เทียนสัตตบุษย์ ต้นมีกลิ่นหอม ผลและเมล็ดเป็นยา ดีต่อลมในร่างกาย

0
1855
เทียนสัตตบุษย์ ต้นมีกลิ่นหอม ผลและเมล็ดเป็นยา ดีต่อลมในร่างกาย
เทียนสัตตบุษย์ เป็นไม้ล้มลุก ดอกสีเหลืองหรือสีขาว รากมีกลิ่นหอม ผลและเมล็ดมีรสเผ็ดหวานเล็กน้อย เมล็ดเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล
เทียนสัตตบุษย์ ต้นมีกลิ่นหอม ผลและเมล็ดเป็นยา ดีต่อลมในร่างกาย
เทียนสัตตบุษย์ เป็นไม้ล้มลุก ดอกสีเหลืองหรือสีขาว รากมีกลิ่นหอม ผลและเมล็ดมีรสเผ็ดหวานเล็กน้อย เมล็ดเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล

เทียนสัตตบุษย์

เทียนสัตตบุษย์ (Aniseed) เป็นไม้ล้มลุกที่มีสีเหลืองหรือสีขาว ส่วนของใบและรากมีกลิ่นหอมจึงนำมาใช้เป็นเครื่องเทศและนำมาใช้เป็นส่วนผสมที่ให้ความหอมได้ มักจะนำใบสดมารับประทานในรูปแบบของผัก ผลและเมล็ดมีรสเผ็ดหวานเล็กน้อยและเป็นยาร้อนอ่อน ๆ และส่วนที่สำคัญเลยก็คือเป็นยาสมุนไพรโดยเทียนสัตตบุษย์เป็นส่วนผสมในตำรับยามากถึง 4 ตำรับด้วยกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเทียนสัตตบุษย์

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pimpinella anisum L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Anise” และ “Aniseed”
ชื่อท้องถิ่น : จีนกลางเรียกว่า “เสียวหุยเซียง โอวโจวต้าหุยเซียง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)

ลักษณะของเทียนสัตตบุษย์

เทียนสัตตบุษย์ เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุประมาณ 1 ปี ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ลำต้น : กิ่งและก้านเป็นสีเขียว เป็นรูปทรงกลมผิวมีร่องหรือเหลี่ยม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวแทงขึ้นมาจากรากใต้ดิน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่เหมือนพัด ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ส่วนที่แตกจากกิ่งช่วงยอดต้นเป็นรูปแฉกยาว มีใบประกอบ 3 ใบ เป็นแบบขนนก ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อคล้ายก้านซี่ร่มหลายชั้น ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีเหลืองหรือสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวและมีขนาดเล็ก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ตัว ติดอยู่บนฐานรอบดอก มีรังไข่ 5 ห้อง
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปยาววงรีกลมและคดงอเล็กน้อย เปลือกผลเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล

สรรพคุณของเทียนสัตตบุษย์

  • สรรพคุณจากผลและเมล็ด ออกฤทธิ์ต่อปอด ธาตุและไต เป็นยาแก้หอบหืด แก้หลอดลมอักเสบ ช่วยขับเสมหะ แก้อาการไอ ช่วยแก้อาการสะอึก แก้ลมขึ้น ขับลม แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาการปวดท้อง ช่วยขับประจำเดือนของสตรี ช่วยขับน้ำนมของสตรีหลังการคลอดบุตร
  • สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยาแก้ไข้หอบ ช่วยแก้อาการแพ้ท้อง เป็นยาบำรุงโลหิต แก้อาเจียน ช่วยขับลม เป็นตำรับยาหอม แก้ลมวิงเวียน แก้หน้ามืด แก้ตาลาย แก้ใจสั่น แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง เป็นยาบรรเทาอาการท้องอืด
  • สรรพคุณจากน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค
    – แก้ไอ ด้วยการนำมาใช้ร่วมกับชะเอมจีนในการเป็นส่วนผสมในยาอมแก้ไอ
  • สรรพคุณจากผล ช่วยขับเหงื่อ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา

