ว่านน้ำ เหง้าและรากเป็นยาบำรุงบำรุงกำลัง แก้ไข้ แก้ปวด

0
1583
ว่านน้ำ
ว่านน้ำ เหง้าและรากเป็นยาบำรุงบำรุงกำลัง แก้ไข้ แก้ปวด

ว่านน้ำ

ว่านน้ำ

ว่านน้ำ เป็นพรรณไม้น้ำที่มักจะพบตามริมน้ำ คูคลอง ในที่ที่มีน้ำท่วมขัง ที่ชื้นแฉะหรือแหล่งน้ำตื้น มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป มีเหง้าเจริญไปตามยาวขนานกับพื้นดิน รสของเหง้าเผ็ดร้อนฉุนและขม แถมยังกลิ่นหอม ช่อดอกอ่อนจะมีรสหวาน รากอ่อนนั้นเด็กในประเทศเนเธอร์แลนด์นำมาเคี้ยวเป็นหมากฝรั่ง ส่วนของใบเรียวแหลมและปลายใบแหลม ทำให้ดูโดดเด่น ส่วนของเหง้าและรากเป็นยาชั้นยอด รักษาโรคและอาการยอดนิยมได้เกือบทุกอย่าง นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบในตำรายาทั้งหลายอีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของว่านน้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acorus calamus L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Calamus” “Calamus Flargoot” “Flag Root” “Mytle Grass” “Myrtle sedge” “Sweet Flag” “Sweetflag” “Sweet Sedge”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “กะส้มชื่น คาเจี้ยงจี้ ผมผา ส้มชื่น ฮางคาวบ้าน ฮางคาวน้ำ” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ว่านน้ำเล็ก ฮางคาวผา” จังหวัดเพชรบุรีเรียกว่า “ตะไคร้น้ำ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ทิสีปุตอ เหล่อโบ่สะ” ชาวม้งเรียกว่า “แป๊ะอะ” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “ช่านโฟ้ว” ชาวปะหล่องเรียกว่า “สำบู่” ชาวขมุเรียกว่า “จะเคออ้ม ตะไคร้น้ำ” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “แปะเชียง” จีนกลางเรียกว่า “สุ่ยชังฝู ไป๋ชัง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ว่านน้ำ (ACORACEAE)
ชื่อพ้อง : Acorus angustifolius Schott, Acorus aromaticus Gilib., Acorus calamus var. verus L., Acorus terrestris Spreng.

ลักษณะของว่านน้ำ

เหง้า : เหง้าเจริญตามยาวขนานกับพื้นดิน เป็นรูปทรงกระบอกค่อนข้างแบน ลักษณะเป็นข้อ ผิวนอกเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลอมชมพู เนื้อภายในเป็นสีเนื้อแก่
ราก : เป็นรากฝอยเส้นเล็กยาว พันรุงรังไปตามข้อปล้องของเหง้า
ใบ : เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ใบแตกออกมาจากเหง้าเป็นเส้นตรงรูปเรียวแหลม ปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ แทงออกมาจากเหง้าเป็นแท่งทรงกระบอก มีสีเหลืองออกเขียว ดอกย่อยเรียงตัวติดกันแน่น กลีบเลี้ยง 6 กลีบ เป็นรูปกลม มีกาบใบห่อหุ้ม 1 ใบ ดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่ในช่อเดียวกัน
ผล : เป็นผลสดขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายลูกข่างหรือปริซึม ปลายบนคล้ายพีระมิด เมื่อสุกจะเป็นสีแดง ภายในมีเมล็ดจำนวนน้อย ลักษณะเป็นรูปวงรี

