กัญชา
กัญชา ( Cannabis) คือ พืชล้มลุกใบเดี่ยวสามารถขยายพันธุ์ได้ในสภาพอากาศทั่วโลกพบมากในแถบตะวันออกกลาง ได้แก่ ตุรกี โมรอคโค และอัฟกานิสถาน รวมถึงโคลัมเบีย แม็กซิโก และประเทศไทย กัญชา มีชื่อภาษาอังกฤษเรียกอีกอย่างว่า Marijuana เป็นพืชในตระกูล CANNABACEAE เป็นตระกูลเดียวกับ “กัญชง” หรือ เฮมพ์ (Hemp) ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Cannabis Indica ภาษาจีนเรียกว่าต้น ต้าหมา ภาษาสันสกฤตเรียกว่ากัญชาภาษาฮินดีเรียกคำชา ภาษาไทยเรียก ต้นปุ๊น หรือ เนื้อ แม้ว่ากัญชงและกัญชาจะเป็นสายพันธุ์เดียวกันแต่มีคุณสรรพคุณที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งกัญชาถือได้ว่าเป็นยาแพทย์แผนไทย พบในตำราพระโอสถพระนารายณ์เป็นตำราวิชาการแพทย์แผนไทยที่เก่าแก่และใช้กันมาอย่างยาวนานตั้งแต่รัชสมัยพระนารายณ์มหาราช และตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ อยู่ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุตำรายา พ.ศ. 2556 แต่การปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ต้องได้รับอนุญาตและเป็นไปตามมาตรฐาน GAP องค์การเภสัชกรรม
ลักษณะของต้นกัญชา
กัญชา มีใบแฉกมนลึกลงไปในก้านหลายแฉก มีดอกสีเขียว ดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ใบและช่อดอกเพศเมียที่แห้งจะใช้สูบ ใบแห้งให้มีสมบัติทำให้มึนเมา ลำต้นใช้ทำเชือกป่านและทอผ้า ลักษณะโดยทั่วไปต้นกัญชามีความสูงประมาณ 2 ถึง 5 เมตร มีใบเลี้ยงคู่ เมื่อโตเต็มวัยลำต้นสูงประมาณ 2-4 เมตร ลักษณะใบจะแยกออกจากกันคล้ายในของต้นมันสำปะหลัง ที่ขอบทุกใบจะมีรอยหยักอยู่ระหว่างดอกเป็นช่อเล็กตามง่ามของกลุ่ม กัญชาใช้ได้ทั้ง กิ่ง ก้าน ใบ และช่อดอก เพื่อนำมาตากแห้งหรืออบแห้งแล้วบดเป็นผง
ปัจจุบันรูปแบบของกัญชานอกจากจะพบในลักษณะของกัญชาสด กัญชาแห้งอัดเป็นแท่ง และอาจจะพบในรูปแบบของ น้ำมันกัญชา หรือ Hashish Oil ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำได้จากการนำกัญชามาผ่านกระบวนการสกัดหลาย ๆ ครั้ง จึงได้เป็นน้ำมันกัญชาที่มีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทสูงถึง 20 ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะพบในลักษณะของยางกัญชา ที่มีลักษณะเป็นยางแห้งที่ได้จากใบและยอดดอกของกัญชาซึ่งโดยทั่วไปจะมีฤทธิ์แรงกว่ากัญชาสดและมีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประมาณ 4 ถึง 8 เปอร์เซ็นต์
พืชตระกูลกัญชามี 3 สายพันธุ์ คือ
- สายพันธุ์ Sativa ( กัญชง )
- สายพันธุ์ Indica ( กัญชาที่นิยมนำมาใช้ )
- สายพันธุ์ Ruderalis
พืชตระกูล Cannabis หรือ กัญชา 3 สายพันธุ์ ใหญ่ ๆ ได้แก่ สายพันธุ์ Sativa สายพันธุ์ Indica
และ สายพันธุ์ Ruderalis แต่สายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดได้แก่ Sativa และ Indica ส่วนสายพันธุ์ Ruderalis ไม่เป็นที่นิยม เพราะว่ามีค่า THC เปอร์เซ็นต์ ปริมาณน้อย แม้จะให้ผลผลิตเร็วที่สุดก็ตาม
เรื่องราวของกัญชา
ประวัติศาสตร์ของการใช้กัญชาเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ในอังกฤษและอเมริกาเพื่อรักษาอาการปวดและอาการคลื่นไส้
- ปี 1851 กัญชาได้รับบรรจุอยู่ในตำรายาของอเมริกา แต่ต่อมาในปี 1942 ได้ถูกถอดถอนออกไป
- ปี 1970 เป็นยุคฮิปปีที่คนหนุ่มสาวอเมริกาหันมาใช้กัญชาเพื่อการผ่อนคลายอย่างกว้างขวาง
- ปี 1990 ทางการแพทย์มีการค้นพบ Canabinoid System ( ระบบสารสกัดกัญชา ) ในสมอง และเป็นที่มาของการสนใจนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์
- ปี 2010 มี 11 รัฐในอเมริกามีการออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาในทางการแพทย์ แต่ไม่รับรองการใช้กัญชาเพื่อความเพลิดเพลิน ( Recreational Use )
- ปี 2014 มี 23 รัฐออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาในทางการแพทย์ และมี 5 รัฐอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อความเพลิดเพลิน ได้แก่รัฐ Alaska, Colorado, Oregon, Washington และ District of Columbia.
