หูปลาช่อน

หูปลาช่อน

หูปลาช่อน เป็นไม้ล้มลุกที่มีสีเขียวแกมม่วง เป็นวัชพืชที่มีการกระจายพันธุ์ได้รวดเร็ว ทว่าสิ่งที่น่าแปลกใจเลยก็คือ พืชชนิดนี้อยู่ในวงศ์ทานตะวัน ในด้านสรรพคุณนั้นทั้งต้นมีรสขมฝาด เป็นยาเย็นต่อร่างกาย แม้ว่าจะเป็นยาสมุนไพรแต่ในทางกลับกัน ก็มีพิษต่ออวัยวะภายในเช่นกัน ดังนั้นการนำมารับประทานก็ควรระมัดระวัง พืชชนิดนี้สามารถนำมารับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกหรือลาบได้ และยังเป็นผักที่มีสรรพคุณทางยา ใครที่รักสุขภาพห้ามพลาดเด็ดขาด

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของหูปลาช่อน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Emilia sonchifolia (L.) DC. ex DC.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Cupid’s shaving brush” “Emilia” “Sow thistle”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางและจังหวัดเพชรบุรีเรียกว่า “หางปลาช่อน” จังหวัดลำปางเรียกว่า “ผักบั้ง” จังหวัดเลยเรียกว่า “ผักแดง” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “เอี่ยโต่ยเช่า เฮียะแอ่อั้ง” จีนกลางเรียกว่า “หยางถีฉ่าว หยางถีเฉ่า เยวียะเสี้ยหง อีเตี่ยนหง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
ชื่อพ้อง : Cacalia sonchifolia Hort ex L.

ลักษณะของหูปลาช่อน

หูปลาช่อน เป็นพรรณไม้ล้มลุกจำพวกหญ้าที่พบในเขตร้อนของทวีปเอเชีย เป็นพรรณไม้วัชพืชที่มักขึ้นตามที่ชื้น ทุ่งหญ้าโล่ง หรือขึ้นปะปนกับวัชพืชทั่วไป
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง มีสีเขียวแกมม่วง ปกคลุมไปด้วยขนนุ่มทั่วไป
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ใบมีลักษณะห่อหุ้มลำต้นอยู่ ปลายใบแหลมเรียว โคนใบกว้างเป็นรูปไข่ ขอบใบโค้งหยักเล็กน้อยหรือหยักเว้า หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ท้องใบเป็นสีม่วงแดง ใบที่โคนต้นมีขนาดใหญ่กว่าใบที่อยู่บนยอด ใบบนเป็นรูปหอกโคนเว้าขอบจักแคบ ไม่มีก้านใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ มักจะออกตามบริเวณกลางลำต้นหรือยอดต้น ก้านดอกแบ่งออกเป็น 2 แขนง ดอกย่อยประมาณ 20 – 45 ดอก เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ดอกขนาดเล็ก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอก กลีบดอกส่วนโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ ดอกเป็นสีแดงม่วงมี 5 แฉก มีเกสรเพศผู้ 5 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน
ผล : เป็นผลเดี่ยวรูปทรงกระบอก เปลือกผลแข็ง มีจรสีขาวปกคลุมที่เส้นสันผิวเปลือก ผลแห้งจะไม่แตกหรืออ้าออก
เมล็ด : เมล็ดล่อน สีน้ำตาล และมีขน

