ประดู่
ประดู่ เป็นไม้ยืนต้นสูงชะลูดที่มีดอกเป็นสีเหลืองแกมแสดซึ่งมีกลิ่นหอมแรง มีผลคล้ายกับรูปจานบินซึ่งค่อนข้างหาได้ยาก ทว่าประดู่ก็เป็นต้นไม้ที่คนไทยส่วนมากค่อนข้างรู้จัก เป็นต้นที่หาได้ทั่วไปและค่อนข้างมีชื่อเสียงพอสมควรเพราะนิยมปลูกกันตามที่สาธารณะและตามอาคารทั่วไปในเมือง ทว่าคนส่วนมากไม่ค่อยรู้จักนักว่าประดู่นั้นมีประโยชน์มากกว่าแค่การให้ความร่มเงาเท่านั้น ประดู่ยังเป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรในตำรับยา แถมยังเป็นต้นที่สามารถนำมารับประทานได้ และยังเป็นไม้ที่ให้คุณค่าทางเศรษฐกิจ ประเด็นสำคัญที่คนส่วนมากไม่รู้ก็คือ ประดู่เป็นต้นที่กรองฝุ่นละอองและกำจัดอากาศเสีย นั่นคือเหตุผลที่เราพบต้นประดู่ได้มากตามข้างทางทั่วไปในเมือง
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของประดู่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterocarpus indicus Willd.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Burma Padauk” “Narra” “Angsana Norra” “Malay Padauk” “Burmese Rosewood” “Andaman Redwood” “Amboyna Wood” “Indian rosewood”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ประดู่บ้าน ประดู่ลาย ประดู่กิ่งอ่อน อังสนา” ภาคเหนือเรียกว่า “ดู่บ้าน” ชาวมาเลย์นราธิวาสเรียกว่า “สะโน” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ดู่ ประดู่ป่า ประดู่ไทย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ลักษณะของต้นประดู่
ประดู่ เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศมาเลเซียหรือมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย อยู่ในแถบอันดามัน มัทราช เบงกอล มักจะพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทางภาคใต้
ลำต้น : ต้นจะผลัดใบก่อนการออกดอก มีการแตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่มกว้างและปลายกิ่งห้อยลง เปลือกลำต้นหนาเป็นสีน้ำตาลเทา แตกหยาบเป็นร่องลึก
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบออกรวมกันเป็นช่อ แต่ละช่อมีใบย่อยประมาณ 7 – 13 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปมนวงรี รูปไข่หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือค่อนข้างแหลม ขอบใบเรียบไม่มีหยัก แผ่นใบหนาเป็นสีเขียว ผิวใบมีขนสั้นปกคลุมด้านท้องใบมากกว่าด้านหลังใบ ก้านใบอ่อนมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย เส้นแขนงใบถี่โค้งไปตามรูปใบเป็นระเบียบ โคนก้านใบมีหูใบ 2 อันเป็นเส้นยาว
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะ โดยจะออกบริเวณซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง โคนก้านมีใบประดับ 1 – 2 อัน ลักษณะเป็นรูปวงรี กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ติดกันเป็นถ้วยสีเขียว ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉก แบ่งเป็นอันบน 2 กลีบติดกัน และอันล่าง 3 กลีบติดกัน กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีเหลืองแกมแสด ลักษณะของกลีบเป็นรูปผีเสื้อ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็น 2 – 3 กลุ่ม ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน ดอกมีกลิ่นหอมแรง จะบานและร่วงพร้อมกันทั้งต้น มักจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน
ผล : เป็นผลแห้งแบบ samaroid ลักษณะของผลเป็นรูปกลมหรือวงรีแบน ที่ขอบมีปีกบางคล้ายจานบิน แผ่นปีกบิดและเป็นคลื่นเล็กน้อย ที่ผิวมีขนละเอียด ตรงกลางนูนป่องซึ่งเป็นที่อยู่ของเมล็ด โดยภายในจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ผลอ่อนเป็นสีเขียวแกมเหลือง เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ผิวสัมผัสขรุขระเมื่อผลแก่
เมล็ด : เมล็ดมีลักษณะคล้ายกับเมล็ดถั่วแดง ผิวเรียบสีน้ำตาล
สรรพคุณของประดู่
- สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาบำรุงร่างกาย เป็นยาแก้ปากเปื่อยหรือปากแตก เป็นยาแก้โรคบิด เป็นยาสมานบาดแผล
- สรรพคุณจากแก่น เป็นยาบำรุงโลหิต บำรุงกำลัง บำรุงธาตุในร่างกาย เป็นยาขับยาเสมหะ เป็นยาแก้ผื่นคัน
