป็นพุ่มกระจายคล้ายฉัตรช่อสั้นตั้งชูขึ้น ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีขาว กลีบดอกเป็นสีขาว ที่โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ลักษณะโค้งมน กลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วยสีเขียว 5 แฉก เมื่อแก่จะเป็นสีแดง ดอกมีเกสรเพศผู้สีม่วงแดง 4 อัน ยื่นงอนพ้นออกมาจากกลีบดอก มักจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤศจิกายน
ผล : เป็นผลสดลักษณะกลมแป้นหรือมี 4 – 5 พูติดกัน ผิวผลเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินแกมสีดำ สีดำแดงหรือสีดำ ผลมีกลีบเลี้ยงสีแดงติดอยู่

สรรพคุณของไม้เท้ายายม่อม

  • สรรพคุณจากหัวในดิน
    – บรรเทาอาการโรคเบื่ออาหารและอาการอ่อนเพลีย โดยตำรายาไทยนำหัวใต้ดินซึ่งเป็นแป้งมาละลายกับน้ำและน้ำตาลกรวดแล้วตั้งไฟเพื่อกวนให้สุก
  • สรรพคุณจากราก แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยแก้อาเจียน เป็นยาแก้หืดและหืดไอ
    – แก้พิษไข้ พิษกาฬ กระทุ้งพิษไข้หวัด ไข้เหนือ ไข้พิษ ไข้เพื่อดีพิการ ถอนพิษไข้ทุกชนิด ช่วยลดความร้อนในร่างกาย ด้วยการนำรากสดมาต้มกับน้ำกินเป็นยาหรือใช้ปรุงเป็นยาด้วยการใช้รากสด 1 ราก มาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำฝนหรือเหล้าขาว จากนั้นคั้นเอาน้ำกินเป็นยา
    – เป็นยาขับยาเสมหะให้ลงเบื้องต่ำ แก้พิษได้ทุกชนิด ด้วยการนำรากสดมาต้มกับน้ำกินเป็นยา
    – แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษงู ช่วยดับพิษฝี แก้อาการแพ้ แก้อาการอักเสบและปวดบวม ด้วยการนำรากสดมาตำเอากากพอกบริเวณปากแผลเป็นยาทา
    – ถอนพิษไข้กาฬหรืออาการไข้ที่มีตุ่มบนผิวหนังและตุ่มอาจมีสีดำ โดยตำรับยาพื้นบ้านล้านนานำรากผสมกับเหง้าว่านกีบแรด ใบพิมเสนต้น เนระพูสีทั้งต้น ใช้น้ำซาวข้าวและน้ำเกสรบุนนาคเป็นน้ำกระสายยา ทำการปั้นเป็นลูกกลอนแล้วใช้กินเป็นยา
    – แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้ต่าง ๆ แก้ไข้เพื่อดีและโลหิตและช่วยถอนพิษผิดสำแดง ด้วยการนำรากมาผสมกับรากคนทา รากชิงชี่ รากย่านางและรากมะเดื่อชุมพร
  • สรรพคุณจากต้น เป็นยาขับพิษไข้ทุกชนิด แก้ร้อนใน เป็นยาขับยาเสมหะให้ลงเบื้องต่ำ
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาแก้หืดและหืดไอ

ประโยชน์ของไม้เท้ายายม่อม

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและดอกอ่อนนำมาลวกเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกได้
2. เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ชนชาติสายมอญถือกันว่าเป็นพรรณไม้ศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่ง
3. เป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพร เป็นส่วนประกอบของยา “พิกัดยาเบญจโลกวิเชียร” ในตำรายาไทย

ไม้เท้ายายม่อม เป็นต้นที่มีหัวใต้ดินใช้ทำเป็นแป้งได้ และยังนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในตำรายาพื้นบ้านสมุนไพรทั้งหลาย ที่สำคัญยังเป็นไม้มงคลของชาวสายมอญอีกด้วย เป็นต้นที่มีดอกสีขาวและผลสีสดใสทำให้ดูโดดเด่น เป็นไม้พุ่มที่มีถิ่นกำเนิดมาจากอินเดีย ไม้เท้ายายม่อมมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้พิษไข้ทุกชนิด แก้ร้อนใน ขับเสมหะ แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย บรรเทาอาการโรคเบื่ออาหารและอาการอ่อนเพลียได้ ถือเป็นต้นที่ช่วยแก้พิษจากไข้ทั้งหลายได้ดีมาก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ท้าวยายม่อม (เท้ายายม่อม)”. หน้า 379-380.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เท้ายายม่อม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [09 ธ.ค. 2014].
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ท้าวยายม่อม (ต้น)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [09 ธ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/