กรุงเขมา ยารสขม บำรุงกำลัง สงบประสาท ลดระดับน้ำตาลในเลือด

0
1511
กรุงเขมา
กรุงเขมา ยารสขม บำรุงกำลัง สงบประสาท ลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นไม้เถาที่ทั้งต้นมีรสขมชุ่มหวาน นิยมใช้ในตำรายาไทย และยังเป็นอาหารพื้นบ้าน

กรุงเขมา

กรุงเขมา

กรุงเขมา หรือเรียกอีกอย่างว่า “เครือหมาน้อย” เป็นไม้เถาที่ทั้งต้นมีรสขมชุ่มหวานเล็กน้อย เป็นยาอุ่นที่ดีต่อเลือด ส่วนของรากมีกลิ่นหอม รสสุขุมจึงใช้เป็นยาอายุวัฒนะได้ เป็นต้นที่นิยมใช้ในตำรายาไทยทั้งหลาย นอกจากนั้นยังเป็นอาหารพื้นบ้าน สามารถนำมาใช้ทำเมนู วุ้นหมาน้อย และลาบหมาน้อย ทำขนมหวานเลิศรสที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ ที่สำคัญยังนำมาใช้ในการรักษาสิว ใช้เป็นสมุนไพรมาส์กหน้า ถือเป็นพืชสมุนไพรชั้นยอดอีกชนิดหนึ่ง

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกรุงเขมา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cissampelos pareira L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Icevine” “Pareira barva”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กรุงเขมา ขงเขมา พระพาย” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “เครือหมาน้อย” ภาคตะวันตกเฉียงใต้เรียกว่า “ก้นปิด” จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “เปล้าเลือด” จังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “หมอน้อย” จังหวัดเพชรบุรีเรียกว่า “สีฟัน” จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกว่า “กรุงเขมา” ชาวมลายูนราธิวาสเรียกว่า “อะกามินเยาะ” จีนกลางเรียกว่า “ยาฮูรู้ ซีเซิงเถิง อย่าหงหลง” มีชื่ออื่น ๆ เรียกว่า “วุ้นหมอน้อย หมาน้อย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์บอระเพ็ด (MENISPERMACEAE)
ชื่อพ้อง : Cissampelos poilanei Gagnep., Cissampelos pareira var. hirsuta (Buch.-Ham. ex DC.) Forman

ลักษณะของกรุงเขมา

กรุงเขมา เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยขนาดกลางเนื้อแข็ง ไม่มีมือเกาะ เลื้อยพาดพันตามต้นไม้อื่น มักจะพบตามในป่าดิบ ป่าผลัดใบ ป่าไผ่ ตามริมแม่น้ำลำธาร
ราก : มีรากสะสมอาหารใต้ดิน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจ รูปไต รูปกลม หรือรูปไข่กว้าง ออกแบบสลับกัน ปลายใบส่วนมากมนหรือเรียวแหลมเป็นติ่งหนาม โคนใบกลมตัด หรือเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกสีขาว เป็นแบบแยกเพศและอยู่ต่างต้นกัน ออกเรียงเป็นช่อเชิงหลั่นขนาดเล็ก มีขนสั้นนุ่มออกเป็นกระจุก ช่อดอกเพศผู้จะออกตามง่ามใบ เป็นสีเขียวหรือสีเหลือง กลีบเลี้ยง 4 กลีบ เป็นรูปไข่กลับ ช่อดอกเพศเมียคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ทรงแคบ กลีบดอก 1 กลีบ เป็นรูปไข่กลับกว้าง โคนสอบ กลีบเลี้ยง 1 กลีบ เป็นรูปไข่กลับกว้าง
ผล : เป็นผลสดรูปทรงกลมวงรีอยู่ตอนปลาย ผลเป็นสีส้ม เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดโค้งงอรูปพระจันทร์ครึ่งซีกหรือรูปเกือกม้า ผิวเมล็ดขรุขระ มีรอยแผลเป็นของก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ด้านข้าง มีขนสั้นนุ่ม ผนังผลชั้นในเป็นรูปไข่กลับ ด้านบนมี 9 – 11 สัน เรียงเป็น 2 แถว