สรรพคุณของว่านน้ำ

  • สรรพคุณจากเหง้า ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงประสาท บำรุงหลอดลม ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ แก้โรคลม เป็นยาแก้ไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่น เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อหัวใจปอดและม้าม เป็นช่วยขับเสมหะ ละลายเสมหะ แก้เสมหะอุดตันในทางเดินหายใจ ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ แก้หวัดลงคอ ช่วยแก้ลมจุกแน่นในทรวงอก แก้ลมในท้องแต่อยู่นอกกระเพาะและลำไส้ เป็นยาขับลมในท้อง แก้ลมขึ้น แก้อาการท้องอืด แก้ท้องเฟ้อ แก้จุกเสียด แก้อาหารไม่ย่อย รักษาอาการปวดท้อง ช่วยแก้โรคกระเพาะอาหาร ช่วยรักษาโรคบิด แก้บิดในเด็ก แก้ท้องเสีย แก้ปวดท้องที่เกิดจากอาหารเป็นพิษ เป็นยาขับพยาธิ ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยขับระดูของสตรี รักษาแผลมีหนอง แก้โรคผิวหนัง แก้กลากเกลื้อน แก้ฝีหนอง แก้เด็กเป็นผื่นคันตามซอกก้นและซอกขา แก้อาการปวดตามข้อและตามกล้ามเนื้อ แก้ข้อกระดูกหักแพลง
    – เป็นยาบำรุงธาตุ ยาหอม แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุน้ำ ช่วยทำให้เจริญอาหาร ด้วยการนำเหง้าแห้ง 1 – 3 กรัม มาชงกับน้ำร้อนดื่มก่อนอาหารเย็น
    – เป็นยาระงับประสาท สงบประสาท แก้อาการสะลึมสะลือ แก้มึนงง รักษาอาการลืมง่าย แก้ตกใจง่าย แก้อาการตื่นเต้นตกใจกลัวจนสั่น แก้จิตใจปั่นป่วน ด้วยการนำเหง้าแห้ง 10 กรัม เอี่ยงจี่ 10 กรัม หกเหล้ง 10 กรัม เหล่งกุก 10 กรัม กระดองส่วนท้องของเต่า 15 กรัม มาผสมกันแบ่งกินครั้งละ 3 – 5 กรัม วันละ 3 ครั้ง
    – รักษาอาการกระจกตาอักเสบ ด้วยการนำเหง้าแห้งมาใส่น้ำ ต้มให้เดือดโดยใช้ไฟอ่อนแล้วเอากากออก จากนั้นปรับความเป็นกรดด่างให้เป็นกลาง กรองให้ใส แล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อ ใช้เป็นยาหยอดตา
    – แก้อาการปวดฟัน ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ด้วยการนำเหง้าแห้งมาบดให้เป็นผง แล้วใช้ทา
    – แก้ไข้ ด้วยการนำเหง้ามาต้มรวมกับขิงและไพล กินเป็นยา
    – รักษาอาการไอ ด้วยการนำชิ้นเล็ก มาอมเป็นยา
    – ทำให้อาเจียน ด้วยการนำผงจากรากหรือเหง้า กินมากกว่าครั้งละ 2 กรัม
  • สรรพคุณจากราก ช่วยบำรุงหัวใจ แก้โรคประสาทแบบฮีสทีเรีย แก้อาการปวดตามเส้นประสาท แก้ปวดศีรษะ ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ เป็นยาแก้ไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่น ช่วยแก้หืด เป็นยาระบาย เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้ลงท้อง แก้ปวดท้องที่เกิดจากอาหารเป็นพิษ ช่วยรักษาอาการลำไส้อักเสบ แก้โรคบิดแบคทีเรีย เป็นยาถอนพิษสลอด แก้โรคผิวหนัง รักษาอาการอักเสบเรื้อรัง แก้อาการปวดตามข้อและตามกล้ามเนื้อ แก้ข้อกระดูกหักแพลง เป็นยาแก้เส้นกระตุก
    – แก้หวัดและเจ็บคอ โดยชาวอินเดียนำรากฉีกเป็นชิ้นเล็ก มาเคี้ยวประมาณ 2 – 3 นาที เป็นยา
    – ดูดพิษ แก้หลอดลม แก้ปอดอักเสบ ด้วยการนำรากฝนกับเหล้าทาหน้าอกเด็ก
    – แก้โรคลงท้องปวดท้องของเด็ก ด้วยการนำรากมาเผาให้เป็นถ่าน ทำเป็นผงทานมื้อละ 0.5 – 1.5 กรัม
  • สรรพคุณจากใบ แก้ปวดกล้ามเนื้อและข้อ เป็นยาสำหรับสตรีหลังคลอด
    – ช่วยรักษาอาการปวดศีรษะ ด้วยการนำใบสดมาตำละเอียด ผสมกับน้ำใช้สุมหัวเด็ก
  • สรรพคุณจากยอดอ่อนและดอก
    – รักษาอาการหวัด โดยชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนนำช่อดอกและยอดอ่อน มาทานสด
  • สรรพคุณจากทั้งต้น แก้อาการปวดเมื่อย
  • สรรพคุณจากน้ำมันหอมระเหยจากต้น แก้ชัก

ประโยชน์ของว่านน้ำ

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวเมี่ยนนำผลอ่อนมาทานร่วมกับลาบ เด็กชอบกินช่อดอกอ่อน รากอ่อนเป็นหมากฝรั่งของเด็กในประเทศเนเธอร์แลนด์
2. เป็นความเชื่อ ชาวปะหล่องนำรากมาเป่าคาถาเพื่อไล่ผี
3. ใช้ไล่ยุงและแมลง
4. ใช้ในการเกษตร เป็นยาฆ่าปลวกที่ผิวดินและป้องกันต้นไม้ รากเป็นยาเบื่อแมลง
5. ใช้เป็นความหอม เหง้าสดนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหย ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอางประเภทสบู่ ผงซักฟอก น้ำหอม ครีม และโลชั่น
6. ปลูกเป็นไม้ประดับ

ว่านน้ำ เป็นพืชน้ำที่มีประโยชน์ทางยาได้อย่างน่าทึ่ง สามารถนำมาใช้เป็นความหอมได้ด้วย ส่วนของเหง้าและรากเป็นยาสมุนไพรชั้นยอด นิยมนำมาใช้ในตำรายา ประกอบอาหาร เป็นส่วนให้ความหอม ไล่แมลงและยุงได้ มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของรากและเหง้า มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท แก้ไข้ แก้ปวด บำรุงกำลัง แก้ปอดอักเสบ เป็นยาระบาย และอื่น ๆ อีกมากมายจนนับไม่ถ้วน

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ว่านน้ำ”. หน้า 715-718.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ว่านน้ํา”. หน้า 35.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ว่านน้ำ”. หน้า 510.
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ว่านน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [03 มิ.ย. 2014].
หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ว่านน้ํา” หน้า 168-169.
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ว่านน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [03 มิ.ย. 2014].
ฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “ว่านน้ํา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th/essentialoils/. [03 มิ.ย. 2014].
หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ยับยั้งการสะสมเซลล์ไขมันของสารประกอบในน้ำมันจากต้นว่านน้ำ (Acorus calamus)”. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [03 มิ.ย. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “คาเจี้ยงจี้, ว่านน้ำ , ว่านน้ำเล็ก”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิติ นันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [03 มิ.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/