บวบขม ปลูกเพื่อทำยาโดยเฉพาะ มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจและแก้ไข้

0
1586
บวบขม ปลูกเพื่อทำยาโดยเฉพาะ มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจและแก้ไข้
บวบขม เป็นไม้ล้มลุก ผลเป็นรูปกลมวงรีหรือรูปไข่ มีจุดประสีขาวทั่วผล ผลงอมีรสขม
บวบขม ปลูกเพื่อทำยาโดยเฉพาะ มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจและแก้ไข้
บวบขม เป็นไม้ล้มลุก ผลเป็นรูปกลมวงรีหรือรูปไข่ มีจุดประสีขาวทั่วผล ผลงอมีรสขม

บวบขม

บวบขม (Trichosanthes cucumerina) เป็นไม้ล้มลุกที่เลื้อยพันไปตามต้นไม้อื่นหรือตามพื้นดิน เนื้อในผลมีรสขมจึงไม่นิยมปลูกไว้ในสวนเพื่อรับประทานเป็นอาหารแต่จะปลูกไว้เพื่อใช้เป็นยาโดยเฉพาะ ซึ่งรสขมนั้นเป็นเพราะสาร “คิวเคอร์บิตาซิน” ในปริมาณมากที่อยู่ภายในบวบขม ถือว่าเป็นสารที่สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ดี จึงนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรโดยเฉพาะในตำรายาพื้นบ้านล้านนาและตำรายาไทย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของบวบขม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trichosanthes cucumerina L.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “นมพิจิตร” ภาคเหนือเรียกว่า “มะนอยจ๋า” ขาวเมี่ยนเรียกว่า “เล่ยเซ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์แตง (CUCURBITACEAE)

ลักษณะของบวบขม

บวบขม เป็นไม้ล้มลุกเลื้อยพันหรือทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน มีมือเกาะจับต้นไม้อื่นตลอดเถา มักจะพบตามริมน้ำหรือตามที่รกร้างทั่วไป
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปห้าเหลี่ยมหรือรูปโล่แกมรูปไตไปจนถึงรูปไข่กว้าง ปลายใบแหลมหรือกลม โคนใบเว้าเข้าหากลางใบหรือเป็นรูปหัวใจ ขอบใบจักเป็นซี่ฟันและมีรอยเว้าลึกทำให้เป็น 5 แฉก ผิวใบสากมือ มีขนทั้งสองด้าน เส้นใบเป็นร่องลึกเห็นได้ชัดและออกจากจุดเดียวกันที่โคนใบ 5 เส้น ก้านใบเล็กและมีขน
ดอก : ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่คนละต้น ก้านดอกเล็กคล้ายเส้นด้ายและมีขนเล็กน้อย กลีบรองดอกมีโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่แกมสามเหลี่ยม 3 เส้น กลีบอยู่ชิดกัน มีเกสรเพศผู้ 3 อัน เป็นรูปทรงกระบอก ดอกเพศเมียจะออกเป็นดอกเดี่ยวสีเหลืองโดยจะออกตามซอกใบ กลีบรองดอกและกลีบดอกมีลักษณะเหมือนกัน รังไข่เป็นรูปยาววงรีและมีขนยาวนุ่ม ท่อรังไข่เล็กเหมือนเส้นด้าย
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปกลมวงรีหรือรูปไข่ หัวท้ายแหลม ผิวผลเป็นสีเขียวมีตุ่มเล็กและขรุขระเล็กน้อย มีจุดประสีขาวทั่วผล ลายมีสีเขียวเข้มตามความยาวของผล ผลมักงอเล็กน้อยและมีรสขม
เมล็ด : ภายในมีเมล็ดอ่อนสีขาวจำนวนมากอัดแน่นกันเป็นแถว เมื่อแก่จะเป็นสีดำรูปหยดน้ำและแบน