สรรพคุณของกรุงเขมา

  • สรรพคุณจากกรุงเขมา รักษาโรคธาตุอ่อน รักษาทางเดินปัสสาวะ แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ แก้ลมอัมพาตหรือลมไม่เดิน
  • สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาฟอกเลือด กระจายเลือด แก้เลือดกำเดา เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาแก้ลมชื้น แก้โรคหัวใจ เป็นยาแก้ถุงน้ำดีรั่ว แก้ดีล้น แก้ดีซ่าน เป็นยาห้ามเลือด สมานแผล เป็นยาแก้ปวด แก้ฟกช้ำดำเขียว แก้ปวดเอว แก้ปวดบวม แก้ฟกช้ำดำเขียว คลายกล้ามเนื้อ
    – ลดความดันโลหิต โดยหมอยาไทยใหญ่นำทั้งต้นมาต้มกับน้ำกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้โลหิต แก้กำเดา เป็นยาอายุวัฒนะ เป็นยาเจริญอาหาร เป็นยาบำรุง ช่วยบำรุงร่างกาย เป็นยาสงบประสาท เป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาลดไข้ แก้ไข้มาลาเรีย ไข้ออกตุ่ม แก้อาการไอ แก้เจ็บคอ แก้ไอเจ็บหน้าอก เป็นยาขับเหงื่อ เป็นยาแก้โรคตา เป็นยาแก้ลม เป็นยาขับเสมหะ แก้เสมหะ เป็นยาบำรุงหัวใจ เป็นยาขับปัสสาวะ ขัดเบา ระบายนิ่ว แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นยาบำรุงอวัยวะเพศให้แข็งแรง ช่วยรักษาโรคหนองใน บำรุงสมรรถภาพทางเพศ แก้ปวดประจำเดือน แก้ไข้ทับระดู ช่วยปรับสมดุลของประจำเดือนให้เป็นปกติ เป็นยาขับระดู เป็นยาแก้ถุงน้ำดีรั่ว แก้ดีล้น แก้ดีซ่าน ช่วยแก้อาการบวมน้ำ เป็นยาขับน้ำเหลืองเสีย รักษาประดงไฟ เป็นยาสมาน แก้ปวดเมื่อยตามตัว แก้ปวดหลังปวดเอว แก้บวม แก้ปวด
    – เป็นยาอายุวัฒนะ โดยหมอยาไทยและหมอยาพื้นบ้านบราซิลนำรากมาทำให้เป็นผงละลายกับน้ำผึ้งกิน หรือขยี้กับน้ำดื่มเป็นยา
    – รักษาระบบทางเดินอาหาร แก้ถ่ายเป็นเลือด เป็นยาระบาย ยาช่วยย่อย ยาถ่าย แก้ปวดท้อง แก้โรคบิด โดยหมอยาไทยนำรากมาต้มกินเป็นยา
    – ต้านอาการปวดเกร็งทั่วไป แก้โรคลำไส้อักเสบ รักษาโรคลำไส้แปรปรวน โดยหมอยาพื้นบ้านในอเมริกาใต้นำรากเป็นยา
  • สรรพคุณจากเปลือกและแก่น เป็นยาบำรุงโลหิต เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาแก้ระดูพิการของสตรี
  • สรรพคุณจากลำต้น เป็นยาบำรุงโลหิตสตรี เป็นยาดับพิษไข้ทุกชนิด เป็นยาพอกแก้ตาอักเสบ
  • สรรพคุณจากเนื้อไม้ เป็นยารักษาโรคโลหิตจาง เป็นยารักษาโรคปอด
  • สรรพคุณจากใบและส่วนเหนือดิน เป็นยาแก้ร้อนใน
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาแก้หืด บำรุงสมรรถภาพทางเพศ
    – รักษาฝี แก้หิด แก้ผดผื่นคัน แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้อาการแสบร้อนตามผิวหนัง แก้อาการอักเสบของผิวหนัง พอกแผล แก้แผลมะเร็ง ช่วยลดอาการบวมตามข้อ โดยหมอยาพื้นบ้านนำใบมาขยี้เป็นวุ้นใช้เป็นยาพอก
  • สรรพคุณจากเถา ราก ใบและเปลือก รักษาอาการตกเลือดหลังคลอด ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับระบบประจำเดือนของผู้หญิง แก้สิวที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน
  • สรรพคุณจากส่วนเหนือดิน เป็นยาแก้โรคตับ
  • สรรพคุณจากรากและใบ เป็นยาพอกแก้หิด แก้โรคผิวหนัง
  • สรรพคุณจากใบและเถา
    – แก้ปวด โดยหมอยาพื้นบ้านชาวอินเดียนำใบและเถามาต้มกินเป็นยา

