กระชายดำ
กระชายดำ ( Black galingale ) คือ พืชสมุนไพรในวงศ์เดียวกับขิง ข่าและขมิ้น บางท้องถิ่นเรียกว่าว่านจังงัง ว่านพญานกยูง ระแอน เป็นต้น กระชายดำจัดเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุอยู่ได้หลายปีทีเดียว มีหัวเหง้าฝังอยู่ใต้ดิน แล้วแตกยอดเป็นลำตันเรียวยาวโผล่ขึ้นมาพ้นดินสูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร กาบใบเป็นสีแดงอ่อนอมม่วงรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อสีชมพูอ่อน ลักษณะหัวของกระชายดำจะไม่เหมือนกับกระชายที่เราเอามาเป็นเครื่องแกงทำอาหาร แต่จะไปคล้ายคลึงกับหัวขิงหรือขมิ้นมากกว่า ครั้นผ่าดูเนื้อในจึงเห็นว่าเป็นสีม่วงเข้มไปทางน้ำเงิน แล้วแต่ระดับความอ่อนแก่ของหัวกระชายดำ
สรรพคุณทางยาของกระชายดำ
ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนล่าง เป็นแหล่งที่พบ กระชายดำ ได้มากที่สุด เราไม่ค่อยได้เห็นว่ามีใครนำกระชายดำมาทำเป็นเมนูอาหารคาวหวาน อย่างมากก็คือนำไปตากแห้งเพื่อชงดื่มเป็นชาหรือทานสด แต่เดิมชาวเขาจะพกกระชายดำติดตัวไว้เสมอ เป็นเหมือนยาประจำกาย ใช้ทานได้เมื่อรู้สึกปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย ต่อมาหมอชาวบ้านจึงนำมาใช้ให้กว้างขึ้น จึงได้รู้ว่ากระชายดำช่วยรักษาอาการปวดท้อง และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ด้วย จึงมีการนำไปดัดแปลงให้ทานได้ง่าย และมีการปรุงสูตรยาขึ้นมาโดยนำกระชายดำไปร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ก็จะได้ยาอายุวัฒนะที่บำรุงร่างกาย ขับลม แก้ปวด บำรุงเส้นผมและขน ว่ากันว่าถ้าทานเป็นประจำก็ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรงอีกด้วย
กระชายดำกินตอนไหน และองค์ประกอบทางเคมีของกระชายดำมีอะไรบ้าง
กินกระชายดำก่อนนอนจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวและช่วยลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดได้ดีสารเคมีกลุ่มที่เด่นที่สุดใน กระชายดำ ก็คือ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ เป็นสารที่พบได้มากในเม็ดสีของพืชผัก ธัญพืชและเปลือกไม้ มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระในมนุษย์ โดยระดับความเข้มข้นมีผลต่อการออกฤทธิ์โดยตรง บางชนิดสามารถทำหน้าที่ได้ดีกว่าวิตามินซีและอีถึง 50 เท่า อีกกลุ่มหนึ่งคือ สารกลุ่มไกลไซด์ เป็นสารเคมีสำคัญที่มีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นน้ำตาลและส่วนที่ไม่ใช่ ออกฤทธิ์ในทางเภสัชวิทยาได้หลายหลาย เช่น ออกฤทธิ์ต่อระบบการไหลเวียนโลหิต มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น
สรรพคุณและประโยชน์ของกระชายดำ
เสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ : มีการทดลองในหนูเพศผู้ถึง 4 กลุ่ม เป็นเวลายาวนานกว่า 4 สัปดาห์ พบว่าการใช้กระชายดำกับหนูทดลอง ไม่พบว่ากระชายดำมีผลต่อน้ำหนักของอวัยวะสืบพันธุ์แต่อย่างใด แต่มีผลต่อต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิและจำนวนครั้งในการหลั่ง จึงสรุปได้ว่ากระชายดำมีผลต่อการกระตุ้นทางเพศ โดยที่ไม่มีผลต่อฮีโมโกลบิน เม็ดเลือดขาว และตับ หมายความว่าไม่เป็นพิษจากการใช้งาน แต่ก็ยังมีแนบท้ายเล็กๆ ว่าอาจจะยังไม่เหมาะสมกับการใช้ในคนที่ปริมาณสูงและใช้เป็นเวลายาวนาน
ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและหลอดเลือด : หากนำ กระชายดำ มาสกัดเอาสารเคมีสำคัญด้วยเอทานอล เราจะได้สารพิเศษที่มีคุณสมบัติคลายหลอดเลือดแดงใหญ่ การทดสอบในเนื้อเยื่อบุผนังหลอดเลือดดำจากรกของมนุษย์ พบว่ามีการเสริมสร้างเซลล์มากขึ้น และเมื่อทดลองในกล้ามเนื้อหัวใจของหนู กระชายดำก็ออกฤทธิ์ลดการทำงานหนักของหัวใจลง และลดการเพิ่มแคลเซียมชั่วคราวในหัวใจด้วย ซึ่งแคลเซียมเหล่านี้นี่เองที่จะไปเกาะตามผนังหลอดเลือดและทำให้เกิดปัญหาต่อการส่งถ่ายเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย
ส่งผลต่อกระบวนการเมทาบอลิซึมของไขมัน : มีงานวิจัยจากญี่ปุ่นระบุไว้ว่า สารสกัดจากส่วนของเหง้ากระชายดำสามารถลดความเสื่อมของอัตราการเกิดเมทาบอลิซึมได้อย่างดี เมื่อทดลองในหนูที่มีโรคอ้วนก็พบว่า มีอัตราการลดไขมันสะสมที่ดีขึ้น เพราะมีการดึงไขมันเก่าออกมาใช้และไขมันใหม่ก็ถูกเปลี่ยนสภาพเป็นพลังงานอย่างรวดเร็ว จึงไม่ถูกนำไปแปรรูปและสะสมเอาไว้ในร่างกาย
ออกฤทธิ์ต่อต้านอาการอักเสบ : 5,7-dimethoxyflavone ( 5,7-DMF ) คือสารเคมีตัวสำคัญที่สามารถสกัดมาได้จากเหง้าของ กระชายดำ เป็นสารที่มีฤทธิ์ในการต้านอาการอักเสบต่างๆ มีการทดสอบและสรุปความไว้ว่า สารสกัดจากกระชายดำตัวนี้ช่วยต้านการอักเสบได้เทียบเท่ากับยามาตรฐานหลายชนิดเลย ทั้งแอสไพริน ไฮโดรคอร์ทิโซน และอินเมทาซิน ใช้เพื่อลดการอักเสบได้ทั้งภายนอกและภายใน จากหลักฐานการรักษาอาการอักเสบที่ปอดและอาการอักเสบบวมแดงที่เท้าของหนูทดลอง
มีสรรพคุณเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง : สารในกลุ่ม methoxyflavones ซึ่งสกัดได้จากเหง้า กระชายดำ ด้วยการใช้เอทานอลในการสกัด มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งหลายชนิด ทำให้เซลล์มะเร็งตายในรูปแบบของ apoptosis คือเซลล์จะค่อยๆ หดตัวเล็กลง จนนิวเคลียสแตกออกเป็นชิ้นๆ เยื้อหุ้มเซลล์โป่งพองเป็นถุง สุดท้ายเซลล์ก็แตกสลายไป
บำบัดภาวะต่อมลูกหมากโต : ต่อมลูกหมากโตเป็นอาการป่วยที่พบได้ในเพศชาย คือต่อมลูกหมากมีขนาดขยายใหญ่ผิดปกติจนเป็นปัญหาต่อระบบทางเดินปัสสาวะ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ มีงานวิจัยที่ทดลองในหนูเป็นระยะเวลามากกว่า 14 วัน พบว่าสารสกัดจากกระชายดำส่งผลดีต่อลูกหมายพอสมควร ช่วยลดขนาดต่อมลูกหมากลงได้ แต่ก็ยังต้องทำงานวิจัยเพื่อข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นอีกทั้งในด้านสรรพคุณที่ได้และความปลอดภัยในการใช้งาน ก่อนจะนำไปใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยต่อลูกหมากโตต่อไป
ปรับสมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง : กระชายดำผู้หญิงวัยทองทานได้ช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงให้อยู่ในระดับปกติ
กระชายดำเป็นพืชสมุนไพรในวงศ์เดียวกับขิง ข่าและขมิ้น ใช้แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้อาการปวดท้อง และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้
งานวิจัยที่สำคัญเกี่ยวกับการใช้กระชายดำ
1. การศึกษาเรื่องกระชายดำกับสมรรถภาพทางร่างกายในผู้สูงอายุ
ใช้การทดสอบในผู้สูงอายุราว 45 คน โดยให้ทานยาหลอกที่ทำจากสารสกัดกระชายดำเป็นเวลากว่า 2 เดือน เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสมรรถภาพทางร่างกาย และวัดผลด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การวัดแรงบีบมือ การวัดระยะทางที่เดินได้ในช่วงเวลาที่กำหนด การสลับลุกนั่งในช่วงสั้นๆ เป็นต้น พบว่ากระชายดำช่วยเพิ่มระดับความแข็งแรงของร่างกายผู้สูงอายุได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังช่วยลดภาวะเครียดที่เป็นผลกระทบมาจากการที่อนุมูลอิสระเข้าไปทำลายระบบต่างๆ ของร่างกายอีกด้วย
2. การศึกษาเรื่องกระชายดำกับความสามารถในการออกกำลังกาย
เมื่อเราได้รู้แล้วว่าสารสกัดจากกระชายดำนั้นมีผลต่อความแข็งแรงของร่างกายจริง เราจึงมาต่อยอดด้วยการทดสอบผลที่เกิดกับนักกีฬา ว่ากระชายดำจะทำให้พวกเขามีความสามารถในการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ โดยทดสอบกับกลุ่มนักกีฬา 2 กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มที่ทานและไม่ได้ทานสารสกัดจากกระชายดำ พบว่าไม่มีผลลัพธ์อย่างเป็นนัยสำคัญว่าทั้งสองกลุ่มจะมีความสามารถในการออกกำลังกายที่ต่างกัน หรือในผู้ที่ทานสารสกัดกระชายดำเข้าไป ก็ไม่ได้มีความสามารถในการออกกำลังกายที่พัฒนาไปจากเดิม
พิษของกระชายดำ
แม้ว่า กระชายดำ จะมีสรรพคุณที่น่าสนใจหลายอย่าง แต่ก็มีประเด็นของความเป็นพิษจากการใช้งานด้วยเหมือนกัน นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กระชายดำไม่ได้ถูกใช้ในหลายๆ วงการเช่นเดียวกับสมุนไพรตัวอื่นๆ จากการทดลองในหนูทดลอง หลายครั้งทำให้หนูทดลองเสียชีวิตไป บ้างเกิดจากน้ำหนักตัวมากเกินไป บ้างเกิดจากน้ำหนักตัวน้อยเกินไป และอีกไม่น้อยที่มีระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดสูงโดยเฉพาะหนูเพศเมีย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นลักษณะของการใช้สารสกัดกระชายดำในระยะเวลานาน จึงต้องมีการศึกษาในด้านพิษวิทยากันอย่างจริงจัง พบว่ามีค่าต่างๆ ในร่างกายของหนูเปลี่ยนแปลงไปจริง แต่ยังอยู่ในช่วงที่น่าจะเป็นไปได้ และเมื่อตรวจความเป็นพิษเรื้อรังในอวัยวะต่างๆ ก็ไม่พบว่ามีพิษสะสมแต่อย่างใด จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม ดังนั้นก็ควรระวังในการรับประทานสารสกัดเหล่านี้ไว้บ้าง ไม่ควรทานในปริมาณมากหรือทานในระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป
