กฤษณา
กฤษณา สามารถพบได้ในป่าแถบเขตร้อนชื้น เช่นป่าดงดิบแล้งและชื้น หรือในบริเวณพื้นที่ราบใกล้กับแม่น้ำลำธาร ชื่อสามัญ Eagle wood, Agarwood, Aglia, Aloewood, Akyaw, Calambac, Calambour, Lignum aloes ชื่อวิทยาศาสตร์ Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Aquilaria crasna Pierre จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์กฤษณา (THYMELAEACEAE) ชื่ออื่น ๆ ไม้พวงมะพร้าว (ภาคใต้ของไทย), ไม้หอม (ภาคตะวันออกของไทย), สีเสียดน้ำ (จังหวัดบุรีรัมย์), ตะเกราน้ำ (จังหวัดจันทบุรี), กายูการู กายูกาฮู กายูดึงปู (จังหวัดปัตตานีและมาเลเซีย), ติ่มเฮียง (ภาษาจีน), เซงเคง (ภาษากะเหรี่ยง), ชควอเซ ชควอสะ (ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน), อครุ ตคร (ภาษาบาลี), จะแน, พวมพร้าว, ปอห้า (ภาษาถิ่นคนเมือง) [1],[2],[3],[4],[5] เป็นต้น
ข้อควรรู้
ไม้นี้จะมีอยู่ด้วยกันประมาณ 15 ชนิด กระจายพันธุ์อยู่ทั่วพื้นป่าในแถบเอเชียเขตร้อน โดยในประเทศไทยจะพบอยู่หลัก ๆ 3 ชนิด[2] ดังนี้
1. Aquilaria crassna Pierre. พบได้ในป่าทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[2]
2. Aquilaria subintegra Ding Hau พบได้ในเฉพาะทางภาคตะวันออก[2]
3. Aquilaria malaccensis Lamk. พบได้ในเฉพาะทางภาคใต้[2]
ส่วนชนิดอื่น ๆ ที่อาจจะพบเจอได้ คือ Aquilaria rugosa, Aquilaria baillonil, และ Aquilaria hirta
ลักษณะกฤษณา
- ต้น
– ลำต้นเป็นทรงเปลาตรง พื้นผิวเปลือกต้นเรียบเป็นสีเทาอมขาว มีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนอยู่ทั่วลำต้น และเปลือกด้านในมีสีขาวอมเหลือง เมื่อต้นมีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ เปลือกภายนอกจะค่อย ๆ แตกเป็นร่องยาวทั่วลำต้น และมีพูพอนที่โคนต้น ต้นจะแตกกิ่งก้านออกเป็นทรงพุ่มเจดีย์ต่ำ ๆ ตามกิ่งก้านจะมีขนสีขาวเล็ก ๆ ขึ้นปกคลุมอยู่
– เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่
– ความสูงของต้น ประมาณ 18-30 เมตร
– การขยายพันธุ์ใช้วิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ การตอนกิ่ง และการขุดต้นกล้าอ่อนมาปลูก[1],[2] - ใบ
– ใบเป็นรูปรี ใบมีสีเขียว ตรงปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบมน มีผิวใบและขอบใบเรียบ แต่จะมีขนขึ้นปกคลุมอยู่ที่เส้นใบด้านล่างเล็กน้อย
– มีความกว้างของใบอยู่ 3-5 เซนติเมตร มีความยาวอยู่ 6-11 เซนติเมตร และมีก้านใบยาวอยู่ที่ประมาณ 0.2-0.7 เซนติเมตร[1]
– เป็นไม้ไม่ผลัดใบ - ดอก
– ออกดอกเป็นช่อที่บริเวณซอกใบ ดอกมี 5 กลีบมีสีเขียวอมเหลือง มีเกสรเพศผู้อยู่ 10 ก้าน และดอกมีกลีบเลี้ยงที่โคนติดกันเป็นรูปหลอด[1] - ผล
– ผลมีรูปร่างเป็นรูปทรงกลมรี ผลมีสีเขียว และมีขนละเอียดสั้น ๆ ขึ้นปกคลุม ผลมีเส้นเล็ก ๆ ขึ้นที่บริเวณตามยาวของผล พื้นผิวของผลค่อนข้างขรุขระ และเมื่อผลแก่ ผลจะแตกและเปิดอ้าออก - เมล็ด
– เมล็ดมีขนาดเล็กเป็นทรงกลมรีมีสีน้ำตาลเข้ม ตรงหางเมล็ดมีสีส้มออกแดง ทั่วพื้นผิวเมล็ดจะปกคลุมไปด้วยขนสั้น ๆ สีแดงแกมน้ำตาล โดยภายในผลนั้นจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-2 เมล็ด[1],[2]
เอกลักษณ์เนื้อไม้กฤษณา
