ว่านพระฉิม หัวใต้ดินเป็นยา สรรพคุณต้านเบาหวาน ต้านมะเร็ง
ว่านพระฉิม ไม้เถาเลื้อยที่มีหัวอยู่ใต้ดิน ใบรูปหัวใจ หัวมีทั้งแบบหัวอากาศและหัวใต้ดิน รับประทานได้

ว่านพระฉิม

ว่านพระฉิม (Aerial yam) เป็นไม้เถาเลื้อยที่มีหัวอยู่ใต้ดิน มีใบเป็นรูปหัวใจสวยงามและมีหัวที่เป็นส่วนสำคัญในการนำมาปรุงเป็นยาสมุนไพร ซึ่งส่วนของหัวนั้นจะมีทั้งแบบหัวอากาศและหัวใต้ดิน สามารถนำใบอ่อนมารับประทานในรูปแบบของผักสดได้ เป็นต้นยอดนิยมของชาวเมี่ยนที่นำมาใช้รับประทานหรือเป็นยาใส่แผลให้กับสุนัข ว่านพระฉิมถือว่าเป็นต้นที่คนไทยในสมัยใหม่ไม่ค่อยนำมาใช้กันนัก แถมบางคนอาจจะยังไม่รู้จักว่ามีว่านชนิดนี้อยู่ในป่า

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของว่านพระฉิม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dioscorea bulbifera L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Air potato” “Aerial yam” “Bulbilbearing yam” “Potato yam”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “มันขมิ้น ว่านสามพันตึง” ภาคเหนือเรียกว่า “มะมู หำเป้า” จังหวัดสุโขทัยเรียกว่า “มันอีโม้” จังหวัดจันทบุรีเรียกว่า “มันอีลุ้ม” จังหวัดปราจีนบุรีเรียกว่า “อีรุมปุมเป้า” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “มันกะทาด” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า “มันหลวง” จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกว่า “มันเสิน มันตกเลือด” ชาวลัวะเรียกว่า “ไคว้เคียว โค่ยเมี่ยน มันงูเห่า สะมีโค่ยม่า” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “ด่อยจู๊” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “เล่าะแจ๊มือ ละสามี มะมู เดะควา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กลอย (DIOSCOREACEAE)
ชื่อพ้อง : Dioscorea anthropophagorum A.Chev., Dioscorea crispata Roxb., Dioscorea heterophylla Roxb., Dioscorea hoffa Cordem., Dioscorea pulchella Roxb., Dioscorea sativa f. domestica Makino, Dioscorea sylvestris De Wild., Helmia bulbifera (L.) Kunth, Polynome bulbifera (L.) Salisb.

ลักษณะของว่านพระฉิม

ว่านพระฉิม เป็นไม้เถาล้มลุกเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น
เถา : เถาเลื้อยแบบหมุนเวียนซ้าย ลำต้นมีลักษณะเกลี้ยงเป็นเหลี่ยมคล้ายปีกหรือคล้ายหนามปราศจากขน มีหัวอยู่ใต้ดินขนาดใหญ่ มีลักษณะโป่งนูนเป็นลูก ๆ โดยเชื่อมติดกันที่โคนต้น
หัวอากาศ : หัวย่อยหรือหัวอากาศที่เกิดตามซอกใบนั้นบางครั้งเกิดขึ้นแทนดอกเพศผู้ตามง่ามช่อดอก หัวมีขนาดเล็กและมักเป็นปมตะปุ่มตะป่ำ หัวโตมักจะมีสีผิวเป็นมัน ลักษณะของหัวเป็นรูปทรงกลมหรือมีรูปคล้ายไต แบนเล็กน้อย เป็นสีน้ำตาลถึงสีเทา อาจมีน้ำหนักถึงครึ่งกิโลกรัมหรือ 2 กิโลกรัม เนื้อในหัวเป็นสีเหลืองซีด มีจุดสีม่วงกระจายอยู่ จะเปลี่ยนเป็นสีส้มเมื่อถูกอากาศและมีลักษณะเป็นเมือก
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลมบ้างเป็นจะงอย โคนใบเว้ามนหรือเว้าลึก ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบบาง หลังใบเป็นสีเขียวมัน แต่หยิกย่นน้อยเล็กน้อยระหว่างเส้นใบ ส่วนท้องใบเป็นสีอ่อนกว่า เส้นใบหลักออกมาจากจุดเดียวกันจากฐานใบ มีเส้นใบข้างประมาณ 5 – 8 คู่ เส้นย่อยเรียงตัวกันตามขวางแบบขั้นบันได ก้านใบเป็นเหลี่ยมคล้ายปีก
ดอก : ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่กันคนละต้น โดยจะออกดอกเป็นช่อยาวตามซอกใบ ดอกมีขนาดเล็ก ดอกเพศผู้จะเป็นช่อเชิงลดห้อยลง ออกเป็นกลุ่มบนแกน บางครั้งอาจพบเป็นช่อแยกแขนง เกสรเพศผู้มี 6 อัน เป็นหมันทั้งหมดหรือเป็นครึ่งหนึ่ง ดอกมีกลิ่นหอมเป็นสีขาวออกเขียวอ่อน กลีบดอกมี 6 กลีบ เรียงเป็นชั้น 2 ชั้น ส่วนดอกเพศเมียจะออกเป็นช่อเชิงลด มีลักษณะคล้ายกับดอกเพศผู้แต่ดอกเพศเมียจะมีดอกน้อยกว่าและเมื่อดอกบานออกจะมีขนาดกว้างกว่า มักจะออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน
ผล : เป็นแบบแคปซูลหรือเป็นฝักทรงวงรี ลักษณะเป็นรูปขอบขนานโค้งพับลง มีปีกสีน้ำตาลเป็นมัน ส่วนเมล็ดมีขอบคล้ายปีกที่ฐาน

