ก้างปลาเครือ ยาแก้ไข้ ช่วยสมานแผล ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

ก้างปลาเครือ ผลเป็นรูปกลมแป้นฉ่ำน้ำสีแดงสด เมื่อสุกจะเป็นสีดำ ยอดอ่อนของต้นมาใช้ทำอาหารได้

ก้างปลาเครือ

ก้างปลาเครือ (Phyllanthus reticulatus Poir) เป็นต้นที่มีชื่อแปลกประหลาดซึ่งมีลักษณะของผลเป็นรูปกลมแป้นฉ่ำน้ำสีแดงสด เมื่อสุกจะกลายเป็นสีดำกลมทำให้ดูโดดเด่น เป็นพืชในวงศ์มะขามป้อมที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย มักจะพบได้ในแกงแคหรือแกงคั่วเพราะสามารถนำยอดอ่อนของต้นมาใช้ทำอาหารได้ นอกจากนั้นยังสามารถนำมาใช้ทำยาสมุนไพรพื้นบ้านสำหรับแก้อาการได้เช่นกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของก้างปลาเครือ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus reticulatus Poir.
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดเชียงใหม่และอ่างทองเรียกว่า “ก้างปลาขาว” จังหวัดแพร่เรียกว่า “หมัดคำ” จังหวัดนครปฐมเรียกว่า “หมาเยี่ยว” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “อำอ้าย” จังหวัดสุพรรณบุรีเรียกว่า “ข่าคล่อง” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า “กระออง” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “ก้างปลาแดง” คนทั่วไปเรียกว่า “ขี้เฮียด ก้างปลาเครือ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ต่าคะโค่คึย สะแบรที” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “เกล็ดปลาน้อย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)

ลักษณะของก้างปลาเครือ

ก้างปลาเครือ เป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งเถาหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่มักจะพบตามป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรังและป่าผสมผลัดใบ สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
กิ่ง : มีขนเล็กน้อย กิ่งมีขนาดเล็ก
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย โคนใบมนหรือสอบ ขอบใบเกลี้ยง เส้นใบมี 5 – 9 คู่ หูใบเป็นรูปใบหอก ปลายเรียวแหลม โคนตัด เนื้อบางแห้ง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อสั้นตามง่ามใบช่อละ 1 – 3 ดอก โดยจะออกตามใบ ห้อยลงใต้ใบ มีลักษณะเล็กเป็นทรงกลมวงรี ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน เพศผู้มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอมแดง ไม่มีกลีบดอก มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านเกสรเพศผู้แยกหรือติดกัน จานฐานดอกมี 5 – 6 พู ดอกเพศเมียจะคล้ายกับดอกเพศผู้แต่มีรังไข่ 8 – 10 ช่อง มีออวุล 2 หน่วยต่อหนึ่งช่อง ก้านเกสรเพศเมียมีขนาดสั้นมาก ส่วนมากจะแยกออกเป็น 2 แฉก
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมแป้นฉ่ำน้ำสีแดง เมื่อสุกจะเป็นสีดำกลมโต
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 8 – 16 เมล็ด หน้าตัดของเมล็ดเป็นรูป 3 เหลี่ยมด้านไม่เท่า

สรรพคุณของก้างปลาเครือ

สรรพคุณจากก้างปลาเครือ ช่วยคลายกล้ามเนื้อเรียบ ต้านเชื้อรา ต้านยีสต์ ลดระดับน้ำตาลในเลือด
สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ขับพิษไข้หัวทุกชนิด แก้ไข้หวัด ไข้รากสาด ช่วยลดความร้อนในร่างกาย เป็นยาขับพิษ แก้เริม แก้งูสวัด แก้ไฟลามทุ่ง แก้ขยุ้มตีนหมา แก้ซางข้าวเปลือก แก้ฝีแดงและฝีทั้งปวง
– เป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการนำราก 120 กรัม มาทุบให้แหลกแล้วต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น
– เป็นยาแก้หอบหืด ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
สรรพคุณจากใบ
– เป็นยาแก้ไข้ เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
– เป็นยาสมานแผล ทำให้เย็นและถอนพิษฝี ด้วยการนำใบมาตำให้ละเอียดแล้วพอก
– แก้เลือดออกตามไรฟัน ด้วยการนำใบมาบดให้เป็นผงใช้ใส่แผลหรือปั้นเป็นลูกกลอนผสมกับการบูรและสารที่สกัดจากตะไคร้ต้น ทำการอมให้ละลายช้า ๆ
สรรพคุณจากผล เป็นยาฝาดสมานในระบบทางเดินอาหารและแก้อาการอักเสบต่าง ๆ
สรรพคุณจากต้น
– เป็นยาแก้บิดและแก้ท้องเสีย เป็นยาขับปัสสาวะ เป็นยาแก้น้ำเหลืองและฟอกโลหิต ด้วยการนำต้นมาต้มเอาน้ำรับประทาน

ประโยชน์ของก้างปลาเครือ

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนนำไปใช้ประกอบอาหารประเภทแกง เช่น แกงแค แกงคั่ว เป็นต้น

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของก้างปลาเครือ

สารที่พบในก้างปลาเครือ พบสาร betulin, friedelan, friedelin, taraxerone
การทดลองกับสัตว์
– การทดสอบความเป็นพิษ เมื่อฉีดสารสกัดที่อยู่เหนือดินของต้นก้างปลาเครือเข้าช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ตายครึ่งหนึ่งคือ 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
– เมื่อปี ค.ศ. 2007 ประเทศอินเดีย Kumas S และคณะได้ทำการทดลองใช้รากก้างปลาเครือในขนาด 500 และ 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวานโดยใช้สาร alloxan ผลการทดลองพบว่า ขนาดยาที่เหมาะสมคือ 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ที่ทำให้หนูมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และจากการทดลองยังพบสาร terpenoid glycoside, protein, carbohydrate, alkaloid, steroid อีกด้วย

ก้างปลาเครือ เป็นต้นที่พบได้ทั่วประเทศไทยแต่ส่วนมากคนไทยไม่ค่อยนำมาใช้สักเท่าไหร่ สามารถนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหารจำพวกแกงได้ ทว่าเป็นต้นที่มีชื่อเรียกแปลกในหลาย ๆ ท้องถิ่นจึงทำให้จำได้ง่าย มีการทดลองฤทธิ์และสรรพคุณของก้างปลาเครือมาตั้งแต่อดีตโดยเฉพาะในประเทศอินเดีย ก้างปลาเครือมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของรากและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ สมานแผล แก้ร้อนและลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้นที่เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวานจริง ๆ

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ก้างปลาเครือ”. หน้า 176/1.
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ก้างปลาเครือ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [18 มิ.ย. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ก้างปลาเครือ”. อ้างอิงใน : หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสร และคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [18 มิ.ย. 2015].
กรีนคลินิก. “ก้างปลา”. [ออนไลน์]. อ้างอิงใน : หนังสือเครื่องยาไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), พฤกษาน่าสน. เข้าถึงได้จาก : www.greenclinic.in.th. [18 มิ.ย. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/