ต้นสลัดได
สลัดได มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน พบได้ทุกภาคในไทยมักขึ้นตามภูเขาที่มีหินปูน ชื่อสามัญ Malayan spurge tree[1], Milkbush[5] ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia antiquorum L.อยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1],[2] ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ สลัดไดป่า (ภาคกลาง), เคียะยา (ภาคเหนือ), ทูดุเกละ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หั่วยานเล่อ ป้าหวางเปียน (จีนกลาง), เคียะเหลี่ยม หงอนงู (แม่ฮ่องสอน), กะลำพัก (นครราชสีมา)เป็นต้น[1],[3]
ชนิดของสลัดได
1. สลัดไดบ้าน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euphorbia trigona Haw.(พรรณไม้จากต่างประเทศ)
2. สลัดไดป่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euphorbia antiquorum L.(ของไทย)
3. สลัดไดลายเหลือง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euphorbia lactea Haw.
4. “เคี๊ยะ”(ชื่อพื้นเมืองทางภาคเหนือ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euphorbia lacei Craib
ลักษณะของสลัดได
- ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ความสูงราวๆ 3-6 เมตร แตกกิ่งก้านออกมาจำนวนมากจากลำต้น ต้นและกิ่งเป็นรูปสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมอวบน้ำ ผิวเรียบ เว้าคอดต่อกัน มียางสีขาวข้น เป็นหยักและมีหนามเล็กแหลม 1 คู่อยู่บริเวณขอบสัน ใช้เมล็ดและวิธีการปักชำกิ่งในการขยายพันธุ์ [1],[2],[4]
- ดอก เป็นช่อ ออกตามแนวสันเหนือหนามเป็นช่อสั้นๆ มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียในช่อเดียวกันและไม่มีกลีบดอก ใน 1 ช่อจะมีดอกตัวผู้หลายดอกและมีดอกตัวเมียเพียงดอกเดียว มีใบประดับสีเหลืองอยู่ 5 ใบ [1],[2],[3]
- ใบ ขนาดเล็ก เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ มีแผ่นใบอวบน้ำ ใบหลุดร่วงได้ง่าย [1]
- ผล เป็นผลแห้งรูปทรงกลม ผลมีสีน้ำตาลเข้ม ผลมีพู 3 พูและมีขนาดเล็ก ผลแห้งจะแตกออก [1]
หมายเหตุ
ต้นที่แก่จัดและมีอายุ 10 ปีขึ้นไปจะยืนต้นตาย และเกิดเป็นแก่นแข็งสีน้ำตาลลักษณะเหมือนไม้แห้ง มีกลิ่นหอม และพอต้นตายลงแก่นที่ได้จะถูกเรียกว่า “กะลำพัก” [1],[2],[6]
ประโยชน์ของสลัดได
- อาจใช้ทำน้ำมันเชื้อเพลิงได้โดยนำน้ำยางสีขาวมาสกัดแบบเดียวกับพญาไร้ใบ ซึ่งมีการทดลองพบว่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการสกัด สามารถใช้ได้ผลดีในเครื่องยนต์ดีเซล [5]
- นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามรั้วบ้านจะช่วยป้องกันคนและสัตว์ และมีการปลูกตามสวนสมุนไพรทั่วไป แต่ไม่นิยมนำมาปลูกใกล้บ้าน เพราะมีความเชื่อของคนไทยโบราณว่าต้นมีผีสิงอยู่
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
