อัคคีทวาร
อัคคีทวาร ไม้พุ่มดอกสีม่วงฟ้าสวยงาม จึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ทว่าทั้งต้นยังเป็นยาสมุนไพรที่น่าทึ่ง แต่ยาชนิดนี้ไม่เหมาะกับสตรีมีครรภ์ ค่อนข้างนิยมนำมาใช้กับชาวลัวะ ผลมีรสเปรี้ยวขื่นร้อน ทั้งต้นมีรสขมเผ็ด มีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยาเย็น สามารถแก้ไข้ได้ คนอีสานจะนำช่อดอกของต้นมาหมกไฟหรือย่างกินกับซุบหน่อไม้ มักจะพบตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่เปิดและค่อนข้างชื้น
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของอัคคีทวาร
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rotheca serrata (L.) Steane & Mabb.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ตรีชวา อัคคี” ภาคเหนือเรียกว่า “ตั่งต่อ ปอสามเกี๋ยน สามสุม” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “หลัวสามเกียน” จังหวัดเชียงรายเรียกว่า “แข้งม้า” จังหวัดสกลนครเรียกว่า “หมากดูกแฮ้ง” จังหวัดปราจีนบุรีเรียกว่า “มักแค้งข่า” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “พรายสะเลียง สะเม่าใหญ่” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “อัคคี” วาริชภูมิเรียกว่า “พายสะเมา” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “ควีโดเยาะ” ชาวไทใหญ่เรียกว่า “ผักห้าส้วย” ชาวลัวะเรียกว่า “ลำกร้อล” จีนกลางเรียกว่า “ซานไถหงฮวา ซานตุ้ยเจี่ย” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ชะรักป่า แคว้งค่า ผ้าห้ายห่อคำ มักก้านต่อ หมอกนางต๊ะ หูแวง ฮังตอ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)
ชื่อพ้อง : Clerodendrum serratum (L.) Moon, Clerodendrum serratum var. wallichii C.B.Clarke
ลักษณะของอัคคีทวาร
อัคคีทวาร เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มักจะพบตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่เปิด ค่อนข้างชื้น
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรงและแยกเป็นช่อ ลักษณะกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทาเข้ม กิ่งอ่อนและยอดอ่อนเป็นเหลี่ยม เปลือกมีรูสีขาวและมีขนปกคลุม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน หรือเรียงซ้อนกันเป็นวง ใบแตกตามข้อ แต่ละข้อออกเป็น 3 ใบวงเป็นรอบ บางข้อมี 3 – 4 ใบ เป็นรูปวงรียาวหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น โคนใบสอบหรือแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบเรียบเป็นสีอ่อนกว่า เส้นกลางใบเป็นสีเขียวเข้มหรือสีม่วง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ มักจะออกตามซอกใบและที่ปลายยอด ดอกย่อยเป็นสีม่วงอ่อนเข้ม สีม่วงอ่อนอมสีฟ้า หรือสีชมพูอ่อน กลีบดอก 5 กลีบ รูปทรงกระบอก โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ดอกมีขนสีน้ำตาลเข้มปกคลุม มีกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่กลับ 2 ใบหุ้มอยู่ มีขนาดเล็ก เป็นสีชมพูอ่อน
ผล : เป็นรูปค่อนข้างกลมหรือกลมแป้น ผิวผลเรียบเป็นมัน เมื่ออ่อนเป็นสีเขียว พอแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดสีดำ 1 เมล็ด เป็นรูปกลมวงรี
สรรพคุณของอัคคีทวาร
- สรรพคุณจากใบ แก้อาการปวดศีรษะ แก้ปวดศีรษะเรื้อรัง เป็นยาแก้อาการจุกเสียด แก้ท้องท้องอืด รักษาริดสีดวงทวาร
– แก้หลอดลมอักเสบ ด้วยการนำใบมาต้มกับขิงกินเป็นยา
– ช่วยแก้อาการเจ็บหน้าอก ด้วยการนำใบมาลนไฟแล้วนำมาประคบบริเวณหน้าอก
– ช่วยแก้อาการเสียดท้อง ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำทาน
– แก้แผลฝีหนองเรื้อรัง รักษารอยแผลจากการถูกแมลงกัดและปากนกกระจอก ด้วยการนำใบสดมาอังไฟแล้วขยี้ใส่
