หญ้างวงช้าง
หญ้างวงช้าง เป็นไม้กลางแจ้ง มักขึ้นในที่มีความชื้น โตได้ดีในดินทุกชนิด มักพบเจอตามพื้นที่ชื้นแฉะ อย่างเช่น ริมแม่น้ำ ลำคลอง ทางน้ำ ท้องนา หรือตามที่รกร้างตามวัดวาอาราม บ้างที่จะปลูกไว้ขายเป็นยาสดตามสวนยาจีนชื่อสามัญ Turnsole, Indian Heliotrope, Alacransillo, Eye bright, Indian Turnsole [6] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Heliotropium indicum L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Heliophytum indicum (L.) DC., Tiaridium indicum (L.) Lehm.) อยู่วงศ์หญ้างวงช้าง (BORAGINACEAE)[1],[2],[3] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ ต้าเหว่ยเอี๋ยว (จีนกลาง), ไต่บ๋วยเอี้ยว (จีนแต้จิ๋ว), หญ้างวงช้าง (ไทย), หวายงวงช้าง (ศรีราชา), เงียวบ๋วยเช่า (จีนกลาง), ผักแพวขาว (กาญจนบุรี), หญ้างวงช้างน้อย (ภาคเหนือ), กุนอกาโม (มลายู-ปัตตานี), ชื้อเจาะ(ม้ง) [1],[2],[3],[4],[5]
ลักษณะของหญ้างวงช้าง
- ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุแค่ฤดูเดียว จะเกิดช่วงฤดูฝน พอหน้าแล้งก็จะตาย ต้นสูงประมาณ 15-60 เซนติเมตร จะแตกกิ่งก้านเยอะ ทั้งต้นจะมีขนขึ้น ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด [1],[3],[4]
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกใบเรียงสลับกันหรือจะออกเกือบตรงข้าม ใบเป็นรูปป้อม รูปไข่ รูปกลมรี ที่ปลายใบจะแหลมและสั้น ที่กลางใบจะกว้างออก ส่วนที่โคนใบจะมนรีหรือจะเรียวถึงก้านใบ ขอบใบเป็นคลื่นเล็กนิดหน่อย ใบกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีขนาดยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะเป็นสีเขียวเข้ม พื้นผิวใบหยาบ จะมีรอยย่น ขรุขระ ท้องใบจะมีขนขึ้นนิดหน่อย ส่วนหลังใบก็มีขนขึ้นนิดหน่อยเช่นกัน ก้านใบมีความยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร[1],[2],[4]
- ดอก ออกเป็นช่อ ออกดอกที่ปลายยอด ที่ปลายช่อจะม้วนลงคล้ายงวงช้าง ช่อดอกมีความยาวประมาณ 3-20 เซนติเมตร ออกดอกทางด้านบนแค่เพียงด้านเดียวและเรียงเป็นแถว ดอกย่อยมีลักษณะเล็กและเป็นสีฟ้าอ่อน สีขาว กลีบดอกมีอยู่ 5 กลีบ มีขนาดยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร ที่ปลายกลีบจะแยกจากกัน ส่วนที่โคนดอกจะเชื่อมกันเป็นหลอด มีขนที่ด้านนอก มีกลีบเลี้ยงดอกอยู่ 5 กลีบ ที่โคนกลีบจะเชื่อมกัน มีขนสีขาวขึ้น มีเกสรเพศผู้ 5 อันอยู่ในหลอดดอก ที่ฐานดอกมีเกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่มีลักษณะเป็นรูปจานแบน [1],[2],[3]
- ผล เป็นรูปไข่ ผลมีลักษณะเป็นคู่ และมีขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ผลเกิดจากรังไข่ 2 อันรวมตัวกัน เปลือกผลจะแข็ง ภายในจะแบ่งเป็น 2 ช่อง และแต่ละช่องจะมีเมล็ดอยู่ตามช่อง [1],[2],[4]
ประโยชน์หญ้างวงช้าง
