หมากผู้หมากเมีย

หมากผู้หมากเมีย

หมากผู้หมากเมีย เป็นต้นที่มีอยู่ด้วยกันหลายชนิดจากการผสมพันธุ์ เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็กที่มีใบเป็นสีแดงเขียวหรือสีแดงม่วง ส่วนของดอกเป็นสีม่วงแดงหรือสีชมพูสลับด้วยสีเหลืองอ่อนทำให้ดูสวยงาม จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง มักจะพบใกล้แหล่งน้ำ หรือใต้ต้นไม้ใหญ่ที่มีแสงแดดรำไร จึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับลงกระถางเพื่อประดับภายในอาคาร นอกจากนี้ยังเป็นต้นที่ชาวไทใหญ่และชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนนำดอกมาใช้บูชาพระ และยังเป็นต้นไม้แห่งความเชื่อของคนโบราณอีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของหมากผู้หมากเมีย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cordyline fruticosa (L.) A.Chev.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Cordyline” “Ti plant” “Dracaena Palm”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “มะผู้มะเมีย” ภาคเหนือเรียกว่า “หมากผู้” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ปูหมาก” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “ทิฉิ่ว ทิฉิ่วเฮียะ” จีนกลางเรียกว่า “เที่ยซู่”
ชื่อวงศ์ : วงศ์หน่อไม้ฝรั่ง (ASPARAGACEAE)

ลักษณะของหมากผู้หมากเมีย

ลำต้น : ลักษณะของลำต้นตั้งตรง ไม่มีกิ่งก้านสาขามากนัก
ใบ : ออกเป็นวงสลับกันบริเวณส่วนยอดของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปยาววงรี ปลายใบแหลม เป็นสีแดงเขียวหรือสีแดงม่วง แต่ว่าลักษณะของใบและสีของใบนั้นขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ปลูกด้วย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกบริเวณยอดลำต้น ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 6 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปทรงกระบอก ดอกเป็นสีม่วงแดงหรือสีชมพูสลับด้วยสีเหลืองอ่อน มีเกสรเพศผู้ 6 อัน รังไข่ 3 ห้อง
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผลมีลักษณะฉ่ำน้ำ ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1 – 3 เมล็ด