– ให้มดลูกเข้าอู่ดีขึ้นและแก้อักเสบ ด้วยการนำใบสดมาโขลกเอาน้ำกินให้คุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งคลอดลูก - สรรพคุณจากผล
– แก้โรคเยื่อตาอักเสบ แก้ไอ ด้วยการนำผลสุกหรือดิบมาเคี้ยว กลืนน้ำกิน - สรรพคุณจากต้น แก้ไข้จับสั่น ขับปัสสาวะ รักษาริดสีดวงทวาร
– ลดความดันโลหิต แก้ไข้ป่า แก้ปวดท้อง โดยชาวบ้านนำลำต้นมาฝานเป็นชิ้นบาง ตากแห้งแล้วนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยา - สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ไข้จับสั่น ช่วยแก้อาการเจ็บคอ แก้คออักเสบ แก้ทอนซิลอักเสบ แก้ตับอักเสบ แก้ฝีหนอง แก้โรคผิวหนัง แก้อาการฟกช้ำ แก้ปวดบวม ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยเนื่องจากลมชื้นเข้าข้อ
– แก้กระดูกร้าว แก้กระดูกแตก ด้วยการนำต้นสดมาตำพอกบริเวณที่มีอาการ
– แก้อาการปวดเมื่อยของหญิงที่เพิ่งคลอดบุตร ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำอาบ - สรรพคุณจากราก ช่วยทำให้เสมหะแห้ง ช่วยในระบบทางเดินหายใจได้ดี แก้ริดสีดวงจมูกหรืออาการอักเสบเรื้อรังของโพรงจมูก รักษาสุขภาพของระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยในการย่อยอาหาร ขับลม แก้อาการเบื่ออาหาร แก้ปวดเกร็งท้อง รักษาริดสีดวงทวาร
– แก้คลื่นเหียน แก้อาเจียน ด้วยการนำรากมาต้มผสมกับขิงและลูกผักชี กินเป็นยา - สรรพคุณจากแก่นและเนื้อไม้
– เป็นยาขับปัสสาวะ ขับนิ่ว โดยชาวบ้านนำลำต้นมาฝานเป็นชิ้นบาง ตากให้แห้งแล้วต้มทาน - สรรพคุณจากต้นและใบ แก้โรคผิวหนัง แก้กลากเกลื้อน แก้โรคเรื้อน ช่วยดูดหนอง แก้อาการขัดตามข้อ
- สรรพคุณจากรากและต้น
– แก้เกลื่อนฝี รักษาแผลบวม ด้วยการนำรากแห้งหรือต้นแห้งมาฝนกับน้ำปูนใสให้ข้น
ประโยชน์ของอัคคีทวาร
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวลัวะนำยอดอ่อนและดอกมาทานสดร่วมกับน้ำพริก หรือนำมายำ ใช้แกง หรือผัด คนอีสานนำช่อดอกมาหมกไฟหรือย่างกินกับซุบหน่อไม้ แกงหน่อไม้ หมกหน่อไม้
2. ใช้ในการเกษตร ใช้รักษากระเพาะอาหาร ของโคกระบือ
3. ปลูกเป็นไม้ประดับ
อัคคีทวาร เป็นไม้พุ่มที่นิยมของชาวลัวะ และนิยมนำมาแกงกับหน่อไม้ นอกจากนั้นยังมีดอกสีฟ้าม่วงที่ชวนให้น่ามองอีกด้วย เป็นต้นที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักนัก เพราะจะพบตามป่ามากกว่าพบได้ทั่วไป มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของราก ต้นและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้โรคผิวหนัง แก้อาการปวดศีรษะ แก้หลอดลมอักเสบ แก้กระดูกร้าวและแตก ช่วยในการย่อยอาหาร แก้ไข้และแก้อักเสบได้ ถือเป็นยาสมุนไพรชั้นยอดอีกชนิดหนึ่ง
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “อัคคีทวาร (Akkhi Thawan)”. หน้า 342.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “อัคคีทวาร”. หน้า 646.
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “อัคคีทวาร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [26 ก.ค. 2014].
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2. “อัคคีทวาร”.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ชะรักป่า, อัคคีทวาร”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [26 ก.ค. 2014].
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “อัคคีทวาร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [26 ก.ค. 2014].
สมุนไพรดอทคอม. “อัคคีทวาร ยาโบราณแก้ริดสีดวง”. อ้างอิงใน: มูลนิธิสุขภาพไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.samunpri.com. [26 ก.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com
รูปอ้างอิง
https://commons.wikimedia.org/wiki/