ประโยชน์ของเทียนสัตตบุษย์

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบสดทานเป็นผักดิบหรือใช้ตกแต่งอาหารให้ดูสวยงาม ประเทศอินเดียใช้ใบและรากซึ่งมีกลิ่นหอมมาเป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหาร ผลหรือเมล็ดมีกลิ่นหอมและมีรสหวานจึงนำมาใช้แต่งกลิ่นอาหาร ขนมหวาน เครื่องดื่ม เหล้า เครื่องแกงแบบอินเดีย เมล็ดช่วยเพิ่มรสให้กับพวกซุปและซอส ขนมปัง เค้กและบิสกิตได้
2. เป็นสารให้ความหอม ยุโรปและอินเดียนิยมใช้น้ำมันจากผลเทียนสัตตบุษย์เป็นส่วนผสมในยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก ใช้ผสมเครื่องหอม สบู่และของหอมอื่น ๆ ใช้แต่งกลิ่นน้ำยาบ้วนปาก แต่งกลิ่นอาหาร ลูกกวาด เครื่องดื่ม เหล้า ใช้แต่งกลิ่นบุหงาและกลบกลิ่นไม่ดีของยา แต่ต้องมีการใช้ในปริมาณที่กำหนด
3. เป็นยาฆ่าแมลง น้ำมันจากเมล็ดอาจเป็นยาฆ่าแมลง หมัดและเหาได้
4. เป็นส่วนประกอบของยา อยู่ในตำรับยาพิกัดเทียน ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ ยาธาตุบรรจบ

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเทียนสัตตบุษย์

สารที่พบในผลเทียนสัตตบุษย์ พบน้ำมันหอมระเหย Anise oil ซึ่งมีสาร Anethole เป็นองค์ประกอบหลักและยังพบสารคล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิงอีกด้วย

การทดลองของเทียนสัตตบุษย์

  • ฤทธิ์ขยายหลอดลมของเทียนสัตตบุษย์ โดยใช้หลอดลมของหนูที่ถูกทำให้ตีบตัวด้วย methacholine เมื่อให้สารสกัดน้ำ สารสกัดเอทานอล น้ำมันหอมระเหยและ theophylline (1mM) จะแสดงฤทธิ์ขยายหลอดลมอย่างมีนัยสำคัญ โดยน้ำมันหอมระเหยจะออกฤทธิ์ได้น้อยกว่า theophylline ส่วนสารสกัดน้ำและสารสกัดเอทานอลไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับ theophylline กลไกในการออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับการยับยั้ง muscarinic receptors
  • เมื่อให้หนูขาวทดลองรับประทานน้ำมันจากผลเทียนสัตตบุษย์ พบว่า มีการสร้างเซลล์ใหม่ที่ตับเพิ่มขึ้นได้
    ฤทธิ์ของเมล็ดเทียนสัตตบุษย์ มีฤทธิ์ในการกระตุ้นมดลูกให้บีบตัวแรงขึ้น กระตุ้นเต้านมให้ผลิตน้ำนมให้มากขึ้นได้ในสตรีหลังคลอดแต่หากสตรีไม่มีบุตรจะพบว่ามีอาการคัดเต้านม กระตุ้นความต้องการทางเพศได้เล็กน้อย

ข้อควรระวังของเทียนสัตตบุษย์

ไม่ควรนำผลเทียนสัตตบุษย์มาบดให้เป็นผงเพราะจะทำให้กลิ่นหอมระเหยไปและไม่ควรใช้เกินกว่าปริมาณที่กำหนดเพราะจะเป็นพิษกับร่างกายได้

เทียนสัตตบุษย์ เป็นต้นที่มีกลิ่นหอมเป็นจุดเด่นจึงนำมาใช้ในการเป็นเครื่องเทศปรุงอาหารและเป็นสารให้ความหอมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นอกจากนั้นยังเป็นส่วนประกอบในตำรับยาพิกัดเทียน ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐและยาธาตุบรรจบอีกด้วย เทียนสัตตบุษย์มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของผลและเมล็ด มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ขับลม บำรุงเลือด แก้หลอดลมอักเสบ ช่วยขับประจำเดือนและน้ำนมของสตรีได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “เทียนสัตตบุษย์”. หน้า 280.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เทียนสัตตบุษย์ Anise”. หน้า 215.
ไทยเกษตรศาสตร์. “เทียนสัตตบุษย์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [05 ธ.ค. 2014].
หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ขยายหลอดลมของเทียนสัตตบุษย์”. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [04 ธ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/