มะคําดีควาย
มะคําดีควาย หรือ ประคำดีควาย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่เปลือกผลเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ เปลือกต้นและรากมีรสเฝื่อนขม ดอกมีรสเฝื่อนเมา ผลใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นในตำรับยา เป็นสรรพคุณทางยาสมุนไพรของชาวกะเหรี่ยงใหม่ ชาวลัวะ นิยมนำใบมานึ่งรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก สามารถนำมาใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปแชมพูสระผมได้ ทว่ามะคําดีควายก็มีพิษอยู่ในตัว ดังนั้นก่อนนำมาใช้ต้องทำให้พิษหายไปเสียก่อน
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะคำดีควายชนิดที่ 1
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sapindus rarak DC.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Soap Nut Tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ประคำดีควาย” ภาคเหนือเรียกว่า “มะซัก ส้มป่อยเทศ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ชะแซ ซะเหล่เด”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)
ชื่อพ้อง : Dittelasma rarak (DC.) Benth. & Hook. f.
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะคำดีควายชนิดที่ 2
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sapindus trifoliatus L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Soapberry Tree”
ชื่อท้องถิ่น : มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า “ประคำดีควาย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)
ชื่อพ้อง : Sapindus emarginatus Vahl, Sapindus laurifolius Vahl
ลักษณะของมะคำดีควาย
มะคำดีควาย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มักพบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้งในทุกภาคของประเทศไทย
ลำต้น : เรือนยอดของต้นหนาทึบ ลำต้นมักคดงอ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นร่องลึกตามแนวยาว ยอดอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน ในช่อหนึ่งมีใบย่อยประมาณ 2 – 4 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบเป็นสีเขียว
ดอก : ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ โดยจะออกบริเวณปลายกิ่ง เป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ลักษณะของดอกเล็กสีขาวนวลหรือเป็นสีเหลืองอ่อน ในหนึ่งดอกมีกลีบรองดอกขนาดเล็กประมาณ 4 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน มีกลีบดอกประมาณ 5 กลีบ กลีบข้างนอกมีขนขนาดสั้นสีน้ำตาลปนแดงขึ้นอยู่ประปราย บริเวณกลางดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 10 ก้าน
ผล : ออกรวมกันเป็นพวง ผลย่อยมีลักษณะค่อนข้างกลม ผลสดมีสีเขียว ผิวผลเรียบหรืออาจมีรอยย่นที่ผลบ้าง เปลือกผลเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีพู 3 พู เนื้อในผลมีลักษณะเหนียว ใส เป็นสีน้ำตาล และมีรสหวาน
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมสีดำเป็นมัน มีเปลือกหุ้มแข็ง
สรรพคุณของมะคำดีควาย
- สรรพคุณจากมะคำดีควาย ลดการอักเสบ ยับยั้งการเจริญของเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกลากและโรคผิวหนัง ทำให้เส้นผมสะอาด ช่วยลดอาการคันบนหนังศีรษะ ต้านเชื้อรา
- สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาแก้ฝีอักเสบ แก้ฝีหัวคว่ำ
– แก้กระษัย แก้ไข้ แก้พิษไข้ แก้พิษร้อน ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มเอาน้ำทานเป็นยา - สรรพคุณจากผล รักษาโรคตัวร้อน แก้นอนไม่หลับ แก้นอนสะดุ้ง แก้ผวา แก้สลบ แก้สารพัดพิษ แก้สารพัดกาฬ แก้ไข้สารพัดไข้ทั้งปวง แก้ไข้จับเซื่องซึม แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ปากเปื่อย แก้ฝีเกลื้อน แก้พิษ แก้หัด แก้สุกใส ช่วยแก้หืดหอบ ช่วยบำรุงน้ำดี ช่วยแก้โรคผิวหนัง
– รักษาชันนะตุบนศีรษะ แก้เชื้อรา แก้รังคาหรือโรคผิวหนังพุพองบนศีรษะเด็ก ด้วยการนำผล 4 – 5 ลูก มาแกะเอาแต่เนื้อ ต้มกับน้ำประมาณ 1 ถ้วย แล้วใช้น้ำทาบนศีรษะที่เป็นชันนะตุวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น จนกว่าจะหาย หรือใช้เนื้อ 1 ผล มาตีกับน้ำจนเกิดเป็นฟอง แล้วใช้สระผมวันละ 1 ครั้ง จนกว่าจะหาย แต่ต้องระวังอย่าให้เข้าตา
– เป็นยาดับพิษทุกชนิด แก้พิษตานซาง แก้กาฬ แก้กาฬภายใน แก้ไข้เลือดออก แก้ไข้เซื่องซึม ด้วยการนำผลแห้งมาคั่วให้เกรียม
– แก้หอบอันเนื่องมาจากปอดชื้นปอดบวม แก้ไข้ แก้จุดกาฬ แก้เสลด แก้สุมฝีที่เปื่อยพัง ด้วยการนำผลมาใช้ร่วมกับเมล็ดมะกอกสุมไฟทาน
– ดับพิษร้อนในร่างกาย แก้ร้อนในกระหายน้ำ ด้วยการนำผลมาสุมให้เป็นถ่านแล้วปรุงเป็นยา
