เล็บมือนาง

เล็บมือนาง

เล็บมือนาง เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดกลางที่พบในเอเชียเขตร้อน ส่วนของดอกมีสีสันสดใส และหลากหลาย ทำให้ต้นดูสวยสะดุดตา นอกจากนั้นยังมีกลิ่นหอมแรงอีกด้วย ส่วนของรากและใบมีรสเมาเบื่อ ส่วนของเมล็ดมีรสชุ่ม เป็นยาร้อน แต่มีพิษเล็กน้อย ส่วนของผลสุกมีรสหวานเล็กน้อย ต้นยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซียจะนำใบอ่อนของเล็บมือนางมาทาน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเล็บมือนาง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Combretum indicum (L.) DeFilipps
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Rangoon Creeper” “Chinese honey Suckle” “Drunen sailor”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “มะจีมั่ง จ๊ามัง จะมั่ง” ภาคใต้เรียกว่า “นิ้วมือพระนารายณ์” จังหวัดอุตรดิตถ์เรียกว่า “อ้อยช้าง” จังหวัดชุมพรเรียกว่า “แสมแดง” จังหวัดสตูลเรียกว่า “เล็บนาว” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ไท้หม่อง” ชาวมลายูยะลาเรียกว่า “วะดอนิ่ง อะดอนิ่ง” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “เล็บมือนางต้น”
ชื่อวงศ์ : วงศ์สมอ (COMBRETACEAE)
ชื่อพ้อง : Quisqualis indica L.

ลักษณะของเล็บมือนาง

เถา : เลื้อยพาดพันไปกับต้นไม้อื่น แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มหนาทึบ เถาอ่อนมีสีเขียว ลำต้นและเถาอ่อนมีขนสีเหลืองหรือสีน้ำตาลอมเทาปกคลุมอยู่ ต้นแก่ผิวเกลี้ยง เถาแก่เปลือกเป็นสีน้ำตาลปนแดง เปลือกค่อนข้างเรียบ หรือมีหนามเล็กน้อย
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปมนแกมขอบขนาน หรือเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลมหรือมน มีติ่งแหลม โคนใบจักเว้าเข้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบเป็นสีเขียว เนื้อบาง ท้องใบมีขนปกคลุมจำนวนมาก ใบอ่อนเป็นสีเขียวอมแดง เนื้อใบค่อนข้างเหนียว
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ปลายกิ่งหรือยอดของลำต้น ช่อหนึ่งมีดอก 10 – 20 ดอก กลีบเลี้ยงเป็นหลอดยาวสีเขียว เชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก มี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอกยาว ปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีทั้งดอกลาและดอกซ้อน เมื่อเริ่มบานจะเป็นสีขาวหรือสีชมพูอ่อน ดอกบานเต็มที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้ม ดอกย่อยจะค่อย ๆ บาน เมื่อใกล้โรยจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ดอกมีกลิ่นหอมแรง โดยเฉพาะในตอนค่ำ มักจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน
ผล : เป็นผลแห้งและแข็ง เป็นรูปกระสวย มีสัน 5 สันตามยาว ผลสุกเป็นสีน้ำตาลอมสีดำ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