ขนาดและวิธีในการรับประทานกระชายดำเพื่อสรรพคุณทางยา
กระชายดำ ก็เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง สามารถทานสดได้เช่นเดียวกับพืชผักอื่นๆ ทั่วไป หรือจะนำไปเป็นเครื่องเคียงอาหารคาวก็ย่อมได้ ถึงอย่างนั้นตามตำราหมอยาพื้นบ้านก็ยังแนะนำวิธีการปรุงเป็นยาเพื่อหวังให้ได้รับสรรพคุณเพิ่มมากขึ้น ได้แก่
- เหง้าสดดองเหล้าหรือน้ำผึ้ง : ใช้เหง้าสดๆ ประมาณ 5 เหง้ามาล้างทำความสะอาด เอาเศษโคลนดินออกให้เรียบร้อย แล้วปอกเปลือกหรือฝานเป็นแว่นหนาสักหน่อย ใส่โหลแก้วเพื่อดอง แล้วเติมเหล้าขาวหรือน้ำผึ้งลงไป บ้างก็ว่าใช้น้ำดื่มธรรมดาก็ได้เหมือนกัน ทิ้งไว้ในโหลสักประมาณ 1 สัปดาห์ถึงเริ่มเอามาทานได้ โดยให้ทานหลังอาหารมื้อเย็นวันละครั้งเท่านั้น
- ทำเป็นชา : ใช้เหง้าสดที่ล้างสะอาดดีแล้ว ฝานเป็นแผ่นบางๆ ก่อนนำไปตากแดดจนแห้งสนิทดี อาจใช้เวลา 3-4 วันสำหรับวันที่มีแดดจัด จากนั้นนำมาอบเพื่อฆ่าเชื้ออีกที ก่อนเก็บใส่โหลหรือกระปุกไว้ เมื่อต้องการทานก็หยิบออกมาชงกับน้ำร้อน ดื่มเมื่อไรก็ได้ ข้อควรระวังคือเชื้อรา ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าตากแห้งสนิทแล้วจริง ตลอดจนภาชนะไม่มีความชื้นอยู่
นอกจากนี้ก็ยังมีสารสกัด กระชายดำ ที่ถูกแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ยา บ้างทำออกมาในรูปแคปซูล บ้างทำออกมาในรูปผง ก็สามารถเลือกซื้อหามาทานได้ตามความสะดวก สิ่งสำคัญคืออย่าลืมอ่านข้อควรระวัง พร้อมขนาดและวิธีใช้ที่ข้างบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจนเสมอ เพื่อให้ได้สรรพคุณตามต้องการและไม่เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น
กระชายดำ ข้อควรระวัง
- เมื่อทานกระชายดำในปริมาณที่สูงเกินไป อาจส่งผลให้เกิดอาการหัวใจสั่นได้ ดังนั้นจึงต้องหยุดหรือลดปริมาณที่ใช้ทันทีที่มีสัญญาณเกิดขึ้น
- ห้ามใช้กระชายดำในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ หรือหากต้องการใช้จริงๆ ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและให้ความยินยอมเสียก่อน
- การทานกระชายดำปริมาณมากมีผลต่อการกระตุ้นการทำงานของไต ในภาวะเลวร้ายที่สุดก็อาจถึงขั้นไตวายได้
- เด็กเล็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2547. “ตอน กระชายดำ“. อ้างอิงใน: เทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับวันที่ 15 เมษายน 2543. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [19 พ.ย. 2013].
ห้องสมุดดิจิทัลเกษตรไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “กระชายดำ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: anchan.lib.ku.ac.th/aglib/bitstream. [19 พ.ย. 2013].