– แก้ไข้และแก้พิษไข้ แก้เสมหะ ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล แก้โรคคุดทะราด ด้วยการนำแก่นเนื้อไม้มาต้มกับน้ำกินเป็นยา - สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้ไข้ แก้พิษไข้
- สรรพคุณจากใบ
– ช่วยบรรเทาอาการระคายคอ ด้วยการนำใบมาตากแห้งใช้ชงกับน้ำร้อนเป็นชาใบประดู่ - สรรพคุณจากผล เป็นยาแก้อาเจียน เป็นยาแก้ท้องร่วง
- สรรพคุณจากยาง เป็นยาแก้โรคปากเปื่อย
- สรรพคุณจากเปลือกต้นและยาง เป็นยาแก้อาการท้องเสีย
- สรรพคุณจากใบอ่อน
– แก้ผดผื่นคัน แก้แผล ใช้พอกฝีเพื่อทำให้ฝีสุกหรือแห้งเร็ว ด้วยการนำมาตำให้ละเอียดใช้เป็นยาพอก - สรรพคุณจากยางไม้ เป็นยาแก้โรคท้องเสีย
ประโยชน์ของต้นประดู่
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนและดอกนำมาลวกทานเป็นอาหารได้หรือนำมาชุบแป้งทอดเป็นอาหารว่างได้
2. ใช้ในอุตสาหกรรม ไม้มีคุณภาพดีเพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง ปลวกไม่ทำลายและมีสีสวย จึงนิยมนำมาใช้สร้างบ้านเรือน ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำเกวียน ทำเรือคานและเรือทั่วไป ทำเครื่องมือเครื่องใช้ ทำเครื่องดนตรีไทย ประดู่มีปุ่มประดู่ซึ่งมีเนื้อไม้ที่มีคุณภาพสูงและงดงามแต่จะมีราคาแพงมากและหาได้ยาก ส่วนของเปลือกมีน้ำฝาดที่ใช้ฟอกหนังได้ เปลือกและแก่นนำมาใช้ย้อมสีผ้าโดยเปลือกจะให้สีน้ำตาล ส่วนแก่นจะให้สีแดงคล้ำ
3. ใช้สระผม ใบมีรสฝาดจึงนำมาชงกับน้ำใช้สระผมได้
4. ปลูกเป็นไม้ประดับ นิยมปลูกตามอาคารหรือสถานที่สาธารณะทั่วไป เพื่อความร่มเงาและให้ความสวยงาม ช่วยกำจัดอากาศเสีย ช่วยกรองฝุ่นละอองและกันลมกันเสียง
5. ใช้ในการเกษตร ช่วยป้องกันลมและคลุมดินให้ชุ่มชื้น ช่วยรองรับน้ำฝนและช่วยลดแรงปะทะหน้าดิน ระบบรากหยั่งลึกและแผ่กว้างที่ช่วยยึดหน้าดินไว้ไม่ให้พังทลายได้ง่าย รากที่มีปมขนาดใหญ่ช่วยตรึงไนโตรเจนในอากาศมาเก็บไว้ในรูปของไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์ ใบเมื่อร่วงหล่นก็จะเกิดการผุพังกลายเป็นธาตุอาหารอินทรียวัตถุให้แก่ดินได้
6. เป็นความเชื่อ เชื่อว่าจะช่วยทำให้เกิดพลังแห่งความยิ่งใหญ่เพราะประดู่หมายถึงความพร้อม ความร่วมมือร่วมใจ มีพลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัยให้ปลูกต้นประดู่ไว้ทางทิศตะวันตกและให้ปลูกในวันเสาร์ ผู้ปลูกควรจะเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ นอกจากนั้นยังเป็นเป็นสัญลักษณ์ของกองทัพเรือไทย เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดอุตรดิตถ์และเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศพม่า ต้นประดู่เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดภูเก็ตและโรงเรียนอีกหลายแห่งในประเทศไทย
ประดู่ เป็นต้นไม้สูงขนาดใหญ่ที่คนทั่วไปมักจะปลูกเพื่อความร่มเงา ทว่าประโยชน์นั้นมีมากกว่าที่เรารู้กัน ถือเป็นต้นที่คู่ควรแก่การอนุรักษ์หรือปลูกเอาไว้เพื่อใช้ประโยชน์ได้มากมายและหลากหลายด้าน ที่สำคัญยังเป็นไม้ที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจอีกด้วย ประดู่มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของแก่นและเปลือกต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ บรรเทาอาการระคายคอ บำรุงร่างกาย บำรุงเลือดและแก้บิดได้ นอกจากนั้นยังเป็นต้นที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างหรืออุตสาหกรรมย้อมผ้าได้อีกด้วย
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ประดู่”. หน้า 446.
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 291 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า. (เดชา ศิริภัทร). “ประดู่ : ตำนานความหอมและบิดาแห่งราชนาวี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [04 ก.ย. 2014].
ไขปริศนา พฤกษาพรรณ, ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ประดู่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.il.mahidol.ac.th/e-media/plants/. [04 ก.ย. 2014].
โรงเรียนอุดมศึกษา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.udomsuksa.ac.th/Latphrao/Knowledge/vijai/thai_Abstrait.htm. [04 ก.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com
รูปอ้างอิง
https://www.flickr.com/