1. เนื้อไม้ปกติ โดยเนื้อไม้ปกติจะมีสีขาวนวลและจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เหมาะกับการทำเป็นฟืน และก่อสร้าง
2. เนื้อไม้หอมที่มีน้ำมัน เนื้อไม้จะมีสีดำ ซึ่งคุณภาพของเนื้อไม้ชนิดนี้จะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำมันภายในเนื้อไม้ เหมาะสำหรับทำเป็นไม้หอม สมุนไพร และทำฟื้น
คุณภาพของไม้กฤษณา
1. เกรดที่ 1 มักเรียกกันว่า ไม้ลูกแก่น ส่วนต่างประเทศจะเรียกว่า True agaru เกรดนี้จะมีน้ำมันสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก และมีราคาที่แพงที่สุด[2],[3]
2. เกรดที่ 2 ในต่างประเทศจะเรียกว่า Dhum โดยจะมีน้ำมันและกลิ่นหอมรองลงมาจากเกรดที่ 1 ราคาจะถูกกว่าเกรดที่ 1[2],[3]
3. เกรดที่ 3 จะมีน้ำมันและกลิ่นหอมรองลงมาจากเกรดที่ 1 และ 2 มีน้ำหนักที่เบากว่าน้ำ ราคาจะถูกกว่าเกรดที่ 1 และ 2[2]
4. เกรดที่ 4 มักเรียกกันว่า ไม้ปาก โดยไม้เกรดนี้จะมีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมอยู่น้อยที่สุดในบรรดาไม้ทั้ง 4 เกรด อีกทั้งยังมีราคาที่ถูกที่สุดอีกด้วย
สรรพคุณของกฤษณา
- น้ำจากต้นสามารถรักษาอาการกลากเกลื้อนได้ (ต้น)[1]
- ต้นมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวดเมื่อยตรงบริเวณเอวและหัวเข่า (ต้น)[8]
- ต้นนำมาทำเป็นยาทา มีสรรพคุณในการรักษาฝีและผิวหนังเป็นผื่นคัน (ต้น)[11]
- เนื้อไม้มีสรรพคุณทางยาที่หลากหลาย อันได้แก่ นำมาปรุงเป็นยาอายุวัฒนะ ยาบำรุงธาตุหรือบำรุงกำลัง ยารักษาไข้ ยารักษาโรคลมซาง ยาบำรุงหัวใจ ยาบำรุงสมอง ยาบำรุงปอด บำรุงตับ และบรรเทาอาการปวดตามข้อ เป็นต้น (เนื้อไม้)[1],[2],[3],[5]
- น้ำจากเนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการร้อนใน แก้เสมหะ และแก้อาการกระหายน้ำได้ (เนื้อไม้)[3]
- เนื้อไม้นำมาปรุงเป็นยาหอมมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการหน้ามืดและวิงเวียนศีรษะ (เนื้อไม้)[1],[2],[3]
- น้ำจากใบมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคภูมิแพ้ (ใบ)[5]
- น้ำจากใบมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคเบาหวาน (ใบ)[5]
- ใบมีสรรพคุณในการรักษาโรคผิวหนังอันเนื่องมาจากการทำนา และโรคน้ำกัดเท้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ใบ)[2],[3],[12]
- รักษาโรคผิวหนังเป็นกลากเกลื้อนเนื่องจากเชื้อรา (ใบ)[5]
- สารสกัดน้ำจากแก่นของต้น มีฤทธิ์ในการเข้าไปต่อต้านอาการแพ้อย่างเฉียบพลันตรงบริเวณผิวหนังของหนูทดลองได้ จากการวิจัยระบุว่าสารสกัดดังกล่าวจะเข้าไปยับยั้งการหลั่งของ Histamine จาก Mast cell (แก่นไม้)[3]
- แก่นไม้นำมาทำเป็นยาหอม มีสรรพคุณเมื่อสูดดมจะทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า (แก่นไม้)[2]
- สารสกัดจากแก่นของต้น มีฤทธิ์ที่สามารถลดความดันโลหิตได้ (แก่นไม้)[3]
- น้ำมันที่สกัด มีสรรพคุณต่าง ๆ ได้แก่ เป็นยารักษาโรคตับ เป็นยารักษาโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารหรือกระเพาะอาหาร เช่น โรคท้องอืด โรคมะเร็งลำไส้ หรือโรคกระเพาะ เป็นต้น (น้ำมัน)[5]
- น้ำมันที่สกัดมาจากเมล็ด มีสรรพคุณในการรักษาโรคผิวหนังได้ (น้ำมันจากเมล็ด)[1]
ประโยชน์ของต้นกฤษณา
- เป็นส่วนผสมของเครื่องหอมทุกชนิด เช่น ยาหอม น้ำมันหอมระเหย น้ำอบไทย และธูปหอม เป็นต้น[1],[2],[5]