สรรพคุณของว่านพระฉิม

  • สรรพคุณจากว่านพระฉิม ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านเบาหวาน ต้านการก่อกลายพันธุ์ ต้านมะเร็ง ทำให้หลอดเลือดหดตัว ขับปัสสาวะ ทำให้ทานอาหารได้น้อยลง ต้านฮอร์โมน LH เป็นพิษต่อตับ
  • สรรพคุณจากหัวใต้ดิน ช่วยขับพยาธิ ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย ช่วยขับน้ำนมของสตรี
    – บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร แก้บิด แก้อาการปวดท้อง แก้ท้องย้อย แก้ลำไส้อักเสบ ขับปัสสาวะ แก้ริดสีดวงทวาร ด้วยการนำหัวใต้ดินมาทำให้สุกทานเป็นยา
    – ปิดแผลและแก้อักเสบ ด้วยการนำหัวใต้ดินมาหั่นเป็นแผ่นบางใช้ปิดแผล
  • สรรพคุณจากหัวหรือเหง้า
    – ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านเบาหวาน ด้วยการนำเหง้าแห้งขนาด 10 – 20 กรัม มาบดให้ละเอียดชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น
    – รักษาโรคกระเพาะ ด้วยการนำหัวมาฝานตากแห้งแล้วปรุงเป็นอาหารแป้ง ทำการกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากราก
    – รักษาสิว ฝ้าและไฝ ด้วยการนำรากมาตำใช้เป็นยาพอก

ประโยชน์ของว่านพระฉิม
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนและยอดอ่อนนำมาทานเป็นผักสด ผักลวกหรือนึ่งกินกับน้ำพริกได้ หัวย่อยนำมาเผาไฟหรือนึ่งกินเนื้อเป็นอาหารว่างได้ ชาวเมี่ยนนำหัวใต้ดินมาขูดเป็นเส้นแล้วนึ่งรับประทานแทนข้าวได้
2. เป็นยารักษาแผลให้สุนัข ชาวเมี่ยนนำหัวว่านพระฉิมมาทุบใส่แผลให้สุนัข
3. เป็นความเชื่อ หัวนำมากินหรือใช้ติดตัวเชื่อว่าจะคงกระพันชาตรี

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของว่านพระฉิม

สารสำคัญที่พบในว่านพระฉิม พบสาร acetophenone, batatasin, diosbulbin, diosbulbinoside D, dioscorine, diosgenin, phenanthrene, sorbitol, trillin การทดลอง เมื่อปี ค.ศ. 1992 ณ ประเทศจีน ได้ทดลองใช้สารสกัดจากเหง้าของว่านพระฉิมในหนูทดลอง โดยผลการทดลองพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

ข้อควรระวังของว่านพระฉิม

ก่อนที่จะนำหัวใต้ดินมารับประทานต้องนำมาแช่น้ำหรือทำให้สุกเพื่อกำจัดสารพิษก่อนจึงจะสามารถนำมารับประทานหรือใช้ประกอบอาหารได้

ว่านพระฉิม เป็นต้นที่มีส่วนหัวใต้ดินเป็นยาขมหรือยาเย็น จึงสามารถนำมาปรุงเป็นยาสมุนไพรได้ นอกจากนั้นยังนิยมนำมาทานทั้งใบอ่อนและหัว เป็นต้นที่มีใบรูปหัวใจเลื้อยพันตามต้นไม้ทั่วไปทำให้มองเห็นได้ง่าย ว่านพระฉิมมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของหัวใต้ดิน มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านเบาหวาน ต้านมะเร็ง รักษาโรคกระเพาะและแก้น้ำเหลืองเสียได้ ถือเป็นต้นที่ช่วยป้องกันโรคยอดนิยมที่คนทั่วไปมักจะเป็นกันได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ว่านพระฉิม”. หน้า 140.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ว่านพระฉิม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [17 ส.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ว่านพระฉิม”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์)., หนังสือองค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย เล่ม 1. (สุธรรม อารีกุล, จำรัส อินทร, สุวรรณ ทาเขียว, อ่องเต็ง นันทแก้ว). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [17 ส.ค. 2014].
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดแพร่, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ว่านพระฉิม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phrae.mju.ac.th/cms/rspg/. [17 ส.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/