ในกัญชานั้นมีสารเคมีมากกว่า 104 ชนิดสารเคมีเหล่านี้เรียกรวมกันว่าสาร Cannabinoids แต่ที่สำคัญที่สุดมีอยู่ 2 ชนิดคือ THC กับ CBD
สารออกฤทธิ์ในกัญชา
- THC ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ( Psychoactive ) ทำให้เมาเคลิ้ม ประสาทหลอน และเกิดโรคจิต ( Psychosis )
- ในขณะที่สาร CBD มีฤทธิ์ทำให้สงบ ลดอาการวุ่นวาย และต้านฤทธิ์เมาประสาทหลอน
ดังนั้นในการนำกัญชามาใช้นั้นจะต้องทราบจุดประสงค์ที่แน่นอน และควรทราบปริมาณที่แน่นอนของสารทั้งสองชนิดในสารสกัดกัญชานั้น ควรทราบว่าสารทั้งสองชนิดนี้นอกจากจะมีอยู่ในกัญชาแล้ว ยังสามารถสังเคราะห์ขึ้นมาได้ด้วยการสังเคราะห์ขึ้นมาสามารถทำให้ทราบปริมาณของสารทั้งสองชนิดอย่างแม่นยำแน่นอน
ส่วนในใบกัญชานั้น แต่ละสายพันธุ์ให้ปริมาณของ THC กับ CBD แตกต่างกันไป มีการศึกษากัญชาในภาคเหนือของประเทศไทย พบว่ามีปริมาณสารทั้งสองอย่างแตกต่างกันมากแม้จะอยู่ในแหล่งเดียวกัน
และอย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่าการใช้กัญชานั้นมี
วัตถุประสงค์ในการใช้กัญชา
1. ใช้ในทางการแพทย์
ปัจจุบันกฎหมายได้ปลดล็อคกัญชาใช้ในการรักษาผู้ป่วยและการวิจัย
2. ใช้เพื่อความเพลิดเพลิน
กัญชาที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เพื่อความเพลิดเพลินนั้น ในต่างประเทศมักจะกำหนดให้มีปริมาณของสาร THC ต่ำมาก ๆ และแม้กระนั้น ก็ยังมีการควบคุมการใช้อย่างเคร่งครัด ทั้งปริมาณ สถานที่ที่จะใช้ สารทั้งสองชนิดที่มีอยู่ในกัญชานั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับความร้อน ดังนั้นจึงต้องนำมาสูบให้เข้าทางลมหายใจ หรือหากมีการสังเคราะห์เป็นของเหลวแบบเข้มข้นก็นำมาหยดไต้ลิ้นซึ่งจะมีการดูดซึมได้เร็วพอๆกับการสูบ แต่การกินเข้าไปจะไม่ได้ผลเพราะจะถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะอาหารเกือบหมด
ข้อดีของการใช้กัญชาทางการแพทย์นั้นมีการรับรองการใช้ ( ในต่างประเทศ )
ดังต่อไปนี้
1.รักษาภาวะเกร็งในโรคทางระบบประสาท Multiple Sclerosis
2.รักษาโรคลมชัก ( Epilepsy ) ชนิดรุนแรงบางชนิด
3.รักษาโรคสมองเสื่อมพาร์กินสัน Parkinson ( บางอาการ )
4.รักษาโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ Alzheimer ( ยังต้องศึกษาเพิ่มเติม )
5.แก้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด ( ที่ให้ยาชนิดอื่นแล้วไม่ได้ผล )
6.แก้ปวดจากมะเร็ง ปวดปลายประสาท ปวดเรื้อรัง
7.ใช้รักษามะเร็งสมอง มะเร็งต่อมลูกหมาก ( ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม )
8.ใช้เพิ่มน้ำหนักในผู้ป่วยโรคเอดส์ ( ช่วยให้ความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น )
9.ใช้รักษาต้อหิน ( ยังไม่ยืนยันผล )
10.ใช้รักษาโรค PTSD ( Post-Traumatic Stress Disorder ) คือ สภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างมาก อาทิ ภัยพิบัติ อุทกภัย แผ่นดินไหว การก่อการจราจล การฆาตกรรม สงคราม การปล้นฆ่า ข่มขืน เป็นต้น
11.ใช้รักษาโรควิตกกังวล
แต่ข้อบ่งชี้ทั้งหมดทั้งมวลนี้ยังต้องการการศึกษายืนยันอีกมาก และในแต่ละโรคนี้บางโรคเป็นผลของ THC บางโรคเป็นผลของ CBD จึงไม่สามารถนำกัญชามาใช้อย่างสุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่ทราบสัดส่วนและปริมาณของสารทั้งสองชนิดอย่างชัดเจน
ข้อเสียของการใช้กัญชา
