เทียนข้าวเปลือก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Foeniculum vulgare Mill. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Anethum foeniculum L., Foeniculum dulce Mill., Foeniculum officinale All., Foeniculum capillaceum Gilib.) จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE) ชื่อสามัญ Fennel, Sweet fennel ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ เทียนหวาน เทียนแกลบ ยี่หร่าหวาน เตียนแกบ (จีนกลาง) เสี่ยวหุยเซียง ฮุ่ยเซียง
ลักษณะของเทียนข้าวเปลือก
- ต้น เป็นไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี มีความสูงของต้นโดยประมาณ 50-150 เซนติเมตร ลำต้นมีการแตกกิ่งก้านบริเวณปลายยอด กิ่งและก้านมีสีเทาอมเขียว ผิวมีร่องตามยาว
- ใบ เป็นเส้นฝอย แตกเป็นแฉกคล้ายขนนกโดยประมาณ 3-4 แฉก มีก้านใบยาวโดยประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร
- ดอก เป็นช่อคล้ายร่ม โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ในช่อหนึ่งจะมีดอกโดยประมาณ 5-30 ดอก ก้านช่อดอกจะแตกออกเป็นก้านโดยประมาณ 5-20 ก้าน ช่อดอกยาวโดยประมาณ 2-5 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็ก สีเหลือง ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปกลมรี ยาวได้โดยประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้าน มีเกสรเพศเมีย 1 ก้าน
- ผล ออกผลเป็นคู่บริเวณดอก ผลมีลักษณะกลมยาวเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปขอบขนานคล้ายข้าวเปลือก ด้านข้างของผลค่อนข้างแบน ผิวเรียบไม่มีขน เมล็ดหรือซีกผลมีลักษณะด้านนอกนูน ส่วนด้านในที่ประกบกันของเมล็ดหรือด้านแนวเชื่อมค่อนข้างแบนหรืออาจเว้าเล็กน้อย ด้านที่นูนจะมีสันตามแนวยาวของเมล็ด 3 เส้น และด้านแนวเชื่อมอีก 2 เส้น สันมีลักษณะยื่นนูนออกจากผิวอย่างเด่นชัด เมล็ดเป็นสีน้ำตาล มีขนาดกว้างโดยประมาณ 1.1-2.5 มิลลิเมตรและยาวโดยประมาณ 3.6-8.4 มิลลิเมตร ผลมักจะไม่ค่อยแตกเป็น 2 ซีก ทำให้ดูคล้ายข้าวเปลือก แต่บางครั้งก็แตกเป็น 2 ซีก ซึ่งภายในแต่ละซีกจะมีเมล็ด 1 เมล็ด ทำให้เหมือนแกลม เมื่อนำมาบดเป็นผงสีน้ำตาลอมเหลืองถึงสีน้ำตาลอมเขียว โดยมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสหวานและเผ็ดร้อน
สรรพคุณของเทียนข้าวเปลือก
1. ช่วยแก้ชีพจรอ่อนหรือพิการ (เมล็ด)
2. เมล็ดมีรสเผ็ด เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะ ไต และกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยากระจายความเย็นในไต ทำให้ไตมีความอุ่น (เมล็ด)
3. เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (เมล็ด)
4. ช่วยแก้กระษัย ด้วยการบดเป็นผง นำมาตุ๋นกับไตหมูรับประทาน (เมล็ด)
5. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (เมล็ด)
6. ช่วยในการขับเสมหะและละลายเสมหะ (เมล็ด)
7. แก้อาการคลั่ง นอนสะดุ้ง (เมล็ด)
8. แก้อาการไอ (เมล็ด)
9. แก้ชีพจรอ่อนหรือพิการ (เมล็ด)
10. แก้อาเจียน (เมล็ด)
11. แก้เส้นศูนย์กลางท้องพิการ (เมล็ด)
12. ขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยแก้อาการปวดท้อง ด้วยการใช้เทียนข้าวเปลือกและพริกไทยอย่างละเท่ากัน นำมาบดรวมกันเป็นผง ใช้ผสมกับเหล้าทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดถั่วลิสงรับประทานก่อนอาหารครั้งละ 50 เม็ด (เมล็ด)
13. แก้ลำไส้อักเสบในเด็ก (เมล็ด)
14. แก้อาการอาหารไม่ย่อย (เมล็ด)
15. แก้อาการปวดกระเพาะ ปวดท้อง ด้วยการใช้เทียนข้าวเปลือก 8 กรัม ข่าลิง 8 กรัม โอวเอี๊ยะ 8 กรัม หัวแห้วหมูคั่ว 10 กรัม นำทั้งหมดมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (เมล็ด)
16. จัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดเทียน” ซึ่งประกอบไปด้วยตำรับยา “พิกัดเทียนทั้งห้า” (เทียนข้าวเปลือก เทียนขาว เทียนแดง เทียนดำ และเทียนตาตั๊กแตน) ตำรับยา “พิกัดเทียนทั้งเจ็ด” (เพิ่มเทียนเยาวพาณีและเทียนสัตตบุษย์) ตำรับยา “พิกัดเทียนทั้งเก้า” (เพิ่มเทียนตากบและเทียนเกล็ดหอย) ซึ่งมีสรรพคุณโดยรวมคือเป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยขับลม แก้อาเจียน บำรุงโลหิต และใช้ในตำรับยาหอม
17. แก้อาการปวดท้องน้อย ปวดท้องประจำเดือนของสตรี (เมล็ด)
18. แก้อาการปวดหลัง ปวดเอว เนื่องจากไตไม่มีกำลัง ด้วยการนำมาบดเป็นผง ใช้ตุ๋นกับไตหมูรับประทานเป็นยา (เมล็ด)
19. แก้ลมเย็น มือเท้ามีอาการเย็นหรือชา (เมล็ด)
20. ขับปัสสาวะ (เมล็ด)
21. ปรากฏอยู่ในตำรับยา “น้ำมันมหาจักร” ซึ่งในคำอธิบายพระตำราพระโอสถพระนารายณ์ระบุไว้ว่า น้ำมันขนาดนี้จะประกอบไปด้วย เทียนทั้งห้า (รวมถึงเทียนข้าวเปลือก), การบูร, น้ำมันงา, ดีปลี และผิวมะกรูดสด ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม แก้ริดสีดวง แก้เปื่อยคัน ใช้ทาแก้อาการเมื่อยขบ และใส่บาดแผลที่มีอาการปวด หรือเกิดจากเสี้ยนหนาม หอกดาบ ถ้าระวังไม่ให้แผลถูกน้ำก็จะไม่เป็นหนอง
22. เทียนข้าวเปลือกปรากฏอยู่ในตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) อันได้แก่ตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และในตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” โดยเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืดตาลาย คลื่นเหียน อาเจียน ใจสั่น และช่วยแก้ลมจุกแน่นในท้อง
วิธีใช้สมุนไพรเทียนข้าวเปลือก
1. ยาผง ในขนาด 0.3-0.6 กรัม สารสกัดแอลกอฮอล์ (1:1 ในแอลกอฮอล์ 70%) ขนาด 0.8-2 มิลลิลิตร ใช้วันละ 3 ครั้ง หรือในรูปของยาชง (ยาผง 1-3 กรัมชงกับน้ำ 150 มล. สารสกัดของเหลว(1:1 กรัมต่อมิลลิลิตร) ขนาด 1-3 มล. ทิงเจอร์ (1:5 กรัมต่อมิลลิลิตร) ขนาด 5-15 มิลลิลิตร ใช้รับประทานระหว่างมื้ออาหารวันละ 2-3 ครั้ง และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหลาย ๆ สัปดาห์
2. ให้รับประทานครั้งละ 3-10 กรัม โดยนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรืออาจใช้ร่วมกับตัวยาชนิดอื่น ๆ ตามตำรับยาก็ได้
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
1. น้ำมันเทียนข้าวเปลือก มีน้ำมันระเหยง่ายอยู่ประมาณ 1.5-8.6% ซึ่งในน้ำมันมี Trans-anethole อยู่ในปริมาณมาก นอกนั้นยังมี anisic acid, anisic, aldehyde, alpha-pinene, camphene, estragole (methyl chavicol), fenchone, limonene สารในกลุ่ม flavonoid เช่น quercetin-3-arabinoside, quercetin-3-glucurunide, isoquercitrin, rutin และมีสารในกลุ่มคูมาริน เช่น umbelliferone
2. สารที่พบได้ในเมล็ด ได้แก่ น้ำมันหอมระเหยประมาณ 3-6% และในน้ำมันพบสาร Anethole, Anisealdehyde, Anisic acid, a-Phellandrene, a-Pinene, cis-Anethole, Dipentene, Estragole, Fenchone และพบน้ำมันอีก 18% โดยส่วนใหญ่เป็น Petroselinic acid, Stigmasterol, 7-Hydroxycoumarin เป็นต้น
3. น้ำมันหอมระเหย สารสกัดน้ำ และสาร Diglucoside stilbene trimers และอนุพันธ์ Benzoisofuranone มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ
4. น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ทำให้เกล็ดเลือดไม่เกาะตัวกัน
5. เทียนข้าวเปลือกมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเกิดสารก่อกลายพันธุ์ ยับยั้งการเจริญของเนื้องอก บำรุงร่างกาย ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้คลื่นเหียนอาเจียน เป็นยาระบาย แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ถ่ายพยาธิ ขับปัสสาวะ มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง ต้านเชื้อแบคทีเรีย และช่วยระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบในสัตว์ทดลอง