สรรพคุณของหูปลาช่อน

สรรพคุณจากทั้งต้น ออกฤทธิ์ต่อปอด ตับและลำไส้เล็ก เป็นยารักษาระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ เป็นยาขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ เป็นยาแก้ไข้ ทำให้เลือดเย็น ช่วยขับน้ำชื้นในร่างกาย ช่วยแก้หืดไอ ช่วยแก้เลือดกำเดา แก้อาเจียนเป็นเลือด ช่วยแก้ตาเจ็บตาแดง ช่วยขับเสมหะ ช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการบวมน้ำ ช่วยรักษาฝีในลำไส้ ห้ามเลือด และสมานแผล แก้ไฟไหม้ แก้น้ำร้อนลวก
– แก้ช่องคลอดอักเสบหรือคัน ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำสะอาดแล้วใช้ล้าง
สรรพคุณจากราก ช่วยแก้ท้องเสีย
– เป็นยาแก้โรคตานซางขโมยในเด็ก ด้วยการนำรากสดประมาณ 10 กรัม มานึ่งกับเนื้อหมูแดง
– แก้อาการปวดหลัง แก้ปวดเอว ด้วยการนำรากมาตำคั้นผสมกับน้ำตาลเมาแล้วดื่ม
สรรพคุณจากใบ น้ำคั้นจากใบใช้หยอดแก้เจ็บตา ใบนำมาขยี้ทารักษาหูด
สรรพคุณจากลำต้น แก้อาการบวมน้ำ
– แก้เจ็บคอ คอตีบ คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้บิดถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด แก้ท้องร่วง ช่วยแก้ฝีฝักบัว ด้วยการนำลำต้นสด 30 – 90 กรัม ส่วนแห้ง 15 – 30 กรัม มาต้มเอาน้ำกินเป็นยา วันละ 2 – 3 ครั้ง
– แก้ผดผื่นคัน แก้ฝีต่าง ๆ ด้วยการนำลำต้นสดมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำมาพอกหรือทาบริเวณที่มีอาการ
สรรพคุณจากต้น
– ช่วยรักษาโรคเริม ด้วยการนำต้นสดมาพอกบริเวณที่มีอาการ เปลี่ยนยาวันละครั้ง

ประโยชน์ของหูปลาช่อน

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนและใบอ่อน นำมาใช้ทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกหรือลาบได้

ข้อควรระวังของหูปลาช่อน

1. สตรีมีครรภ์ห้ามใช้สมุนไพรหูปลาช่อน
2. เป็นพิษต่อตับ สารที่เป็นพิษคือสาร Pyrrolizidine alkaloid หากได้รับในครั้งแรกจะทำให้อาเจียน หลังจากนั้นประมาณ 8 – 10 ชั่วโมง จะมีอาการชักกระตุกควบคู่ไปกับมีอาการอาเจียน ท้องเดิน ปวดท้อง และหมดสติได้

หูปลาช่อน เป็นยาที่ออกฤทธิ์เย็น ทำให้มีส่วนช่วยดับพิษร้อนในร่างกายได้ ช่วยแก้ไข้พิษต่าง ๆ แม้ว่าจะเป็นวัชพืชเล็ก ๆ ที่ดูไม่ค่อยน่าสนใจนัก แต่กลับมีประโยชน์ทั้งด้านสมุนไพร และการนำมาใช้เป็นผักสดจิ้มกินได้ เป็นต้นที่มีสีเขียวแกมม่วงขนาดเล็ก ภายนอกไม่ค่อยเด่นมากนัก หูปลาช่อนมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของลำต้นและราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ ขับพิษร้อน แก้อาการบวมน้ำ แก้ช่องคลอดอักเสบหรือคัน และช่วยรักษาโรคเริมได้

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หูปลาช่อน“. หน้า 827-829.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หูปลาช่อน“. หน้า 620.
ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “หูปลาช่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [18 ก.ค. 2014].
อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เครือข่ายกาญจนาภิเษก. “หูปลาช่อน“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.kanchanapisek.or.th. [18 ก.ค. 2014].
หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ระงับปวดของสารสกัดจากต้นหูปลาช่อน (Emilia sonchifolia)”. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [18 ก.ค. 2014].
ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “หางปลาช่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [18 ก.ค. 2014].
ไทยเกษตรศาสตร์. “สมุนไพรหูปลาช่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [18 ก.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
Emilia sonchifolia
https://portal.wiktrop.org/observation/show/15187