พุดซ้อน
พุดซ้อน มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ในประเทศจีน[4] บ้างว่าเป็นพรรณไม้ดั้งเดิมของบ้านเรา[1] ชื่อสามัญ Gerdenia, Kaca piring, Bunga cina (มาเลเซีย), Cape jasmine, Gareden gardenia [1],[2],[4] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Gardenia jasminoides J.Ellis (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Gardenia augusta Merr., Gardenia florida L., Gardenia grandiflora Siebold ex Zucc., Gardenia radicans Thunb.) อยู่วงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1],[5] มีชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น จือจื่อ (จีนกลาง), พุดซ้อน (ไทย), พุดจีน (ไทย), พุดจีบ (ภาคกลาง), พุดสา (ภาคกลาง), พุทธรักษา (จังหวัดราชบุรี), แคถวา (จังหวัดเชียงใหม่), สุ่ยจือจื่อ (จีนกลาง), กีจื้อ (จีนกลาง), พุดใหญ่ (ไทย), พุด (ไทย), พุดสวน (ภาคกลาง), พุดฝรั่ง (จังหวัดกรุงเทพมหานคร), พุดป่า (จังหวัดลำปาง), เค็ดถวา (จังหวัดเชียงใหม่)[1],[2],[3],[4],[6]
ลักษณะของพุดซ้อน
- ต้น เป็นไม้พุ่มเตี้ยหรือเป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็ก สามารถสูงได้ถึงประมาณ 1-2 เมตร โดยทั่วไปมีลักษณะคล้ายกับต้นพุดจีบ ต่างที่ไม่มีสีขาวอยู่ในต้นกับใบเหมือนพุดจีบ ลำต้นจะแตกกิ่งก้านเยอะ ลำต้นกับกิ่งก้านเป็นสีเขียว มีใบขึ้นดกและหนาทึบ รากเป็นสีเหลืองอ่อน นิยมขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง ชอบแสงแดดจัด ต้องการความชื้นสูง ถ้าปลูกไว้ในที่มีแสงแดดไม่เพียงพอก็จะทำให้ไม่ค่อยออกดอก การตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งสามารถช่วยทำให้ดอกมีขนาดใหญ่ขึ้นได้[4],[5] มักพบเจอที่ป่าดงดิบทางภาคเหนือ[1],[3]
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงตรงข้ามกันหรือประกอบเป็น 3 ใบ ใบเป็นรูปหอก รูปมนรี ที่ปลายใบจะแหลม ส่วนที่โคนใบจะสอบ ขอบใบเรียบ ขอบเป็นสีขาว ใบกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 7-14 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะเรียบและเป็นมัน เป็นสีเขียวเข้ม เนื้อใบจะหนา มีก้านใบที่สั้น หูใบมีอยู่ 2 อัน อยู่ที่ระหว่างก้านใบด้านละอัน ใบคล้ายกับใบพุดจีบ ต่างที่ไม่มียางสีขาว[1],[3],[5]
- ดอก ส่วนใหญ่ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว ออกดอกที่ตามง่ามใบที่ปลายกิ่ง ดอกมีขนาดที่ใหญ่ ดอกคล้ายดอกพุดจีบ ดอกมีลักษณะเป็นสีขาว และมีกลีบดอกซ้อนกันหลายชั้น โคนกลีบแหลม ปลายกลีบมนรี มีกลีบดอกประมาณ 5-7 กลีบ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7 เซนติเมตร มีเนื้อที่นุ่ม มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีเกสรเพศผู้อยู่ 6 ก้านรูปแถบ จะติดที่ปลายหลอดกลีบดอก มีเกสรเพศเมีย มีก้านเกสรที่ยาว ยอดเกสรมีลักษณะเป็นกระจุกแน่น รังไข่อยู่ที่ใต้ฐานรองดอก มีกลีบเลี้ยงอยู่ประมาณ 5-8 แฉก มีก้านดอกสั้นหรือจะไม่มีก้านดอก[1],[5]