6. สาร Fenchone มีฤทธิ์ในการต่อต้านและยับยั้งเชื้อบางชนิดในลำไส้และช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้
7. สารสกัดด้วยน้ำมันมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตในหนูทดลองและมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ
8. เทียนข้าวเปลือกมีฤทธิ์ช่วยลดอาการท้องเสียได้
9. ในกรณีที่มีอาการปวดท้อง พบว่าการให้น้ำมันหอมระเหยเทียนข้าวเปลือกในรูปอิมัลชัน จะช่วยทำให้ทารกมีอาการดีขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุม และสูตรตำรับจะช่วยทำให้ทารกมีอาการดีขึ้นด้วย
10. สารสกัดน้ำมีฤทธิ์ช่วยปกป้องกระเพาะอาหาร ช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูทดลองจากการทำลายของแอลกอฮอล์
11. น้ำมันจากเมล็ด มีฤทธิ์เป็นยาขับลม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง และมีฤทธิ์ทำให้ลำไส้มีการบีบตัวและคลายกล้ามเนื้อเรียบให้เป็นจังหวะได้ จึงสามารถช่วยขับลมในลำไส้และบรรเทาอาการปวดท้องได้
12. สารสกัดอะชิโตนมีฤทธิ์คล้ายกับเอสโตรเจนในหนู โดยมีฤทธิ์ในการขับน้ำนม ขับประจำเดือนของสตรี โดยมีสารสำคัญคือ Polymer ของ Anethole
13. สารสกัดน้ำมีฤทธิ์ช่วยปกป้องกระเพาะอาหาร ช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูทดลองจากการทำลายของแอลกอฮอล์
14. น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ช่วยปกป้องตับในหนูทดลอง
15. น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ในการต้านจุลชีพ ต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด และมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Helicobacter pylori
16. จากการศึกษาผู้ที่มีอาการปวดประจำเดือนในระดับปานกลางถึงรุนแรง เมื่อได้รับประทานน้ำมันหอมระเหยปริมาณ 25 หยด ทุก ๆ 4 ชั่วโมง พบว่าสามารถช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ แต่จะมีฤทธิ์น้อยกว่ายา Mefenamic acid แต่การได้รับสารสกัดจะช่วยลดอาการปวดได้ดีเทียบเท่ากับยา Mefenamic acid
17. สารสกัดแอลกอฮอล์และน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ ออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อหลอดลมโดยมีผลต่อ Potassium channel
18. สารสกัดด้วยเมทานอลมีฤทธิ์ต้านอาการปวดและอักเสบ
19. สารสกัดด้วยเมทานอลมีผลต่อเอนไซม์ CYP 450 ซึ่งมีผลต่อการเผาผลาญของยาที่ใช้ร่วมกัน
20. ในกรณีคนปกติ การสูดดมน้ำมันหอมระเหยจะมีผลกระตุ้นระบบอัตโนมัติ Sympathetic
21. สาร Estragole ก่อให้เกิดเนื้องอกในหนูทดลอง
22. จากการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลับของสารสกัดผลด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 16 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 2,500 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดที่ใช้รักษาในคน และยังให้โดยวิธีการฉีดเข้าทางใต้ผิวหนังของหนูในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่ตรวจพบว่ามีอาการเป็นพิษ
23. น้ำมันหอมระเหยปริมาณ 0.93 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร มีพิษต่อเซลล์ทารกที่เลี้ยงในหลอดทดลอง
24. น้ำมันหอมระเหย มีผลทำให้เกิดประสาทหลอนได้
ประโยชน์ของเทียนข้าวเปลือก
1. มีการใช้ (เข้าใจว่าคือส่วนของเมล็ด) แต่งกลิ่นอาหารประเภทเนื้อ ซอส กลิ่นซุป ขนมหวาน ขนมปัง เหล้า ผักดอง และมีการใช้น้ำมันหอมระเหยชนิดหวานในการแต่งกลิ่นยาถ่าย (ช่วยบรรเทาอาการไซ้ท้องได้ด้วย) ส่วนน้ำมันหอมระเหยชนิดขมจะนำมาใช้ในการแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง ครีม เครื่องหอม สบู่ สารชะล้าง และยาทาภายนอก