- มีสารพิษจำพวก deoxyphorbol เช่น euphorbin มี tetracyclic diterpene เป็นต้น [7]
- ในน้ำยางสีขาวมีสาร Caoutchouc ประมาณ 4-7% พบ tricyclic diterpene ได้แก่ tinyatoxin, huratoxin และ resin แล้วยังพบสารพวก tetracyclic diterpene ได้แก่ phorbol และ ester เช่น ingenol, 12-deoxyphorbaI, 13-tiglate 20-acetate และ ester เช่น 16-hydroxyingenol 3, 5, 6, 20-tetraacetate พบ ß-amyrin, α euphorol, cycloartenol, euphol จากนํ้ายาง [5]
- พบสารหลายชนิดเช่น Euphorbol, Euphorbium, Taraxerol, C30H50O, C30, H48O, Friedalan-3 a-0l,Taraxeroneเป็นต้น [3]
สรรพคุณของสลัดได
1. ยาง สามารถใช้แก้อาการปวดหลัง (ยาง) [1]
2. ก้าน ใบ และยาง สามารถใช้เป็นยาแก้ปวดบวมได้ เป็นยาเย็นมีพิษ มีรสขมและมีกลิ่นหอม(ก้าน,ใบ,ยาง)[3]
3. ใช้ถอนพิษหนองได้(ก้าน,ใบ,ยาง) [3]
4. นำมาทำยารักษาโรคตับแข็งได้ (ยาง) [3]
5. ใช้ในการช่วยขับเลือดเสีย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) [4]
6. ยางมีสรรพคุณในการช่วยขับปัสสาวะ (ยาง) [1]
7. ใช้เป็นยาถ่ายและยาฆ่าพยาธิได้ (ก้าน,ใบ,ยาง) [3]
8. ยางหากนำมานึ่งจนสุกและตากให้แห้งจะเป็นยาถ่ายอย่างแรง ควรนำมาย่างเพื่อฆ่าฤทธิ์ก่อน ยางมีรสร้อนเบื่อเมา(ยาง) [1]
9. ช่วยในการแก้ท้องมาน แก้บวมน้ำได้ โดยนำยางมาทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนใช้รับประทาน(ยาง) [3]
10. ใช้แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย ได้(ก้าน,ใบ,ยาง) [3]
11. ช่วยในการแก้หอบหืด(ต้น,ราก) [6]
12. สามารถใช้แก้ผอมเหลืองได้(ไม่ระบุส่วนที่ใช้) [4]
13. มีสรรพคุณในการเจริญธาตุไฟ(ไม่ระบุส่วนที่ใช้) [4]
14. ยาง ช่วยแก้อัมพฤกษ์ได้(ยาง) [1]
15. ใช้เป็นยาขับความชื้น ขับพิษ ลดอาการแสบร้อน (ก้าน,ใบ,ยาง) [3]
16. ยางใช้เป็นยากัดหูดได้เนื่องจากมีพิษระคายเคืองผิวหนัง แต่หากไปถูกเนื้อดีจะทำให้เนื้อดีเน่าและหลุดไปด้วย (ยาง)[1],[2],[5]
17. ช่วยในการรักษาผดผื่นคัน ฝีหนองได้ (ก้าน,ใบ,ยาง) [3]
18. ยาง ใช้รักษากลากเกลื้อนภายนอก และเป็นยาทาภายนอกแก้โรคผิวหนัง(ยาง) [3]
19. สามารถเป็นยาบำรุงตับและปอดได้ (แก่น) [6]
20. ใช้ยางช่วยถ่ายหัวริดสีดวงได้ (ยาง) [1]
21. ช่วยถ่ายริดสีดวงในลำไส้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) [4]
22. มีสรรพคุณในการแก้พรรดึก อาการท้องผูกอย่างแรง และมีอุจจาระแข็งมาก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) [4]
23. ยาง สามารถนำมาแก้อาการบวมน้ำได้ (ยาง) [1]
24. การใช้ต้นหรือใบสด 30-70 กรัม มาคั้นเอาแต่น้ำ จากนั้นใช้ข้าวสาร 15 กรัมมาคั่วรวมกันจนออกสีเหลืองสุดท้ายนำมาต้มกับน้ำทานจะสามารถแก้กระเพาะลำไส้อักเสบเฉียบพลันได้(ต้น,ใบ) [3]
25. สรรพคุณในการแก้พิษเสมหะ (แก่น) [6]
26. ในตำราไทยแก่นใช้ทำเป็นยาแก้ไข้ได้ [1],[2]