ประโยชน์ของกรุงเขมา

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ทำเมนูวุ้นหมาน้อย เมนูลาบหมาน้อย ทำเป็นของหวาน
2. ใช้ในทางการแพทย์ ประเทศจีนใช้สารสกัดจากกรุงเขมาและดอกลำโพง มาฉีดให้คนไข้ที่ต้องผ่าตัดส่วนท้องหรือส่วนอก เพื่อทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว
3. ใช้ในการเกษตร เป็นอาหารสัตว์ของโคกระบือ
4. ใช้ในด้านความงาม นำใบมาทำเป็นสมุนไพรมาส์กหน้า บำรุงผิว แก้สิวได้ด้วย

คุณค่าทางโภชนาการของใบกรุงเขมาที่มีการนำมาแปรรูปเป็นอาหาร

คุณค่าทางโภชนาการของใบที่มีการนำมาแปรรูปเป็นอาหาร ใน 100 กรัม ให้พลังงาน 95 กิโลแคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
โปรตีน 8.5 กรัม
ไขมัน 0.7 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 13.6 กรัม
เบต้าแคโรทีน 6,577 ไมโครกรัม
วิตามินเอ 1,096 ไมโครกรัมอาร์อี

กรุงเขมา เป็นพืชสมุนไพรที่อยู่ในตำรายาของชาวอินเดีย จีนและประเทศไทย มีสรรพคุณหลากหลาย นอกจากนั้นยังช่วยบำรุงด้านความงาม สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในด้านอุตสาหกรรมในอนาคตได้ แถมยังมีคุณค่าทางโภชนาการด้วย กรุงเขมามีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาบำรุง สงบประสาท เป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นยาแก้ไข้ บำรุงเลือดและอื่น ๆ อีกมากมาย

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “กรุงเขมา”. หน้า 46.
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “กรุงเขมา”. หน้า 55-56.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เครือหมาน้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [25 มิ.ย. 2015].
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กรุงเขมา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [25 มิ.ย. 2015].
หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 417, วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550. “กรุงเขมา พืชป่ามหัศจรรย์ ณ แดนถิ่นอีสาน”.
สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณ แห่งประเทศไทย. “วุ้นหมาน้อยหรือวุ้นจากต้นกรุงเขมา (Mha Noi Jelly) เครื่องดื่มและอาหารสุขภาพ คลายร้อน”. อ้างอิงใน : มูลนิธิสุขภาพไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.ayurvedicthai.com. [25 มิ.ย. 2015].
ตำรับยา ตำราไทย. “เรื่องน่ารู้ของเครือหมาน้อย กรุงเขมา : วุ้นธรรมชาติ ยาเย็น แก้ไข้ แก้ปวด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : thrai.sci.ku.ac.th. [25 มิ.ย. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/