2. เมล็ดสามารถนำมาใช้ใส่ในอาหารประเภทต้ม ตุ๋น เพื่อช่วยทำให้มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน
3. ชาวล้านนาจะใช้เมล็ดเป็นส่วนผสมของพริก ลาบพริก น้ำพริกลาบ ส่วนยอดอ่อนของต้นที่เรียกว่า “ผักชีลาว” จะใช้เป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก ลาวเนื้อสัตว์ต่างๆ หรือยำต่างๆ
4. ในต่างประเทศจะใช้หน่อและใบ ในการประกอบอาหาร หรือทานแบบสดๆ
คุณค่าทางโภชนาการ
คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ด 100 กรัม ให้พลังงาน 345 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 52.29 กรัม |
ไขมัน | 14.87 กรัม |
เส้นใยอาหาร | 39.8 กรัม |
น้ำ | 8.81 กรัม |
โปรตีน | 15.80 กรัม |
วิตามินบี 1 | 0.408 มิลลิกรัม |
วิตามินบี 2 | 0.353 มิลลิกรัม |
วิตามินบี 3 | 6.050 มิลลิกรัม |
วิตามินบี 6 | 0.470 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 21.0 มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก | 18.54 มิลลิกรัม |
ธาตุแคลเซียม | 1,196 มิลลิกรัม |
ธาตุฟอสฟอรัส | 487 มิลลิกรัม |
ธาตุแมกนีเซียม | 385 มิลลิกรัม |
ธาตุโซเดียม | 88 มิลลิกรัม |
ธาตุสังกะสี | 3.70 มิลลิกรัม |
ธาตุโพแทสเซียม | 1,694 มิลลิกรัม |
คุณค่าทางโภชนาการของหน่อดิบ 100 กรัม ให้พลังงาน 31 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 7.29 กรัม |
ไขมัน | 0.20 กรัม |
เส้นใยอาหาร | 3.1 กรัม |
โปรตีน | 1.24 กรัม |
ไขมัน | 0.20 กรัม |
น้ำ | 90.21 กรัม |
วิตามินบี 1 | 0.01 มิลลิกรัม 1% |
วิตามินบี 2 | 0.032 มิลลิกรัม 3% |
วิตามินบี 3 | 0.64 มิลลิกรัม 4% |
วิตามินบี 5 | 0.232 มิลลิกรัม 5% |
วิตามินบี 6 | 0.047 มิลลิกรัม 4% |
วิตามินบี 9 | 27 ไมโครกรัม 7% |
วิตามินซี | 12 มิลลิกรัม 14% |
ธาตุแคลเซียม | 49 มิลลิกรัม 5% |
ธาตุเหล็ก | 0.73 มิลลิกรัม 6% |
ธาตุแมงกานีส | 0.191 มิลลิกรัม 9% |
ธาตุแมกนีเซียม | 17 มิลลิกรัม 5% |
ธาตุโพแทสเซียม | 414 มิลลิกรัม 9% |
ธาตุสังกะสี | 0.20 มิลลิกรัม 2% |
ธาตุฟอสฟอรัส | 50 มิลลิกรัม 7% |
ข้อควรระวังในการใช้
1. อาจเกิดอาการแพ้ผิวหนังหรือที่ระบบทางเดินหายใจ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
2. ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้ในหญิงตั้งครรภ์
3. มีไข้สูงหรือพิษไข้ ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้
4. ห้ามใช้น้ำมันหอมระเหยในเด็กหรือทารก เพราะจะทำให้หลอดลมหดเกร็ง หายใจไม่ได้
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1 หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “เทียนข้าวเปลือก”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 266.
2 หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เทียนข้าวเปลือก Fennel”. หน้า 214.
3 ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เทียนข้าวเปลือก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [20 มี.ค. 2014].
4 ไทยเกษตรศาสตร์. “เทียนข้าวเปลือก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [20 มี.ค. 2014].
5 อาหารพื้นบ้านล้านนา, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “เทียนข้าวเปลือก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/. [20 มี.ค. 2014].
6 วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “Fennel”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org/wiki/Fennel. [20 มี.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://antropocene.it/en/2022/10/25/foeniculum-vulgare-en/