1. คนอีสานมีภูมิปัญญาใช้เป็นประโยชน์ในด้านเครื่องมือตรวจวัดอากาศ วัดความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าต้องการวัดคุณภาพอากาศ ให้ดูที่ช่อดอกถ้าเหยียดตรงแสดงว่าฝนแล้งจัด ถ้าช่อดอกม้วนงอแสดงว่าปีมีน้ำเยอะ ถ้าหากแปลงนามีขึ้นเยอะแสดงว่าแปลงนามีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องใส่ปุ๋ยผลผลิตที่ดี จากการทดลองปรากฏว่าแปลงที่มีหญ้างวงช้างเจริญงอกงามดี จะให้ผลผลิตได้มากกว่าแปลงที่ไม่มีหญ้างวงช้างประมาณ 60% (จากการทดลองไม่มีการใส่ปุ๋ยทั้งสองแปลงเพื่อการเปรียบเทียบ)[9]
2. ใบ ใช้รักษาสิวได้ (ข้อมูลไม่ระบุวิธีใช้ แต่เข้าใจว่าเอาใบมาตำใช้ทาตรงบริเวณที่เป็นสิว)[3]
3. ใช้ประโยชน์ในงานย้อมสีได้ จากการสกัดน้ำสีที่ได้จากใบ ถ้าเอาไปย้อมเส้นไหมจะเห็นว่าเส้นไหมที่มีคุณภาพดี ทนต่อแสงในระดับดี และทนต่อการซักระดับดี โดยจะให้สีน้ำตาลอ่อน[8]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
- จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อให้สัตว์ทดลองทาน liver microsome ออกซิไดซ์ ได้สาร dehydroheliotrine แบบรวดเร็ว pyrrolic dehydroalkaloid เป็น reactive alkylating agent ซึ่งจะทำให้เกิดแผลในตับ (แค่จำนวนเล็กน้อยก็ทำให้เกิดแผล) แผลที่เกิดขึ้นกว่าจะแสดงอาการให้รู้ก็เป็นปี ๆ และในขนาดสูงจะทำให้เกิด liver necrosis อาการที่สังเกตเห็นได้ในสัตว์ นั่นก็คือ ซึมตัวเหลือง ความอยากอาหารลดน้อยลง เนื้อเยื่ออ่อน มีสีซีด[7]
- จากการทดลองใช้เป็นยารักษาแผลมีหนอง ฝีเม็ดเล็ก โดยนำทั้งต้นแห้ง 50 กรัม มาหั่นเป็นฝอยผสมน้ำ 1 ลิตร เอามาต้มด้วยไฟอ่อนให้เหลือครึ่งลิตร โดยแบ่งทานหลังอาหารครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ถ้าเป็นเด็กให้ลดปริมาณตามสัดส่วน จากการรักษาด้วยวิธีนี้ปรากฏว่าคนไข้จำนวน 213 ราย ที่ทานยา 1-3 วัน หาย 73 ราย, ทานยา 4-5 วัน หาย 96 ราย, ทานยา 6-10 วัน หาย 52 ราย, ทานยา 10 วันขึ้นไป หายจำนวน 28 ราย จากการทดสอบเบื้องต้นปรากฏว่ายานี้มีผลกับฝีขนาดเล็ก ที่เริ่มเป็นหนองและเริ่มเป็นหนองแล้ว (มีเนื้อเยื่อตายแล้ว) แต่ถ้าใช้ในตอนเริ่มเป็นจะได้ผลการรักษาดีกว่า[4]
- สารที่ได้จากการสกัดด้วยแอลกอฮอล์ จะมีฤทธิ์การกระตุ้นมดลูกหนูทดลอง ซึ่งทำให้มีการบิดตัวของมดลูกแรงขึ้น และมีฤทธิ์ต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Schwartz) ได้ระยะหนึ่ง จะทำให้คนไข้ยืดต่อเวลาชีวิตได้อีกระยะหนึ่ง[2]
- ทั้งต้นพบสาร Indicinine Acetyl indicine, Indicine เป็นต้น[2] พบสารสำคัญอีกหลายชนิด อย่างเช่น Pyrrolizidine, Alkaloid, Tumorigenic สารเหล่านี้เป็นพิษกับร่างกาย ควรใช้แบบระมัดระวังให้มาก ๆ [9]
- มีการทดลองในคนโดยทานสารสกัดน้ำที่ได้จากทั้งต้นแห้งของ และปรากฏว่าช่วยลดอาการอักเสบและเร่งการเจริญของเนื้อเยื่อที่แผลได้[9]