สรรพคุณของหมากผู้หมากเมีย

  • สรรพคุณจากราก แก้ปวดบวมอักเสบ ช่วยแก้ฟกช้ำดำเขียว
    – เป็นยาฟอกเลือด ด้วยการนำรากสดครั้งละ 30 – 60 กรัม รากแห้งครั้งละ 15 – 20 กรัม แล้วนำมาต้มกับน้ำทาน
    – แก้ไอและไอเป็นเลือด แก้วัณโรคปอด แก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ด้วยการนำรากสด 30 – 60 กรัม มาต้มกับน้ำทาน
    – แก้บิด แก้ท้องเสีย แก้ลำไส้อักเสบ แก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ด้วยการนำรากแห้ง 3 – 5 กรัม มาต้มเอาน้ำกิน
  • สรรพคุณจากใบ แก้ไข้หวัด แก้ไข้หวัดน้อย แก้ไข้หวัดใหญ่ แก้ไข้กำเดา แก้ไข้พิษ แก้ไข้กาฬ แก้ไข้หัวต่าง ๆ แก้ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยล้อมตับดับพิษ เป็นยาขับพิษ
    – เป็นยาแก้พิษกาฬ หรือพิษที่เกิดจากการติดเชื้อ ด้วยการนำใบมาต้มหรือแช่น้ำอาบแก้ไข้หัว หรือไข้ร่วมกับผื่นหรือตุ่ม เช่น หัด เหือด อีสุกอีใส เป็นต้น
    – แก้ไอและไอเป็นเลือด แก้อาการเจ็บกระเพาะอาหารหรือปวดกระเพาะ แก้บิด แก้ถ่ายเป็นมูกเลือด แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ด้วยการนำใบสด 15 – 30 กรัม มาต้มเอาน้ำกินเป็นยา
    – ช่วยแก้โลหิตกำเดา ด้วยการนำใบสด 30 – 60 กรัม ใบแห้ง 15 – 20 กรัม มาต้มกับน้ำกิน
    – แก้วัณโรคปอด แก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ด้วยการนำใบสด 60 – 100 กรัม มาต้มเอาน้ำกินเป็นยา
    – แก้บิดถ่ายเป็นมูก ด้วยการนำใบสด 30 – 40 กรัม เปลือกลูกทับทิมแห้ง 10 กรัม ผักเบี้ยใหญ่สด 30 กรัม และดอกสายน้ำผึ้ง 15 กรัม มาต้มกับน้ำทาน
    – แก้ถ่ายเป็นเลือด ด้วยการนำใบสด 30 – 40 กรัม มาต้มกับเนื้อหมูทาน
    – รักษาบาดแผล ด้วยการนำใบสดมาตำให้ละเอียดใช้เป็นยาพอกหรือทาบริเวณที่มีอาการ
    – ช่วยแก้อาการคันตามผิวหนังหรือเม็ดผดผื่นคันตามผิวหนัง ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำอาบ หรือใช้ร่วมกับใบหมากและใบมะยม
    – ช่วยบำรุงร่างกายและผิวพรรณ โดยตำรับไทลื้อนำใบมาสับแล้วตากให้แห้งใช้เข้ายาห่ม
  • สรรพคุณจากดอก
    – แก้ไอและไอเป็นเลือด แก้วัณโรค แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้ริดสีดวงทวาร ด้วยการนำดอกแห้ง 15 – 30 กรัม มาต้มเอาน้ำกินเป็นยา
    – แก้ประจำเดือนมามากเกินควร ด้วยการนำดอกสดครั้งละ 30 – 60 กรัม ดอกแห้งครั้งละ 10 – 15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
    – ช่วยแก้อาการปวดบวมอักเสบ ด้วยการนำดอกสดมาตำพอกบริเวณที่มีอาการ
  • สรรพคุณจากใบและดอก
    – ช่วยห้ามเลือด ด้วยการนำใบและดอกสดมาตำให้ละเอียดใช้เป็นยาพอก

ประโยชน์ของหมากผู้หมากเมีย

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนนำช่อดอกมาลวกกับน้ำพริกกินหรือนำไปแกง
2. เป็นความเชื่อและใช้บูชา ชาวไทใหญ่และชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนนำดอกมาใช้บูชาพระ คนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกไว้เป็นไม้ประจำบ้านจะทำให้มีความอยู่เย็นเป็นสุข
3. ปลูกเป็นไม้ประดับ

ข้อควรระวังของหมากผู้หมากเมีย

1. สตรีมีครรภ์ ห้ามรับประทานเด็ดขาด
2. เป็นยาที่มีพิษ ห้ามใช้ในปริมาณที่มากเกินควร

หมากผู้หมากเมีย ถือเป็นต้นที่โดดเด่นในด้านของการนำมาบูชา และในด้านของการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ด้วยความที่ใบมีสีสันสวยงาม จึงนิยมนำมาปลูกประดับอาคารกัน และยังเป็นไม้สำหรับไหว้บูชาพระอีกด้วย แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าส่วนต่าง ๆ ของต้นคือยาสมุนไพรที่ไม่ควรมองข้ามอีกชนิดหนึ่ง มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาฟอกเลือด แก้บิด แก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ และแก้วัณโรคปอดได้ ถือเป็นยาที่ดีต่อระบบเลือดในร่างกายเป็นอย่างมาก

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หมากผู้หมากเมีย”. หน้า 821-822.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หมากผู้หมากเมีย”. หน้า 616.
ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “หมากผู้หมากเมีย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [16 ก.ค. 2014].
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “หมากผู้หมากเมีย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [16 ก.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “Cordyline, Ti plant”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [16 ก.ค. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “หมากผู้หมากเมีย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [16 ก.ค. 2014].
ศูนย์ฝึกอบรมและควบคุมระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. “หมากผู้หมากเมีย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/49190283/. [16 ก.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
Cordyline fruticosa (L.) A. Chev.
https://powo.science.kew.org/taxon/urn:lsid:ipni.org:names:533580-1