– แก้หวัด แก้คัดจมูก ด้วยการนำผลมาต้มเอาฟองใช้สุมหัวเด็ก
– ช่วยรักษาผิวหนังพุพอง แก้น้ำเหลืองเสีย ด้วยการนำผล 10 – 15 ผล มาต้มกับน้ำพอประมาณ แล้วนำน้ำมาชะล้างหรือแช่บริเวณที่เป็นแผลประมาณ 5 นาที ทำทั้งเช้าและเย็น
– รักษาผิว ด้วยการนำผลมาทุบให้แตกแล้วนำไปแช่กับน้ำ ใช้ล้างหน้า - สรรพคุณจากใบ แก้พิษกาฬ ดับพิษกาฬ ช่วยแก้ทุราวสา
– แก้อาการท้องผูก ด้วยการนำใบอ่อนมาต้มกับน้ำดื่ม - สรรพคุณจากราก ช่วยแก้หืด แก้ไอ ช่วยรักษาโรคหลอดลมโป่งพองที่มีเสมหะแห้งอยู่ในช่องหลอดลม แก้ฝีในท้อง ช่วยแก้ริดสีดวง
- สรรพคุณจากต้น ช่วยแก้ลมคลื่นเหียน
- สรรพคุณจากเมล็ด ทำให้ท้องเสีย เป็นยาถ่ายพยาธิ
– ช่วยแก้โรคผิวหนัง ด้วยการนำทั้งเมล็ดสดและแห้งมาตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาพอกหรือเอามาละลายกับน้ำล้างแผล - สรรพคุณจากยอดอ่อน
– แก้อาการถ่ายไม่ออก แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ โดยชาวลัวะนำยอดอ่อนมานึ่งทานเป็นยา - สรรพคุณจากดอก เป็นยาแก้พิษ แก้เม็ดผดผื่นคัน
ประโยชน์ของมะคำดีควาย
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบนำมานึ่งทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก
2. ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ชาวบ้านตามชนบทนำผลมาใช้เป็นสารชะล้างแทนสบู่เพื่อชำระล้างร่างกาย สระผม หรือนำไปใช้ซักผ้า ทำความสะอาดเครื่องใช้ ด้วยการนำผลมาทุบแล้วจะเกิดฟองคล้ายสบู่
3. ใช้ทำเครื่องประดับ เมล็ดนำไปใช้ร้อยทำเป็นลูกประคำได้
4. ใช้ในการเกษตร ผลใช้ในการเบื่อปลา เป็นยาฆ่าแมลง ผลหรือลูกประคำดีควายที่สกัดเอาน้ำแล้วนำไปคลุกกับเหยื่อพิษ หรือใช้ฉีดพ่นต้นเพื่อช่วยกำจัดหอยเชอรี่
ข้อควรระวังของมะคำดีควาย
1. การรับประทานผลอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน มีอาการท้องร่วง ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้
2. หากผงซึ่งมีสารซาโปนินอยู่เข้าทางจมูก จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและทำให้จาม ถ้าหากเข้าเส้นเลือดจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก
3. การใช้ในการสระผมต้องระวังอย่าให้เข้าตา เพราะจะทำให้แสบตา และตาอักเสบได้ ไม่ควรใช้ในปริมาณมากหรือใช้บ่อยจนเกินไป หากใช้แล้วต้องล้างออกให้หมด ไม่งั้นอาจทำให้ผมร่วงได้
มะคำดีควาย มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้จากทั้งต้น แต่ส่วนของผลนั้นมีพิษปะปนอยู่ด้วยเช่นกัน เป็นต้นที่สามารถนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดได้ โดยเฉพาะนำมาใช้ในการสระผม มะคำดีควายมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของผล มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ แก้นอนไม่หลับ ช่วยบำรุงน้ำดี ช่วยแก้โรคผิวหนัง ช่วยรักษาโรคหลอดลมโป่งพองที่มีเสมหะแห้งอยู่ในช่องหลอดลมได้
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ประคำดีควาย”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 445-446.
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ประคําดีควาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [18 เม.ย. 2014].
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะคําดีควาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [18 เม.ย. 2014].
ศาสตราจารย์พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ.
หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์. (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา).
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “มะคําดีควาย”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 218.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “มะคำดีควาย”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 151.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะคำดีควาย Soapberry”. หน้า 183.
หนังสือสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. (ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ และศูนย์สมุนไพรทักษิณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์). “มะคําดีควาย”.
ข่าวประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “อาจารย์ มมส เผยงานวิจัย… ใช้ประคำดีควายกำจัดหอยเชอรี่ได้ผล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.web.msu.ac.th/ssystem/msuhotnews/index.php. [18 เม.ย. 2014]
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
https://www.thaiaromatherapy.net/product/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A2-soap-nut-extract/