- ผล กลมเป็นรูปไข่ ผลจะออกแบบหัวทิ่มลง ผลสุกเป็นสีเหลืองทองหรือจะเป็นสีส้มถึงแดง ผลมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร เปลือกผลมีลักษณะเหลี่ยมตามแนวยาว ประมาณ 5-7 เหลี่ยม[3] มีเมล็ดอยู่ในผลประมาณ 3-6 เมล็ด เมล็ดมีเนื้อเยื่อหุ้มเป็นสีแดง[1]
สรรพคุณพุดซ้อน
1. สามารถช่วยแก้ฝีหนองอักเสบได้ (ราก)[3]
2. ในตำรับยาแก้เคล็ดขัดยอกระบุเอาไว้ว่าให้นำผลแห้ง 250 กรัม, เมล็ดลูกท้อ 150 กรัม,โกฐเชียง 150 กรัม, คำฝอย 150 กรัม มารวมบดให้เป็นผง แล้วก็เอาไปเคี่ยวกับวาสลิน 250 กรัม ผสมน้ำส้มสายชู 500 ซีซี แล้วก็เคี่ยวให้เข้ากันดี ใช้เป็นยาภายนอกทาตรงที่มีอาการ (ผล)[3]
3. นำน้ำที่คั้นได้จากดอกมาผสมน้ำมันสามารถใช้เป็นยาทารักษาโรคผิวหนังได้ หรือใช้แต่น้ำคั้นจากดอกอย่างเดียวก็ได้ (น้ำจากดอก)[1]
4. ในตำรับยาแก้ตับอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อ มีอาการตัวเหลือง กล่าวเอาไว้ว่าให้ใช้รากสด 70 กรัม, เปลือกต้นหม่อน 35 กรัม, รากใบไผ่เขียว 35 กรัม, หญ้าคา 35 กรัม มาต้มรวมกับน้ำทาน (ราก)[3]
5. ผลสามารถใช้เป็นยาขับพยาธิ ขับปัสสาวะได้ (ผล)[4],[5]
6. น้ำที่ได้จากต้นสามารถใช้เป็นยาขับพยาธิได้ (น้ำจากต้น)[1]
7. ราก สามารถช่วยแก้ท้องอืดท้องเฟ้อได้ (ราก)[5]
8. สามารถช่วยรักษาปากเป็นแผล ลิ้นเป็นแผล (ผล)[3]
9. นำใบมาตำสามารถใช้พอกแก้อาการปวดศีรษะได้ (ใบ)[4],[5]
10. สามารถช่วยแก้ตาอักเสบได้ (ผล)[3]
11. สามารถช่วยกระจายเลือดที่อุดตันได้ (ผล)[3]
12. รากกับผล มีรสขม จะเป็นยาเย็น ออกฤทธิ์กับตับ หัวใจ สามารถใช้เป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ตัวร้อน ขับน้ำชื้น มีไข้สูง ทำให้เลือดเย็น และช่วยแก้อาการร้อนในได้ (ราก, ผล)[3]
13. สามารถช่วยแก้อาการปวดบวมได้ (ราก)[3]
14. สามารถช่วยแก้ผื่นคันตามผิวหนังได้ (ราก)[5]
15. นำรากมาตำใช้พอกแผลสด สามารถห้ามเลือด ช่วยสมานบาดแผลได้ (ราก)[3]
16. สามารถช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือดได้ (ผล)[3]
17. สามารถใช้เปลือกต้นเป็นยาแก้ปวดท้อง และแก้บิดได้ (เปลือกต้น)[4],[5]
18. สามารถช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือดได้ (ผล)[3]
19. สามารถช่วยแก้อาการปวดฟัน อาการเหงือกบวมได้ (ผล)[3]
20. สามารถช่วยแก้เลือดกำเดาได้ (ผล)[3]
21. สามารถช่วยแก้อาการกระสับกระส่ายนอนไม่หลับได้ (ผล)[3]
22. เนื้อไม้จะเป็นยาเย็น สามารถช่วยลดพิษไข้ได้ (เนื้อไม้)[1]
23. เปลือกต้น กับราก สามารถใช้เป็นยาแก้ไข้ได้ (เปลือกต้น, ราก)[5]
หมายเหตุ
– ถ้าใช้เป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละประมาณ 3-10 กรัม มาต้มกับน้ำทาน
– ถ้าใช้เป็นยาสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม มาตำคั้นเอาแต่น้ำทาน หรือนำมาตำพอกแผลภายนอก[3]