สรรพคุณของเล็บมือนาง

  • สรรพคุณจากรากและใบ เป็นยาสุขุม ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้ตานซางในเด็ก แก้อาการสะอึก เป็นยาถ่ายพยาธิตัวกลมและพยาธิเส้นด้าย
  • สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยาร้อน เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ตานซาง แก้ตานขโมยในเด็ก แก้อาการวิงเวียนศีรษะ แก้ไข้ ช่วยในการย่อยอาหาร เป็นยาถ่าย แก้ท้องอืดเฟ้อ เป็นยาแก้อหิวาตกโรค ช่วยแก้ถ่ายปวดบิด แก้อาการปวดท้องเนื่องจากมีพยาธิอยู่ภายใน แก้อาการตกขาวของสตรี รักษาโรคผิวหนัง รักษาแผลฝี
    – ออกฤทธิ์ต่อม้าม กระเพาะ ลำไส้ เป็นยาถ่ายพยาธิ ขับพยาธิไส้เดือน ในเด็กให้ใช้ 2 – 3 เมล็ด ผู้ใหญ่ให้ใช้ 5 – 7 เมล็ด มาทุบให้แตกแล้วต้มกับน้ำดื่ม หรือป่นให้เป็นผงผสมกับน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นยาลูกกลอน
  • สรรพคุณจากทั้งต้น ช่วยแก้ตานขโมยพุงโร แก้อาการไอ ช่วยขับพยาธิและตานซาง
  • สรรพคุณจากราก แก้อาการไอ เป็นยาระบาย เป็นยาถ่ายพยาธิ ขับพยาธิไส้เดือน แก้อุจจาระเป็นฟองและเหม็นคาวในเด็ก
    – แก้ตานขโมย แก้เด็กเป็นซาง แก้ซางแห้ง แก้ธาตุวิปริต แก้อุจจาระพิการ แก้ตับทรุด ทำให้เจริญอาหาร ด้วยการนำรากผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น
  • สรรพคุณจากใบ แก้ไข้ แก้อาการไอ แก้ท้องอืดเฟ้อ
    – แก้ตัวร้อน แก้อาการปวดศีรษะ เป็นยาถอนพิษ แก้สารพัด แก้กาฬ แก้พิษสำแดงของแสลง ด้วยการนำใบผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น
    – แก้อาการปวดศีรษะ แก้บาดแผล เป็นยาสมาน แก้แผลฝี แก้อักเสบ ด้วยการนำใบตำแล้วพอก
  • สรรพคุณจากผล ทำให้สะอึก เป็นยาถ่ายพยาธิ ขับพยาธิไส้เดือน แก้อุจจาระเป็นฟองและเหม็นคาวในเด็ก ช่วยในการย่อยอาหาร
    – ช่วยลดอาการข้างเคียงที่เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อกะบังลม ช่วยให้การย่อยอาหารดีขึ้น ฆ่าพยาธิ ทำให้ม้ามแข็งแรง ด้วยการนำผลครั้งละ 9 – 12 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม หรือเนื้อผล 6 – 9 กรัม ทำเป็นยาลูกกลอนหรือยาผงทานครั้งเดียวหรือสองครั้ง
  • สรรพคุณจากดอก
    – แก้ท้องเสีย ด้วยการนำดอกแห้งต้มกับน้ำดื่มเป็นยา

ประโยชน์ของเล็บมือนาง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ในอินโดนีเซียนิยมนำใบอ่อนมาทาน โดนทานทั้งดิบและสุกด้วยการต้ม นึ่ง ลวก ใช้ทานร่วมกับน้ำพริก
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ ประดับซุ้ม

คุณค่าทางโภชนาการของใบเล็บมือนาง

คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 76 แคลอรี

สารอาหาร ปริมาณสารที่ได้รับ
ความชื้น 76.4%
โปรตีน 4.8 กรัม
ไขมัน 0 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 18.1 กรัม 
ใยอาหาร 2 กรัม
วิตามินเอ 11,180 หน่วยสากล
วิตามินบี1 0.04 มิลลิกรัม
วิตามินซี 70 มิลลิกรัม
แคลเซียม 104 มิลลิกรัม 
ฟอสฟอรัส 97 มิลลิกรัม

ข้อควรระวังของเล็บมือนาง

1. เมล็ดมีพิษ ห้ามทานในปริมาณที่มากเกินควร
2. ห้ามทานยานี้ควบคู่กับน้ำชาหรือชาร้อน เพราะจะลบฤทธิ์กัน

เล็บมือนาง เป็นพืชที่ชื่อแปลกประหลาด แต่ต้นไม่ได้มีลักษณะเด่นมากนัก นอกจากดอกที่มีสีสันและมีกลิ่นหอมแรง จึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับพวกซุ้มต่าง ๆ เป็นต้นที่นิยมทานกันในประเทศอินโดนีเซีย มีวิตามินเอค่อนข้างสูง เล็บมือนางมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเมล็ด มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ทำให้เจริญอาหาร เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ตานซาง แก้ไข้ เป็นยาถ่ายพยาธิ และแก้ตับทรุดได้ สรรพคุณค่อนข้างโดดเด่นในการรักษาระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง  
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เล็บมือนาง”. หน้า 701-703.
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “เล็บมือนาง (Lep Mue Nang)”. หน้า 271.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เล็บมือนาง Rangoon Creeper”. หน้า 175.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “เล็บมือนาง”. หน้า 502.
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เล็บมือนาง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [31 พ.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “เล็บมือนาง” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [31 พ.ค. 2014].
ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “เล็บมือนาง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/. [31 พ.ค. 2014].
สถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. “ไซ้กุงจื้อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: tcm.dtam.moph.go.th. [31 พ.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “เล็บมือนาง”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [31 พ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/

รูปอ้างอิง
https://conservatory.cals.cornell.edu/2017/06/26/featured-plant-combretum-indicum-syn-quisqualis-indica/
https://noonwalqalam.blogspot.com/2016/11/chines-honeysuckle-rangoon-creeper.html