- จากการทดลองกับหนูขาว ปรากฏว่าสารสกัดที่ได้จากรากด้วยแอลกอฮอล์ 95% และสารกลุ่มอัลคาลอยด์จากเมล็ด จะมีฤทธิ์ที่ต้านการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ, มีฤทธิ์ที่ช่วยลดความดันโลหิตแบบอ่อน, มีฤทธิ์ที่ยับยั้งเซลล์เนื้องอกบางชนิด แต่พบว่าทั้งต้นมีสารพิษที่เป็นพิษกับตับ ต้องศึกษากันอย่างละเอียดต่อไป[9]
- เมื่อนำรากมาต้มให้เข้มข้น แล้วฉีดเข้าเส้นเลือดแมวที่สลบ ปรากฏว่าความดันโลหิตแมวลดน้อยลง และกระตุ้นการหายใจได้แรงยิ่งขึ้น แต่ลดการเต้นของหัวใจของคางคกที่แยกจากตัว ส่วนที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จะไม่มีผลอันนี้ ส่วนที่สกัดด้วยน้ำไม่มีผลที่เด่นชัดกับกล้ามเนื้อลำไส้เล็กของหนูที่แยกจากตัว แต่กับลำไส้เล็กของกระต่ายทดลองที่แยกออกจากตัว มีผลที่ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัวได้ ส่วนที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์มีผลลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่ลำไส้เล็กของกระต่ายเท่านั้น ส่วนที่สกัดทั้งสองจะไม่มีผลกับกล้ามเนื้อเรียบที่ท้องคางคก แต่มีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกของหนูใหญ่ที่แยกจากตัว ทั้งส่วนที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์กับน้ำจะมีสารทำให้มดลูกบีบตัว ส่วนที่สกัดจากใบมีผลกับโรคของเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งของหนูเล็ก ช่วยต่อต้านเนื้องอกได้ระยะหนึ่ง ด้วยการยืดอายุหนูออกไป ส่วนที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จะไม่เห็นพิษชัด (ใช้ยาฉีดขนาดเข้มข้น 1:1 เข้าช่องท้องหนูเล็กในขนาด 0.8 มิลลิกรัม ปรากฏว่าไม่ทำให้หนูทดลองตาย) ส่วนที่สกัดด้วยน้ำจะมีพิษกับหนูเล็กนิดหน่อย[2],[4]
สรรพคุณหญ้างวงช้าง
1. สามารถใช้รักษาอาการฟกช้ำได้ (ประเทศอินเดีย-ไม่ระบุว่าใช้ส่วนใด)[9]
2. ทั้งต้น มีสรรพคุณที่เป็นยาลดบวม สามารถช่วยแก้แผลบวมมีหนอง และช่วยลดอาการปวดบวมฝีหนองได้ (ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4]
3. สามารถใช้แก้หนองในช่องคลอดได้ (ทั้งต้น)[1]
4. สามารถช่วยแก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ขับปัสสาวะ แก้ขัดเบาได้ โดยนำลำต้นสดมาต้มเอาน้ำทานเป็นยา (ทั้งต้น)[1],[2],[4]
5. ทั้งต้นหญ้าจะมีสรรพคุณที่เป็นยาแก้บิด (ทั้งต้น)[2]
6. สามารถช่วยแก้อาการปวดท้องได้ โดยนำต้นสดประมาณ 30-60 กรัม มาต้มกับน้ำทาน (ต้น)[4]
7. สามารถช่วยแก้หอบหืดได้ โดยนำลำต้นสดมาต้มเอาน้ำทาน (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
8. ทั้งต้น มีรสขม เป็นยาสุขุม จะออกฤทธิ์กับกระเพาะปัสสาวะและปอด สามารถใช้เป็นยาแก้อาการไอได้ โดยนำลำต้นสดมาต้มเอาน้ำทาน (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
9. ทั้งต้น มีสรรพคุณที่เป็นยาช่วยดับพิษร้อน แก้ไข้ ลดไข้ ถอนพิษไข้ ช่วยดับพิษร้อน โดยนำลำต้นสดมาต้มเอาน้ำทานเป็นยา (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
