เท้ายายม่อม หรือ แป้งเท้ายายม่อม ดีต่อระบบทางเดินอาหารในร่างกาย
เท้ายายม่อม หรือ แป้งเท้ายายม่อม เป็นไม้ล้มลุกมีหัวใต้ดินใช้ทำแป้ง ผลเป็นรูปเกือบกลมหรือเป็นรูปทรงวงรี ปลายแหลมเรียว ผลห้อยลงและเป็นสีเขียว

เท้ายายม่อม

เท้ายายม่อม (East Indian arrow root) เป็นไม้ล้มลุกที่มีหัวใต้ดินใช้ทำแป้ง เป็นแป้งที่ได้รับคำยกย่องจากโภชนบําบัดว่า มีคุณสมบัติที่เหมาะกับระบบทางเดินอาหารของมนุษย์เรามากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับแป้งชนิดอื่น นอกจากนั้นยังนิยมนำมาผสมกับแป้งชนิดอื่นเพื่อให้ได้อาหารที่มีความเข้มเหนียวและเป็นมันวาว ซึ่งส่วนมากจะใช้ในการทำขนม และมีประโยชน์ในการนำมาพอกหน้ารักษาสิวและทำให้หน้าขาวได้อีกด้วย ทว่าแป้งเท้ายายม่อมแท้ในปัจจุบันนั้นค่อนข้างที่จะหายากพอสมควร

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเท้ายายม่อม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “East Indian arrow root”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ไม้เท้าฤาษี” จังหวัดตราดเรียกว่า “บุกรอ” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “สิงโตดำ” จังหวัดระยองเรียกว่า “นางนวล” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ท้าวยายม่อม ว่านพญาหอกหลอก”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กลอย (DIOSCOREACEAE)

ลักษณะของเท้ายายม่อม

เท้ายายม่อม เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ในประเทศไทยพบขึ้นกระจายและพบขึ้นหนาแน่นในบางพื้นที่ ยกเว้นทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักจะขึ้นใต้ร่มเงาในป่าดิบแล้งระดับต่ำ ป่าผลัดใบ ดินเป็นดินทรายและตามป่าชายหาด ต้นเท้ายายม่อมจะยุบตัวเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวและใบจะเหลือง
หัวใต้ดิน : มีหัวใต้ดินสะสมอาหาร ลักษณะของหัวเป็นรูปกลม กลมแบนหรือรูปวงรี ผิวด้านนอกบางเป็นสีน้ำตาล เนื้อในหัวเป็นสีขาวใส
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับเวียนเป็นแนวรัศมี ใบมีขนาดใหญ่และเว้าลึก เป็นรูปฝ่ามือ ปลายแยกออกเป็นแฉก 3 แฉก แต่ละแฉกขอบมีลักษณะเว้าลึก ปลายใบแหลม ก้านใบเป็นสีดำแกมเขียว
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม แทงช่อสูงออกมาจากหัวที่อยู่ใต้ดิน ดอกจะออกที่ปลายยอด ก้านดอกเป็นสีม่วงอมเขียวมีลาย ช่อดอกจะมีประมาณ 1 – 2 ช่อ แต่ละช่อจะมีดอกประมาณ 20 – 40 ดอก กลีบรวมเป็นสีเขียวอมเหลืองหรือสีเขียวอมม่วงเข้ม มักจะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม
ผล : เป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปเกือบกลมหรือเป็นรูปทรงวงรี ปลายแหลมเรียว ผลห้อยลงและเป็นสีเขียว ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ที่ผิวเมล็ดจะมีลาย