- ชาวอาหรับนิยมใช้ไม้ลูกแก่นของต้นมาเผาไฟใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นไม้มงคลที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในพิธีกรรมทางศาสนาอิสลามในสุเหร่า และใช้ต้อนรับอาคันตุกะพิเศษ[2]
- ชาวฮินดูและชาวอาหรับมักนิยมนำไม้ของต้นมาเผาไฟเพื่อให้มีกลิ่นหอมภายในห้อง[6]
- น้ำมันหอมระเหยที่สกัดมา เป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำหอมและเครื่องสำอาง[1],[2]
- กลิ่นของน้ำหอม มีคุณสมบัติในการไล่แมลงและระงับความเครียดได้[2],[5]
- เส้นใยของเปลือกต้น สามารถนำมาใช้ทำเป็นเสื้อผ้า ย่าม ใช้สานหมวก ถุง ที่นอน เชือก และกระดาษได้[1],[2],[4]
- ใบ นำมาใช้ทำธูปสีเขียว[5]
- ประเทศญี่ปุ่นมีการนำใบมาตากแห้งทำเป็นใบชา[5]
- นำผงที่สกัดมาโรยลงบนเสื้อผ้า โดยจะมีคุณสมบัติในการฆ่าหมัดและเหาได้ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติช่วยป้องกันตัวเรือดและตัวไรได้อีกด้วย[1],[3],[5]
- เนื้อไม้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น นำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ นำมาก่อสร้าง นำมาทำเป็นอุปกรณ์สำหรับใส่ข้าวของชาวกะเหรี่ยง ทำลูกประคำ และนำมาใช้ทำเป็นเยื่อกระดาษ[5]
ตำรับยาต่าง ๆ
- จัดได้ว่าเป็นพืชสมุนไพรอันเลอค่า โดยมีบันทึกอยู่ในพระคัมภีร์ทางยาอยู่มากมาย ได้แก่ พระคัมภีร์มหาโชตรัต เล่ม 3, ตำรายาพระโอสถของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, ตำรายาทรงทาพระนลาต, พระคัมภีร์ปฐมจินดา, พระคัมภีร์แลมหาพิกัต, พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์, พระคัมภีร์ชวดาร, พระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา และพระคัมภีร์โรคนิทาน[5]
- ในตำรายาจีนได้มีการนำไม้มาปรุงเป็นยาบรรเทาอาการต่าง ๆ อันได้แก่ ยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ ยาแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ยาบรรเทาอาการปวดแน่นหน้าอก และยาบรรเทาอาการหอบหืด (ตำรายาจีน)[2],[3]
เอกสารอ้างอิง
1. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กฤษณา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [22 พ.ย. 2013].
2. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “กฤษณา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [22 พ.ย. 2013].
3. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กฤษณา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [22 พ.ย. 2013].
4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง. “กฤษณา Aquilaria rugosa K. Le-Cong“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [22 พ.ย. 2013].
5. ชมรมไม้กฤษณา (ไม้หอม) แห่งประเทศไทย. “การนำส่วนต่าง ๆ ของกฤษณามาใช้ประโยชน์“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikrisana.com. [22 พ.ย. 2013].
6. เดอะแดนดอตคอม. “กฤษณา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com. [22 พ.ย. 2013].
7. https://medthai.com/
อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.ydhvn.com/
2. https://palms.org.au/