เถาเอ็นอ่อน ใช้เป็นยาบำรุงเส้นเอ็น

0
1728
เถาเอ็นอ่อน
เถาเอ็นอ่อน ใช้เป็นยาบำรุงเส้นเอ็น เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง ใบเดี่ยวสีเขียวนวล ดอกเป็นช่อสีขาวอมสีเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน ฝักมีเนื้อแข็ง เมล็ดสีน้ำตาลมีขนปุยสีขาวปลิวตามลม
เถาเอ็นอ่อน
เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง ใบเดี่ยวสีเขียวนวล ดอกเป็นช่อสีขาวอมสีเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน ฝักมีเนื้อแข็ง เมล็ดสีน้ำตาลมีขนปุยสีขาวปลิวตามลม

เถาเอ็นอ่อน

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Cryptolepis dubia (Burm.f.) M.R.Almeida (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Cryptolepis buchananii Roem. & Schult.) อยู่วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่วงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[1] มีชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น เครือเถาเอ็น (จังหวัดเชียงใหม่)[1], เครือเขาเอ็น (จังหวัดเชียงใหม่) [4], นอออหมี (กะเหรี่ยง, จังหวัดแม่ฮ่องสอน), เมื่อย (ภาคกลาง), ตีนเป็ดเครือ (ภาคเหนือ), หญ้าลิเลน (จังหวัดปัตตานี), เขาควาย (จังหวัดนครราชสีมา), กู่โกวเถิง (จีนกลาง), กวน (ฉาน, จังหวัดแม่ฮ่องสอน), เครือเอ็นอ่อน (ภาคอีสาน), หมอตีนเป็ด (จังหวัดสุราษฎร์ธานี), เสน่งกู (จังหวัดบุรีรัมย์) [1],[4],[5],[7]

ลักษณะของต้นเถาเอ็นอ่อน

  • ต้น เป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น ๆ จำพวกเถาเนื้อแข็ง เถาลำต้นจะกลม เปลือกเถามีลักษณะเรียบและหนาเป็นสีน้ำตาลอมดำ หรือสีแดงเข้มมีลายประ มีความยาวประมาณ 4-5 เมตร มีก้านที่เล็ก ก้านเป็นสีเทาอมเขียว เปลือกจะหลุดเป็นแผ่นเมื่อเถาแก่ จะมียางสีขาวขึ้นอยู่ทั้งต้น ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด มักจะพบเจอขึ้นที่ตามป่าราบ ตามที่รกร้างทางสระบุรี[1],[3],[4]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงตรงข้าม ใบเป็นรูปรี รูปไข่ ที่ปลายใบจะมนและมีหางสั้น ส่วนที่โคนใบจะสอบ ที่ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-18 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะค่อนข้างหนา ที่หลังใบจะเรียบ ลื่น เป็นมัน ส่วนที่ท้องใบจะเรียบและเป็นสีเขียวนวล มีขนขึ้นที่ใบอ่อน มีเส้นใบตามแนวขวางจะเป็นเส้นตรงไม่โค้ง หนึ่งใบมีประมาณ 30 คู่ มีก้านใบที่สั้น สามารถยาวได้ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร[1],[2],[4]
  • ดอก ออกดอกเป็นช่อ ดอกจะออกที่ตามซอกใบ ดอกย่อยมีลักษณะเป็นสีเป็นสีขาวอมสีเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน มีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ ที่โคนกลีบดอกจะเชื่อมกัน มีกลีบเลี้ยงดอกอยู่ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว[1],[4]
  • ผล เป็นฝักลักษณะเป็นรูปทรงกระสวย กลมยาว มีความยาวประมาณ 6.5-10 เซนติเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางฝักประมาณ 1-2 เซนติเมตร ฝักมีเนื้อแข็ง ที่ปลายผลจะแหลม ส่วนที่โคนผลจะติดกัน ผิวผลมีลักษณะมันและลื่น ผลแก่จะแตกอ้าออก มีเมล็ดสีน้ำตาลอยู่ในผล เมล็ดจะมีขนปุยสีขาวติดและปลิวตามลม เมล็ดเป็นรูปกลมยาวแบนหรือรูปรี ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร[1],[4]

