คำแสด
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mallotus philippensis (Lam.) Müll.Arg. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)
ชื่อสามัญ Monkey-faced tree, Red berry ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ (เชียงใหม่) ขี้เนื้อ กายขัดหิน (สุโขทัย,พิษณุโลก) สากกะเบือละว้า (นครพนม) ซาดป่า ขางปอย (เลย) ทองขาว (จันทบุรี) ลายตัวผู้ (เลย) ทองขาว (ราชบุรี) แทงทวย (ภูเก็ต) ชาตรีขาว (ตรัง) พลากวางใบใหญ่ (สุราษฎร์ธานี) ขี้เต่า (นครศรีธรรมราช) พลับพลาขี้เต่า (ภาคเหนือ) มะกายคัด (ภาคกลาง) แสด ทองทวย แทงทวย มะคาย คำแดง (ไทใหญ่) ไม้เล็ง
หมายเหตุ : ในบทความนี้ เป็นคนละชนิดกับต้นคำแสดที่มีผลสีแดงคล้ายกับผลเงาะ (มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bixa orellana Linn. จัดอยู่ในวงศ์ Bixaceae) เนื่องจากทั้งสองชนิดมีชื่อท้องถิ่นที่เหมือนกันว่า “คำแสด” จึงอาจทำให้เกิดความสับสนได้ หากต้องการอ่านบทความดังกล่าว ท่านสามารถอ่านได้ที่ คำไทย
ลักษณะของคำแสด
- ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นโดยประมาณ 5-12 เมตร บ้างว่าสูงได้โดยประมาณ 15 เมตร เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลปนเทาและมักมีร่อง ที่กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลปกคลุมและมียางสีแดง มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่แถบหิมาลัย ศรีลังกา พม่า อินเดีย จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ถึงไต้หวัน ออสเตรเลีย และตลอดจนหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนในประเทศสามารถพบได้ทุกภาค โดยจะขึ้นตามชายฝั่งทะเล ตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และจามป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,200 เมตร
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบจะเป็นรูปไข่หรือรูปรี ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือกลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างโดยประมาณ 3-8 เซนติเมตรและยาวโดยประมาณ 6-10 เซนติเมตร บ้างว่ายาวได้โดยประมาณ 4-22 เซนติเมตร หลังใบเรียบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขนอยู่หนาแน่นและมีต่อมเกล็ดเป็นจำนวนมาก มีเส้นแขนงใบ 3 เส้นใบ ใบอ่อนมีสีน้ำตาล และมีก้านใบยาวโดยประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร ส่วนหูใบมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวโดยประมาณ 0.5-1.3 เซนติเมตร
- ดอก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและตามปลายกิ่ง ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่บนต้นเดียวกัน โดยช่อดอกเพศผู้จะมีความยาวได้ถึง 18 เซนติเมตร ออกเป็นกลุ่มโดยประมาณ 3-4 ดอก ดอกมีสีเขียว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร ดอกไม่มีกลีบดอก แต่มีเฉพาะกลีบเลี้ยงดอก 3-4 กลีบ และดอกมีเกสรเพศผู้ 15-20 อัน ส่วนช่อดอกเพศเมียจะมีความยาวโดยประมาณ 20 เซนติเมตร โดยดอกเพศเมียจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณ 0.3 เซนติเมตร มีสีเหลืองหรือสีแดง มีกลีบเลี้ยงดอกมีประมาณ 3-6 กลีบ มีรังไข่ 2-3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียจะยาวได้โดยประมาณ 0.1 เซนติเมตร ปลายเกสรแยกเป็น 3 แฉก และยาวโดยประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร และตามช่อดอกทุกส่วนจะมีขนปกคลุมอยู่ตลอด
- ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น แบ่งออกเป็นพู 3 พู ผลมีขนาดโดยประมาณ 0.7-0.9 เซนติเมตร ผิวของผลมีขนสั้นและต่อมผงเล็กๆ สีแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม ผลเมื่อแห้งจะแตกออกตามพู
- เมล็ด ภายในมีเมล็ดสีดำ ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงรี มีความยาวโดยประมาณ 0.4 เซนติเมตร
สรรพคุณของคำแสด
1. ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (เมล็ด)
2. ผลและใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้หวัด (ผลและใบ)
3. เปลือกต้นช่วยบำรุงธาตุ (เปลือกต้น)
4. เมล็ดช่วยแก้ไข้ (เมล็ด)
5. ช่วยแก้พรรดึก (เปลือกต้น)
6. ดอกและเปลือกต้นมีรสเฝื่อน ใช้เป็นยารักษาแผลเรื้อรัง (ดอก เปลือกต้น)
7. แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้ปัสสาวะแดงหรือเหลือง (แก่น)
8. เปลือกต้นใช้รักษาโรคกระเพาะ (เปลือกต้น)
9. เมล็ดเป็นยาขับพยาธิ (เมล็ด) ขนจากผลที่เป็นผงสีแดง ใช้เป็นยาขับพยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบน และพยาธิตัวตืด (ขนจากผล) สารสกัดจากผลสามารถฆ่าพยาธิตัวตืดได้ทั้งหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง
10. ใบและดอกมีรสเฝื่อน ใช้เป็นยาพอกบาดแผล (ใบ ดอก) หรือจะนำเมล็ดมาทำเป็นผงก็ใช้พอกแผลได้เช่นกัน (เมล็ด)
11. ตำรับยาพื้นบ้านใช้แก่นนำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้โรคเส้น (แก่น)
12. เมล็ดใช้แก้โรคเรื้อน (เมล็ด)
13. ราก ใบ และขนจากผล นำมาตำรวมกับน้ำผึ้ง ใช้เป็นยาทาแก้แผลอักเสบ (ราก ใบ ขนจากผล)
14. เปลือกต้นมีรสเฝื่อนใช้รักษาโรคผิวหนัง (เปลือกต้น)
15. ราก ใบ และขนจากผล นำมาตำรวมกับน้ำผึ้ง ใช้เป็นยาทาแก้สัตว์มีพิษกัดต่อย (ราก ใบ ขนจากผล)
ประโยชน์ของคำแสด
1. ผลใช้ทำเป็นสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีแดงที่เรียกว่า Kamela dye
2. เมล็ดใช้เป็นยาเบื่อปลา
3. ราก ใบ และขนจากผล นำมาตำรวมกับน้ำผึ้ง ใช้เป็นยาทาแก้สิวและลอกฝ้า
4. เนื้อไม้ใช้ทำเป็นฟืนได้
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “คำ แสด (Kam Saed)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 82.
2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “คำแสด”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 102.
3. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “คําแสด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [18 ก.พ. 2014].
4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Monkey-faced tree”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [18 ก.พ. 2014].
5. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “คำแสด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/. [18 ก.พ. 2014]