27. แก่นกะลำพักเป็นยาแก้ลม มีรสขม(แก่น) [6]
ข้อควรระวัง
- เด็กที่อายุต่ำกว่า 9 ขวบและสตรีมีครรภ์ ห้ามรับประทานยาจากสมุนไพรชนิดนี้ [3]
- น้ำยางสีขาวมีพิษ ถ้าเข้าตาจะทำให้ตาอักเสบและอาจถึงขั้นตาบอดได้ หากโดนผิวหนังจะทำให้ผิวหนังอักเสบ ทำให้เป็นตุ่มพองน้ำ กัดผิว ผิวหนังแดงไหม้ เปื่อย คันแดงแสบ ฉะนั้นต้องระวังให้มากหากจะนำมาใช้งาน [3],[5],[6]
- ยาง ใช้ครั้งละไม่ควรใช้เกิน 130 มิลลิกรัม เพราะถ้าหากใช้มากเกินไป จะทำให้มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก มีอาการเวียนศีรษะ และอาเจียน แล้วสลบ[3] อีกทั้งยังมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง [7]
- ยางเป็นยาถ่ายอย่างแรง และระคายเคืองมาก อีกทั้งยังพบสาร 3-O-angeloylingenol(สารก่อมะเร็ง)จึงควรระมัดระวังให้มากในการใช้ [1],[2],[5]
- วิธีการกำจัดพิษ ก่อนนำมาทานต้องนำยาแห้งไปคั่วกับข้าวสารจนเป็นสีเหลืองก่อนเพื่อกำจัดพิษถึงจะใช้ได้[3]
- วิธีการแก้พิษ หากยางโดนผิวหนังให้รีบใช้แอลกอฮอล์เช็ด หรือล้างออกด้วยน้ำแล้วใส่ยาแก้ปวด จากนั้นนำน้ำเย็นจัดมาประคบครึ่งชั่วโมง อีกวิธีคือใช้น้ำสะอาดมาล้างออกหลายๆครั้งจากนั้นใช้ยาที่เข้าสเตียรอยด์ทา หากยางเข้าตาให้รีบล้างออกหลายๆครั้งด้วยน้ำสะอาด จากนั้นหยอดตาด้วยยาที่มีสเตียรอยด์และนำไปส่งโรงพยาบาล หากทานมากเกินแล้วเกิดอาการเป็นพิษให้นำตัวส่งโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทันที [3],[6] หากทานยางเข้าไป ให้รับประทาน activated chrcoal (ถ่าน) และนำตัวส่งไปล้างท้องหรือทำให้อาเจียนที่โรงพยาบาล และรักษาต่อไป [7]
สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สลัดได (Salad Dai)”. หน้า 290.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สลัดได Malayan Spurge Tree”. หน้า 108.
3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “สลัดได (กระลำพัก)”. หน้า 538.
4. ข้อมูลพรรณไม้ในพระตำหนักเทา, มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี. “สลัดได”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rbru.ac.th/db_arts/rbruflower/. [09 มิ.ย. 2014].
5. ไทยเกษตรศาสตร์. “สลัดไดป่ามีสรรพคุณดังนี้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [09 มิ.ย. 2014].
6. ไทยโพสต์. “สลัดได-กะลำพัก ขึ้นต้นเป็นพืชร้าย ตอนตายเป็นพืชดี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net. [09 มิ.ย. 2014].
7. ข้อมูลพรรณไม้, พิษระคายเคืองผิวหนัง, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “สลัดไดป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/. [09 มิ.ย. 2014].
8. https://medthai.com/
อ้างอิงรูปจาก
1. https://powo.science.kew.org/
2. https://worldofsucculents.com/