พิลังกาสา ไม้ต้นตามที่สาธารณะ ป้องกันหลอดเลือดตีบและเส้นเลือดอุดตันได้

0
1664
พิลังกาสา ไม้ต้นตามที่สาธารณะ ป้องกันหลอดเลือดตีบและเส้นเลือดอุดตันได้
พิลังกาสา เป็นไม้ยืนต้นยอดอ่อนเป็นสีแดง ผลกลมโตสีแดง เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ
พิลังกาสา ไม้ต้นตามที่สาธารณะ ป้องกันหลอดเลือดตีบและเส้นเลือดอุดตันได้
พิลังกาสา เป็นไม้ยืนต้นยอดอ่อนเป็นสีแดง ดอกเป็นสีเหลืองนวล ผลกลมโตสีแดง เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ

พิลังกาสา

พิลังกาสา (Ardisia polycephala) เป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นต้นที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยพอควรเพราะเป็นต้นที่นิยมในการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามสถานที่ราชการหรือตามสวนสาธารณะทั่วไป มีดอกเป็นสีเหลืองนวลและออกดอกเป็นกลุ่มทำให้ดูสวยงาม ทว่าคนส่วนมากยังไม่รู้ว่าต้นพิลังกาสานั้นยังมีส่วนต่าง ๆ ของต้นที่สามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ และยังนำผลอ่อน ใบอ่อน ยอดอ่อนซึ่งมีรสชาติฝาดมันและเปรี้ยวอมหวานมาใช้รับประทานเป็นผักเหนาะได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของพิลังกาสา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ardisia polycephala Wall. ex A.DC.
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายเรียกว่า “ผักจำ ผักจ้ำแดง” จังหวัดเลยเรียกว่า “ตีนจำ” จังหวัดตราดเรียกว่า “ลังพิสา” จังหวัดชุมพรเรียกว่า “ทุรังกาสา” จังหวัดสงขลาเรียกว่า “ราม” ชาวมลายูนราธิวาสเรียกว่า “ปือนา” คนทั่วไปเรียกว่า “พิลังกาสา” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “จิงจ้ำ จ้ำก้อง มะจ้ำใหญ่ ตาปลาราม ตาเป็ด ทุกังสา มาตาอาแย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ PRIMULACEAE
ชื่อพ้อง : Tinus polycephala (Wall. ex A. DC.) Kuntze

ลักษณะของพิลังกาสา

พิลังกาสา เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อมที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปตั้งแต่หมู่เกาะริวกิวของประเทศญี่ปุ่นและกระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงอินเดียภาคใต้ มักจะพบตามป่าราบ ป่าโปร่งและป่าดิบเขาทั่วไป
ลำต้น : ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาออกรอบต้นแต่ไม่มากนัก
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นคู่ตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบไม่มีจัก แผ่นใบเป็นสีเขียวมันมีลักษณะหนาและใหญ่ ยอดอ่อนเป็นสีแดง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือตามส่วนของยอด ดอกเป็นสีเหลืองนวลหรืออาจเป็นสีชมพูอมขาวหรือสีขาวแกมชมพู เมื่อดอกบานเต็มที่จะมี 5 แฉก คล้ายรูปดาว
ผล : ผลมีลักษณะกลมโต ออกผลเป็นกระจุกมีก้านช่อยาวห้อยย้อยลงและก้านผลยาวเรียงสลับรอบก้านช่อ ผลอ่อนเป็นสีแดง เมื่อแก่หรือสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ

สรรพคุณของพิลังกาสา

  • สรรพคุณจากพิลังกาสา มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว ต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด รักษามาลาเรีย แก้อาการท้องเสีย แก้เกลื้อน ช่วยป้องกันเส้นเลือดตีบและเส้นเลือดอุดตัน ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันไม่ให้อนุมูลอิสระไปทำลายเซลล์ในร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดในสมองอุดตัน ป้องกันโรคท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ
  • สรรพคุณจากผล ช่วยแก้ธาตุพิการ แก้ไข้และแก้ไข้ในกองอติสารโรค แก้โรคเรื้อน
    – บำรุงโลหิต ด้วยการนำผลสุกมาตากแห้งบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นลูกกลอนกินหรือใช้ผงยา 1 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำครึ่งแก้วดื่ม
    – ช่วยแก้โรคระดูของสตรี ด้วยการนำผลสุกมาตากแห้งบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นลูกกลอนกิน
  • สรรพคุณจากใบ ช่วยแก้อาการไอ แก้ลม ช่วยแก้ปอดพิการ รักษาโรคตับพิการ
  • สรรพคุณจากใบและผล ช่วยแก้ท้องเสีย
  • สรรพคุณจากดอก เป็นยาแก้พยาธิ เป็นยาฆ่าเชื้อโรค
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้กามโรค แก้หนองใน
    – เป็นยาพอกปิดแผล ถอนพิษงูกัด แก้พิษงูหรือใช้กากพอกแผล ด้วยการเอาน้ำกิน
  • สรรพคุณจากเมล็ด ช่วยแก้ลมพิษ
  • สรรพคุณจากต้น เป็นยาฆ่าพยาธิผิวหนัง รักษาโรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อนและกุฏฐัง

ประโยชน์ของพิลังกาสา

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลอ่อน ใบอ่อน ยอดอ่อนนำมาทานเป็นผักเหนาะได้ ทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ ตามสถานที่ราชการหรือตามสวนสาธารณะทั่วไป

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพิลังกาสา

สารที่พบในพิลังกาสา พบสาร α – amyrin, rapanone
ฤทธิ์ของพิลังกาสา ช่วยยับยั้ง platelet activating factor receptor binding มีฤทธิ์เหมือนฮีสตามีน ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อ Aspergillus
การทดลอง
– มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยได้นำผลสุกของพิลังกาสามาทำเป็น “ไวน์พิลังกาสา” และได้นำไวน์นั้นไปตรวจวิเคราะห์ พบว่ามีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) สารฟีโนลิค (Phenolic) และฟลาโวนอยด์ (Phenolic flavannoid) สูง
– ผลของพิลังกาสาสุกจะเป็นสีม่วงเข้มจนเกือบดำโดยสีม่วงนี้จะมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยยับยั้งเชื้ออีโคไล (E. coli) ในระบบทางเดินอาหาร

พิลังกาสา เป็นต้นที่มีสารแอนโทไซยานินซึ่งเป็นสารสำคัญที่ช่วยป้องกันโรคเหมาะสำหรับทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพได้ และที่สำคัญยังเป็นไม้ประดับทั่วไปที่พบได้ตามที่สาธารณะ เป็นต้นที่สามารถนำมาใช้ทานเป็นผักเหนาะได้ พิลังกาสามีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของผลและราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ป้องกันเส้นเลือดตีบและเส้นเลือดอุดตัน ป้องกันโรคท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ บำรุงเลือดและรักษาโรคผิวหนัง เป็นต้นที่เหมาะอย่างมากสำหรับผู้สูงอายุหรือบุคคลที่เป็นโรคหลอดเลือดตีบซึ่งเป็นโรคที่คนไทยในปัจจุบันมักจะเป็นกัน

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “พิลังกาสา”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 560-561.
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “พิลังกาสา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [02 พ.ค. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “พิลังกาสา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [02 พ.ค. 2014].
ไทยโพสต์ ออนไลน์ 20 พฤษภาคม 2555.
หนังสือวัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี. (โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย).
ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “พิลังกาสา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [02 พ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/