10. ทั้งต้น มีสรรพคุณที่สามารถช่วยแก้โรคลักปิดลักเปิด และโรคเลือดออกตามไรฟันได้ (ทั้งต้น)[1]
11. น้ำที่ได้จากใบสามารถใช้เป็นยาหยอดตาแก้ตาฟางได้ และทั้งต้น มีสรรพคุณที่เป็นยาแก้ตาฟาง (น้ำจากใบ,ทั้งต้น)[1],[3],[4]
12. สามารถช่วยแก้เด็กตกใจเวลากลางคืนบ่อย ๆ ได้ (ทั้งต้น)[4]
13. น้ำที่ได้จากใบจะมีสรรพคุณที่สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (น้ำจากใบ)[1]
14. บางตำราใช้ทั้งต้น มาผสมใบชุมเห็ดไทย ดอกชุมเห็ดไทย ใบผักเสี้ยนผี ดอกผักเสี้ยนผี ใช้เป็นยาพอกแก้ปวดตามข้อได้ อย่างเช่น ข้อเข่า ในขณะที่พอกให้พันด้วยผ้าไว้จนรู้สึกร้อนตรงบริเวณที่พอก แล้วเปิดผ้าออก เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง แล้วทาด้วยน้ำมันมะพร้าว (ทั้งต้น)[9]
15. ใบสามารถใช้เป็นยาพอกฝี รักษาโรคผิวหนังได้ (ใบ)[1],[3]
16. ในอินเดียใช้แก้กลากเกลื้อน ไฟลามทุ่ง แก้แมลงสัตว์กัดต่อยด้วย (ไม่ระบุว่าใช้ส่วนใด)[9]
17. สามารถช่วยแก้แผลฝีเม็ดขนาดเล็ก มีหนองได้ โดยนำรากสดประมาณ 60 กรัม มาผสมเกลือนิดหน่อย แล้วต้มกับน้ำทาน และนำใบสดมาตำกับข้าวเย็น (ไม่ได้ระบุว่าเป็นข้าวเย็นเหนือหรือข้าวเย็นใต้) นำมาใช้พอกแผล (ราก,ใบ)[4]
18.ใบสามารถใช้เป็นยาพอกรักษาแผลได้ (ใบ)[1],[3]
19. รากกับดอกถ้าใช้ในปริมาณน้อยจะมีสรรพคุณที่เป็นยาขับระดู โดยนำดอกสดมาต้มทาน แต่ถ้าใช้ในปริมาณมากอาจจะทำให้แท้งบุตรได้ (ราก,ดอก)[1],[3]
20. ในอินเดียใช้เป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร (ไม่ระบุว่าใช้ส่วนใด) เมล็ดสามารถใช้เป็นยารักษาอาการเจ็บปวดกระเพาะอาหารได้ (เมล็ด)[9]
21. สามารถช่วยแก้อาการปวดท้องที่เกิดจากอาหารเป็นพิษได้ โดยนำลำต้นมาต้มกับน้ำดื่มผสมต้นว่านน้ำ (แป๊ะอะ), หญ้าปันยอด (ชั้วจ้างหม่อ) (ต้น)[5]
22. สามารถช่วยแก้ฝีมีหนองในช่องหุ้มปอด แก้ปอดอักเสบ แก้ฝีในปอด โดยนำต้นสด 60 กรัม มาต้มผสมน้ำผึ้งทาน หรือนำทั้งต้นสดประมาณ 60-120 กรัม มาตำคั้นเอาน้ำผสมน้ำผึ้งทาน (ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4]
23. น้ำที่ได้จากใบสามารถใช้ทำยาอมกลั้วคอช่วยแก้อาการเจ็บคอได้ (น้ำที่ได้จากใบ)[1],[2],[3]
24. ทั้งต้นใช้เป็นยาเย็น สามารถช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ช่วยดับร้อนในได้ (น้ำที่ได้จากใบ,ทั้งต้น)[1],[4]
25. สามารถช่วยแก้อาการปากเปื่อยได้ โดยนำต้นสดมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำมาบ้วนปากและกลั้วคอวันละ 4-6 ครั้ง (ทั้งต้น)[1],[2],[4]
26. สามารถนำรากสดมาตำคั้นเอาน้ำมาใช้หยอดตาแก้ตาฟาง ตาอักเสบ ตามัว ตาเจ็บ (ราก)[1],[3]
27. สามารถนำใบสดมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำมาใช้เป็นยาหยอดหูได้ (ใบ)[1],[3]
28. ทั้งต้น ใช้เป็นยาแก้โรคชักในเด็กได้ (ทั้งต้น)[1],[3]
การเก็บมาใช้