สรรพคุณของบวบขม

  • สรรพคุณจากเถา เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจ เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ เป็นยาระบาย
    – ลดไข้ แก้หนองให้ตก ด้วยการนำเถามาต้มกับน้ำกินเป็นยา
    – ทำให้อาเจียน ด้วยการนำเถามาคั้นเอาน้ำกิน
    – แก้อาการอักเสบต่าง ๆ ช่วยฟอกเลือด ขับประจำเดือนและใช้กับคนไข่ท่อน้ำดีอักเสบ ด้วยการนำเถาใช้ร่วมกับต้นผักชี น้ำผึ้งและต้น Gentian กินเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบ
    – ลดไข้ เป็นยาระบาย ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำกินเป็นยา
  • สรรพคุณจากราก ทำให้อาเจียน เป็นยาระบาย เป็นยาขับพยาธิ
    – ลดไข้ แก้อาการปวดศีรษะ เป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำกินเป็นยา
    – เป็นยาถ่ายอย่างแรง ด้วยการต้มน้ำจากรากขนาด 60 มิลลิลิตร จะเป็นยารบกวนทางเดินอาหารอย่างมาก
  • สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำให้อาเจียน ช่วยขับเสมหะ เป็นยาแก้หืด เป็นยาถ่ายอย่างแรง เป็นยาขับพยาธิ เป็นยาขับประจำเดือนของสตรี ใช้ได้ดีกับคนไข้ธาตุพิการ
  • สรรพคุณจากผล เป็นยาแก้ร้อนในกระหาย ทำให้อาเจียน เป็นยาระบาย เป็นยาถ่ายอย่างแรง เป็นยาขับพยาธิ เป็นยาแก้ท่อน้ำดีอุดตัน
    – เป็นยาแก้ริดสีดวงจมูก ด้วยการนำรังหรือใยบวบขมแบบแห้งมาหั่นเป็นชิ้นเล็กหรือหั่นให้เป็นฝอยผสมกับเส้นยาสูบเล็กน้อยมวนเป็นบุหรี่สูบฆ่าเชื้อริดสีดวงจมูกทั้งที่เพิ่งเป็นใหม่ ๆ และเป็นมากขนาดหายใจออกมามีกลิ่นเหม็น
    – ช่วยย่อย ด้วยการนำผลแห้งมาต้มกับน้ำตาล
    – เป็นยาพอกศีรษะ แก้คัน แก้รังแคและฆ่าเหา โดยตำรายาไทยนำผลสดเป็นยาพอกโดยนำมาขยี้ฟอกศีรษะเส้นผมหลังสระผม แล้วหมักทิ้งไว้ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วค่อยล้างน้ำออก โดยให้ฟอกทุกครั้งหลังสระผม
  • สรรพคุณจากยอดอ่อน เป็นยาระบาย
  • สรรพคุณจากทั้งต้นและผล
    – ต้านการเจริญของเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ด้วยการสกัดทั้งต้นและผลด้วยแอลกอฮอล์
  • สรรพคุณจากเถา ผลและทั้งต้น ตำรายาพื้นบ้านล้านนาใช้เป็นยาหอมแก้ลมและบำรุงหัวใจ

ประโยชน์ของบวบขม

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลใช้ใส่ในแกงได้
2. ใช้ในอุตสาหกรรม เส้นใยใช้แทนฟองน้ำสำหรับล้างจานได้

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของบวบขม
สารที่พบในบวบขม พบสาร “คิวเคอร์บิตาซิน” ในปริมาณมากซึ่งเป็นสารขมที่เป็นลักษณะเฉพาะของพืชวงศ์นี้ เป็นสารกลุ่มไทรเทอร์ปีนที่มีออกซิเจนจำนวนมาก คิวเคอร์บิตาซินหลักในบวบขมจะเป็นคิวเคอร์บิตาซิน บี ซึ่งมีฤทธิ์แรงในการยับยั้งเซลล์มะเร็งช่องปากและจมูก (KB cell) เซลล์มะเร็งเต้านมชนิด ER positive และ ER negative
ผลการทดลอง น้ำคั้นและสารสกัดจากผลบวบขมด้วยอีเทอร์มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งหลายชนิดในหลอดทดลอง

บวบขม เป็นต้นที่มีรสขมมากจึงไม่เหมาะเท่าไหร่ที่จะนำมาใช้ประกอบอาหารทว่าเหมาะอย่างมากที่จะนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรโดยเฉพาะการทำลายเซลล์มะเร็งซึ่งเป็นโรคที่คนไทยเป็นกันมาก เป็นต้นที่มีสารสำคัญอย่าง “คิวเคอร์บิตาซิน” ซึ่งเป็นสารความขมแต่มีสรรพคุณสูง บวบขมมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของผลและเถา มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจ แก้ไข้ เป็นยาระบายและช่วยทำลายเซลล์มะเร็งได้ เป็นผลที่คู่ควรแก่การนำมาใช้ให้มากกว่าทุกวันนี้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “บวบขม (Buap Khom)”. หน้า 160.
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “บวบขม”. หน้า 217.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “บวบขม”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [30 พ.ย. 2014].
ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (รองศาสตราจารย์ ดร.วีณา จิรัจฉริยากูล). “บวบขม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [30 พ.ย. 2014].
ผู้จัดการออนไลน์. “บวบขม รังแก้รังแคริดสีดวงจมูก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th. [30 พ.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/