สรรพคุณของเท้ายายม่อม

  • สรรพคุณจากเหง้า
    – บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง ด้วยการนำเหง้ามาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากหัว ทำให้เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย ช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่น แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ร้อนใน ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร ดีต่อระบบทางเดินอาหาร
    – แก้ร่างกายอ่อนเพลียจากไข้ แก้อาการเบื่ออาหารหลังฟื้นไข้ บำรุงกำลัง ช่วยให้ชุ่มชื่นหัวใจ บำรุงร่างกายให้ฟื้นฟู ด้วยการนำแป้งจากหัวมาละลายกับน้ำดิบ ใส่น้ำตาลกรวดแล้วตั้งไฟกวนจนสุกให้คนไข้รับประทาน
    – แก้อาการท้องเสียและบิด หยุดเลือดในกระเพาะและลำไส้ โดยชาวฮาวายนำหัวมาผสมกับน้ำและดินเคาลินสีแดงใช้กินเป็นยา
    – ช่วยห้ามเลือด ด้วยการนำแป้งที่ได้จากหัวโรยบริเวณแผล
    – แก้ผดผื่นคัน ด้วยการนำแป้งจากหัวละลายกับน้ำแล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่มีอาการ
    – รักษาฝีแผล แก้ช้ำ ถอนพิษ ด้วยการนำแป้งมานวดกับน้ำอุ่นให้พอเป็นยางเหนียวแล้วใช้เป็นยาพอกบริเวณที่มีอาการ
    – ป้องกันเชื้อราที่เท้า ด้วยการนำแป้งโรยในถุงเท้า
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาขับเสมหะ
    แก้ไข้ โดยตำรายาพื้นบ้านอีสานนำรากเป็นยา
    – แก้ไส้เลื่อน ด้วยการนำรากผสมกับสมุนไพรอื่นแล้วต้มกับน้ำกินเป็นยาเย็นหรือเผาให้ร้อนเอาผ้าห่อแล้วนั่งทับ
  • สรรพคุณจากหัวและราก
    – แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น พิษผึ้ง พิษจากแมงกะพรุนไฟ เป็นต้น ด้วยการนำหัวหรือรากมาฝนกับน้ำมะนาวใช้ทาเป็นยา

ประโยชน์ของเท้ายายม่อม

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร แป้งที่สกัดได้จากหัวนำมาใช้ประกอบอาหารและทำขนมได้หลายชนิด นิยมผสมกับแป้งชนิดอื่นเพื่อให้ได้อาหารที่มีความเข้มเหนียวและเป็นมันวาวใช้ทำขนมได้มากมาย สำหรับอาหารคาวจะนำมาใช้เป็นส่วนผสมในซุปเห็ดเจ ราดหน้า กระเพาะปลา หอยทอด เป็นต้น ดอกและยอดอ่อนนำมาต้มแล้วจิ้มกับน้ำพริกหรือนำยอดอ่อนมาผัดกับน้ำกะทิสดได้
2. ใช้บำรุงผิว ช่วยลดสิวฝ้า ทำให้หน้าขาว ด้วยการนำแป้งผสมกับน้ำผึ้งแล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้สักครู่แล้วค่อยล้างออก หรือใช้ผัดหน้าแทนแป้งฝุ่นได้

เท้ายายม่อม มีส่วนหัวที่ใช้ทำแป้งซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน นอกจากจะเป็นแป้งที่ใช้ทำขนมและอาหารแล้วยังเป็นยาพอกหน้าเพื่อบำรุงผิวได้ เท้ายายม่อมมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของหัว มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงกำลัง แก้ไข้ แก้อาการท้องเสียและบิด ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร เป็นส่วนที่มีแป้งเหมาะสมต่อระบบทางเดินอาหารเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นระบบที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์

เท้ายายม่อม หรือ แป้งเท้ายายม่อม ดีต่อระบบทางเดินอาหารในร่างกาย
เท้ายายม่อม หรือ แป้งเท้ายายม่อม เป็นไม้ล้มลุกมีหัวใต้ดินใช้ทำแป้ง
เท้ายายม่อม,แป้งเท้ายายม่อม,ไม้เท้าฤาษี,บุกรอ,สิงโตดำ,นางนวล,ว่านพญาหอกหลอก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ท้าวยายม่อม (หัว)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [10 ธ.ค. 2014].
หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน. (มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล). “เท้ายายม่อม”. หน้า 212.
จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๙, กันยายน ๒๕๓๒.
กลุ่มรักษ์เขาใหญ่. “เท้ายายม่อม… แป้งแท้แต่โบราณ อาหารฟื้นไข้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rakkhaoyai.com. [10 ธ.ค. 2014].
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “สิงโตดำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [10 ธ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/