เถาวัลย์ปูน
เถาวัลย์ปูน (Cissus repanda) เป็นไม้เลื้อยที่มีดอกเป็นรูปหัวใจโดดเด่นอยู่บนต้น ใบของต้นมีรสเปรี้ยวจนสามารถนำมาใช้แทนมะนาวได้ ในปัจจุบันมีการนำเถาวัลย์ปูนมาปลูกเป็นไม้ประดับกันอย่างมากโดยนำมาทำเป็นไม้โขด เป็นไม้ในวงศ์องุ่นที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรโดยเฉพาะส่วนของเถาจากต้น เป็นไม้ที่ไม่ควรมองข้ามเพราะนอกจากจะสามารถนำใบมารับประทานได้แล้วนั้นยังนำมาประดับบ้านได้และยังมีสรรพคุณทางยาได้อีกด้วย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเถาวัลย์ปูน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cissus repanda (Wight & Arn.) Vahl
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ส้มเฮียก” ภาคตะวันตกเฉียงเหนือเรียกว่า “เครือเขาน้ำ เคือคันเขาขันขา เคือเขาคันเขา ส้มละออม” จังหวัดเชียงรายเรียกว่า “เครือจุ้มจ้า” จังหวัดอุตรดิตถ์เรียกว่า “เถาพันซ้าย” จังหวัดกรุงเทพมหานคร “เถาวัลย์ปูน” ชาวลัวะเรียกว่า “ส้มออบ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์องุ่น (VITACEAE)
ลักษณะของเถาวัลย์ปูน
เถาวัลย์ปูน เป็นพรรณไม้เถาขนาดเล็ก มักจะพบตามป่าทั่วไปและภูเขาหินปูน
เถา : เถานั้นจะมีละอองเป็นสีขาวเกาะจับกันอย่างหนาแน่นจนมองดูเป็นสีนวล มือเกาะคล้ายเถาตำลึง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวขนาดเท่าฝ่ามือ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจเฉือนปลายแหลม ตรงกลางใบและริมทั้งสองข้างแหลมเป็นสามยอด ตรงกลางจะสูงและมีเว้าตรงข้าง
ดอก : ดอกมีลักษณะคล้ายดอกเถาคัน
สรรพคุณของเถาวัลย์ปูน
- สรรพคุณจากเถา รักษาโรคกระษัยและน้ำมูกพิการ เป็นยาขับเสมหะ เป็นยาขับปัสสาวะและแก้ปัสสาวะพิการ ทำให้เส้นเอ็นหย่อนหรือผ่อนคลาย
- สรรพคุณจากใบ
– เป็นยารักษาแผลสด ด้วยการนำใบสดขยี้กับปูนกินหมากแล้วเอาฟองมาทาพอกแก้อาการ
ประโยชน์ของเถาวัลย์ปูน
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบใช้ใส่ในแกงบอนทำให้มีรสเปรี้ยวซึ่งใช้แทนมะนาวได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ นิยมทำเป็นไม้โขด
เถาวัลย์ปูน มีจุดเด่นอยู่ที่เถาซึ่งมีสีขาวจนทำให้ต้นดูเป็นสีนวลและมีรสฝาดเปรี้ยว อีกทั้งยังเป็นส่วนที่อุดมไปด้วยสรรพคุณทางยารักษา สมัยนี้ชาวสวนหรือผู้ขายต้นไม้นิยมนำเถาวัลย์ปูนมาทำเป็นไม้โขดเพื่อขายสำหรับปลูกประดับกันเป็นจำนวนมาก สามารถหาซื้อได้ทั่วไปทั้งร้านค้าโดยตรงและร้านออนไลน์ เถาวัลย์ปูนมีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ปัสสาวะพิการและรักษาแผลสดได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เถาวัลย์ปูน”. หน้า 348-349.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เถาวัลย์ปูน, เถาพันซ้าย”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [12 ธ.ค. 2014].