สรรพคุณเถาเอ็นอ่อน

1. เมล็ดจะมีรสขมเมา สามารถใช้เป็นยาขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ จะทำให้ผาย ทำให้เรอ และสามารถช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้องได้ (เมล็ด)[1],[2],[3]
2. สามารถนำใบ เถามาใช้เป็นยาบำรุงเส้นเอ็น แก้อาการปวดเมื่อยได้ ใบจะมีรสเบื่อเอียน สามารถนำมาใช้ทำเป็นลูกประคบได้ โดยนำใบมาโขลกให้ละเอียด แล้วก็เอามาห่อกับผ้าทำเป็นลูกประคบแก้ปวดเสียวเส้นเอ็น แก้เมื่อยขบ และสามารถช่วยคลายเส้นเอ็น ช่วยทำให้เส้นเอ็นที่ตึงยืดหย่อนได้ เถาจะมีรสขมเบื่อมัน สามารถนำเถาต้นเอ็นอ่อนมาต้มกับน้ำใช้ดื่มเป็นยาบำรุงเส้นเอ็นให้แข็งแรง ปวดหลัง แก้อาการปวดบวม เส้นแข็ง แก้ขัดยอก แก้เส้นเอ็นพิการ แก้อาการปวดเมื่อยเส้นเอ็น ปวดเมื่อยตามร่างกายได้ (ใบ, เถา)[1],[2],[3],[4],[6]
3. ใบ เถา และราก มีรสขมเบื่อเอียน เป็นยาเย็น จะมีพิษ ออกฤทธิ์ตับและหัวใจ สามารถใช้เป็นยาฟอกเลือดได้ (ราก, เถา, ใบ)[4]
4. สามารถนำเถามาต้มทานช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่นได้ (เถา)[3]
5. สามารถนำเถามาใช้แก้อาการฟกช้ำดำเขียวได้ ด้วยการนำเถาที่บดเป็นผง 0.35 กรัม มาผสมเหล้าทาน หรือนำยาแห้งประมาณ 5-6 กรัม มาดองกับเหล้าทานครั้งละ 5 ซีซี วันละ 3 ครั้ง (เถา)[4]

ข้อควรระวัง

มีสารที่มีฤทธิ์กับการกระตุ้นของหัวใจ จึงไม่ควรทานเกินกว่าปริมาณที่กำหนดให้ใช้ และไม่ควรทานติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

สารสำคัญที่พบ คือ สาร Cryptolepisin และเมื่อเอาสารชนิดนี้ที่สกัดได้ในอัตราส่วน 2.8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของสัตว์ทดลองมาฉีดกับหัวใจที่อยู่ด้านนอกร่างสัตว์ อย่างเช่น กระต่าย หนู จะพบว่าสารที่กล่าวมีฤทธิ์ที่ไปกระตุ้นการบีบตัวของหัวใจให้แรงมากขึ้น แต่ทำให้การเต้นของหัวใจนั้นช้าลง และถ้ากระตุ้นต่อไปสักพักหัวใจก็จะหยุดเต้นในท่าระหว่างบีบตัว[4]

ประโยชน์เถาเอ็นอ่อน

  • มีการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับบ้าน [7]
  • ใช้ในสูตรยาอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพ จะใช้เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมจากสูตรยาหลัก เวลาที่ต้องการอบเพื่อรักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการปวดหลัง ปวดเอว [5]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เถาเอ็นอ่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [18 มี.ค. 2014].
2. ไทยโพสต์. “เถา เอ็น อ่อน สู้เมื่อยขบ เมื่อยตึง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net. [18 มี.ค. 2014].
3. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “เถาเอ็นอ่อน (Thao En On)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 140.
4. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “เถาเอ็นอ่อน”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 354.
5. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เถา เอ็น อ่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [18 มี.ค. 2014].
6. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “เถา เอ็น อ่อน”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 252.
7. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “เถา เอ็นอ่อน”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 120.

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.floraofsrilanka.com/