- ให้เก็บทั้งต้นที่โตเต็มที่และมีดอก มาล้างให้สะอาดด้วยน้ำสะอาด ใช้เป็นยาสดหรือเอามาตากแห้งเก็บไว้ใช้[4]
วิธีใช้
ให้ใช้ต้นสดครั้งละ 30-60 กรัม มาคั้นเอาน้ำผสมน้ำผึ้งทาน ถ้าเป็นต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-20 กรัม ถ้าใช้ภายนอกให้เอามาต้มเใช้น้ำชะล้าง หรือคั้นเอาน้ำมาอมบ้วนปาก[2],[4]
ข้อควรระวังในการใช้
- ทั้งต้นมีสารพิษ Pyrrolizidine alkaloid จะออกฤทธิ์กับตับ ถ้าได้รับครั้งแรกจะทำให้อาเจียน หลังจากนั้นเป็นเวลาประมาณ 8-10 ชั่วโมง จะมีอาการชักกระตุกควบคู่กับอาการอาเจียน ท้องเดิน ปวดท้อง หมดสติ วิธีรักษาเบื้องต้นคือให้รีบทำให้อาเจียน โดยทาน Syrup of ipecac 2 ช้อนโต๊ะ สำหรับผู้ใหญ่ สำหรับเด็กที่อายุ 1-12 ปี ให้ทาน 1 ช้อนโต๊ะ[6] อีกข้อมูลระบุเอาไว้ว่าสารที่เป็นพิษนั่นก็คือสาร Lasiocarpine จะมีฤทธิ์ที่ทำให้ตับอักเสบ (cirrhoesis) เป็นพิษกับตับ[7] มีข้อมูลอื่นที่ระบุไว้ว่า แม้ได้รับครั้งเดียวก็ก่อให้เกิดการทำลายเซลล์ตับแบบเรื้อรังได้
- ห้ามให้สตรีที่มีครรภ์ทาน[4]
- ถ้าใช้ในขนาดที่เยอะเกินขนาด อาจจะทำให้แท้งบุตรได้[3]
สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หญ้างวงช้าง (Ya Nguang Chang)”. หน้า 316.
2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หญ้า งวงช้าง”. หน้า 582.
3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หญ้างวงช้าง”. หน้า 803-805.
4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 12 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). “หญ้างวงช้าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [07 ก.ค. 2014].
5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “หญ้างวงช้าง”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม), หนังสือสมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 : สมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร ภูติยานันต์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [07 ก.ค. 2014].
6. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “หญ้า งวง ช้าง” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [07 ก.ค. 2014].
7. กองวิจัยทางแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2530. (วันทนา งามวัฒน์). “สารพิษในพืชและอาการพิษในสัตว์ทดลอง”. หน้า 3.
8. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “หญ้างวงช้าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th. [07 ก.ค. 2014].
9. แผ่นดินทอง. “หญ้างวงช้างภูมิปัญญาตรวจวัดอากาศ”. อ้างอิงใน: มติชนสุดสัปดาห์, 4 พ.ย. 2554. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: glamdring.baac.or.th. [07 ก.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1. https://commons.wikimedia.org/
2. https://www.nparks.gov.sg/
3. https://medthai.com