ผลอย่างเฉียบพลันของกัญชานั้น อาจทำให้อารมณ์ครื้นเครงขึ้นแต่จะตามด้วยอาการง่วงซึมหากใช้ปริมาณมากจะทำให้ความจำลดลง และเพิ่มความวิตกกังวล ประสาทหลอนทางตาหวาดระแวง ( Paranoid ) และเกิดภาวะวิตกจริต ( Panic Attack ) หากใช้ในคนตั้งครรภ์ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการพัฒนาการของเด็กในครรภ์ ทำให้การสร้างน้ำนมแม่ลดลง และสารกัญชาจะเข้าไปในน้ำนมด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ในคนท้องและให้นมบุตร การใช้ในเด็กจะนำไปสู่การติดสารเสพติดชนิดอื่นมากขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
กฎการควบคุมการใช้กัญชา
ประเทศสหรัฐอเมริกามีการใช้สารจากกัญชามากที่สุดในโลก โดยพบว่ามีการใช้ในทางการแพทย์ 30 รัฐ ใช้เพื่อการผ่อนคลาย 9 รัฐ แต่รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกายังถือเป็นสารต้องห้าม แต่ในรัฐที่อนุญาตให้ใช้นั้นก็มีระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องมีปริมาณสาร THC ไม่เกิน 0.5-5% แล้วแต่รัฐ และมีปริมาณสาร CBD มากกว่า 5% ขึ้นไป
ประเทศแคนาดา สามารถใช้ทางการแพทย์ได้ไม่ผิดกฎหมายหากมีข้อบ่งชี้ชัดเจน
ประเทศออสเตรเลียและประเทศอังกฤษ ถือว่าการเสพกัญชาผิดกฎหมาย ส่วนการใช้ทางการแพทย์ต้องผลิตโดยบริษัทที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น แพทย์ที่จะใช้ก็ต้องขึ้นทะเบียน ผู้ป่วยที่ใช้ก็ต้องลงทะเบียน ติดตามได้ ผู้ปลูกก็ต้องขึ้นทะเบียน
ประเทศเนเธอร์แลนด์นั้นจะเหมือนกับประเทศออสเตรเลีย แต่สามารถปลูกใช้ในครัวเรือนได้ไม่เกิน 5 ต้น และสามารถสูบกัญชาได้ในสถานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
ประเทศที่ถือว่ากัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมายทุกกรณีได้แก่ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์
ประเทศไทย กฎหมายได้ปลดล็อคกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยและการวิจัย แบ่งออกได้ 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มที่ 1 ใช้เพื่อการรักษาโรค
– ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด
– อาการปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีต่างๆไม่ได้ผล
– ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
– โรคลมชักรักษายากในเด็กและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา - กลุ่มที่ 2 ใช้เพื่อควบคุมอาการ
– โรคพาร์กินสัน
– โรคอัลไซเมอร์
– โรควิตกกังวล
– โรคปลอกประสาทอักเสบ
– ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
– ผู้ป่วยที่ดูแลแบบประคับประคอง - กลุ่มที่ 3 สำหรับศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
– โรคมะเร็ง
การนำสารสกัดกัญชามาใช้นั้นมีหลายรูปแบบทั้งสูด กิน หยดใต้ลิ้น และปัจจุบันมีชนิดกินโดยผสมในขนมต่าง ๆ เช่น นำมาทำอาหาร เครื่องดื่ม คุ๊กกี้ บราวนี เค๊ก Oeo Keef Kat ทำเป็นเนยกัญชา ขี้ผึ้งกัญชา น้ำมันกัญชา
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
สมยศ ศุภกิจไพบูลย์. (เมษายน 2562). กัญชายาวิเศษ.(192). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พิมพ์เอง.
นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล (Kampanart Tansithabudhkun, M.D.)
รวบรวมมาจากการประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย วันที่ 26 เมษายน 2562 ผู้นำเสนอ คือ
รศ.พญ.สุดา วรรณประสาท มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผศ.นพ.วรพันธ์ เกรียงสุนทร ศิริราชพยาบาล
ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ โรงพยาบาลรามาธิบดี