สรรพคุณตามในตำราการแพทย์แผนจีน
1. กีจื้อถ่านจะมีฤทธิ์ที่สามารถช่วยห้ามเลือด ทำให้เลือดเย็น สามารถช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด[3]
2. กีจื้อ (ผล) มีรสขมเย็น จะมีฤทธิ์ที่ขับความร้อน สามารถช่วยระบายความร้อน แก้ดีซ่าน ทำให้เลือดเย็น แก้หงุดหงิดกระวนกระวาย แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้ไข้ อาเจียนเป็นเลือด แก้เลือดกำเดาไหล ช่วยเสริมความชื้น และจะมีฤทธิ์ที่สามารถช่วยบรรเทาอาการพิษอักเสบ ช่วยระงับอาการปวด อาการบวมจากการกระทบกระแทก แก้พิษอักเสบของแผล แก้อาการอักเสบบวมแดง ฝีอักเสบ ลดบวมจากการอักเสบได้ [3]
3. ผล ผัดเกรียม กีจื้อผัด มีวิธีใช้ มีสรรพคุณเหมือนกัน แต่ใช้ในกรณีม้ามพร่อง ระบบกระเพาะอาหารพร่อง[3]
ประโยชน์พุดซ้อน
1. นำดอกมาสกัดทำน้ำมันหอมระเหย สามารถใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอางได้[4]
2. สามารถนำเนื้อไม้มาทำหัวน้ำหอม ธูป กรอบรูปได้[1]
3. ปลูกเป็นไม้ประดับสวนบริเวณบ้าน ตัดแต่งทรงพุ่ม ปลูกเป็นแนวรั้วได้ดี[1] ควบคุมการออกดอกได้ โดยควบคุมการให้น้ำการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม มีความหมายที่เป็นมงคล ตามความหมายของไทยหมายถึงความแข็งแรง สมบูรณ์ ความเจริญมั่นคง ตามความหมายของฝรั่งหมายถึงรักแท้[4]
4. นำผลกับเมล็ดมาบดจะให้สารสีเหลืองทองที่มีชื่อว่า Gardenia สามารถใช้แต่งสีอาหารให้เป็นสีเหลือง อย่างเช่น แต่งสีน้ำเก๊กฮวย ย้อมสีด้านนอกของเต้าหู้แข็ง ในประเทศจีนจะใช้เป็นสีย้อมผ้า และให้สารสีน้ำตาลแดงที่มีชื่อว่า Corcin สามารถใช้แต่งอาหารให้มีสีน้ำตาลแดงได้[1],[2],[4]
5. ดอก ปักแจกันไหว้พระหรือจะนำไปร้อยพวงมาลัยสำหรับบูชาพระได้ ในประเทศจีนนำดอกมาอบใบชาให้มีกลิ่นที่หอม
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “พุดซ้อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th. [05 พ.ค. 2014].
2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “พุดซ้อน”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 392.
3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “พุดซ้อน”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 562-563.
4. สถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. “กีจื้อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: tcm.dtam.moph.go.th. [05 พ.ค. 2014].
5. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “พุดซ้อน”. (นพพล เกตุประสาท, ไพร มัทธวรัตน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [05 พ.ค. 2014].
6. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “พุด Cape Jasmine”. หน้า 213.
อ้างอิงรูปจาก
1. https://gardenerspath.com/plants/flowers/grow-gardenia/
2. https://www.gardeningknowhow.com/ornamental/flowers/gardenia/different-gardenia-varieties.htm