แจง ไม้ไทยหายาก ช่วยบำรุงร่างกาย ดีต่อระบบขับปัสสาวะ
แจง หรือต้นแกง ต้นแจงเป็นต้นไม้หายาก เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัด รรพคุณทางยาต่อร่างกายมากมาย

แจง

แจง (Maerua siamensis) หรือเรียกอีกอย่างว่า “ต้นแกง” เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเรา ส่วนมากมักจะพบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นแจงเป็นต้นไม้หายากที่กำลังจะถูกลืมเพราะไม่เป็นที่รู้จักกันมากนักจึงควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง และยังเป็นต้นที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากและมีสรรพคุณทางยาต่อร่างกายมากมายอีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของแจง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Maerua siamensis (Kurz) Pax
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “แกง” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “แก้ง แจ้ง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กุ่ม (CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE)
ชื่อพ้อง : Crateva mucronulata Kuntze, Niebuhria siamensis Kurz

ลักษณะของต้นแจง

ต้นแจง เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มักจะพบตามป่าละเมาะ ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรังแล้ง ป่าโปร่งแห้ง เขาหินปูน
ลำต้น : แตกกิ่งแขนงมากมายคล้ายกับไม้พุ่ม กิ่งก้านแตกออกแผ่เป็นรูปร่ม
เปลือกต้น : เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวเข้มจนเกือบดำ เปลือกเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ
ใบ : เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือออกสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 3 ใบ เป็นรูปไข่กลับ รูปขอบขนานหรือรูปแถบ ปลายใบสอบเรียวหรือกลม หรือเว้าตื้นเล็ก ๆ มีหนามแหลมสั้น ๆ โคนใบสอบเป็นรูปลิ่มหรือมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาและเกลี้ยงทั้งสองด้าน แผ่นใบแตกแขนงมาก
ดอก : ออกดอกเป็นช่อเชิงหลั่นหรือช่อกระจะตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีเขียวอมสีขาว ไม่มีกลีบดอก แต่มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ ขอบมีขนคล้ายกับเส้นไหม ออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม
ผล : เป็นรูปทรงกลมวงรีหรือรูปกระสวย ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม ออกผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2 – 3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต

สรรพคุณของแจง

  • สรรพคุณจากราก แก้อาการป่วยจากร่างกายซูบผอม เสื่อมโทรม ปวดเมื่อยหรือโลหิตจาง รักษาฝีในคอ ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้อาการปัสสาวะปวดหรือปัสสาวะแบบกะปริดกะปรอย แก้อาการน้ำปัสสาวะขุ่นข้นหรืออาจมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ แก้อาการปวดเมื่อย
    – บำรุงกำลังและบำรุงร่างกาย ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
    – แก้อาการบวม ด้วยการนำรากมาต้มแล้วนำไอน้ำมาอบ
  • สรรพคุณจากต้น
    – บำรุงธาตุในร่างกาย ทำให้กระปรี้กระเปร่าและแข็งแรง แก้อาการปวดหลัง ด้วยการนำต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากทั้งต้น แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้ดีพิการ
    – แก้ดีซ่าน แก้ไข้จับสั่น ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
    – แก้ขัดเบา ด้วยการนำต้นแจงทั้งห้า ชะพลู แก่นไม้สัก อย่างละ 3 ตำลึง มาใส่หม้อดินกับน้ำ 3 ส่วน แล้วต้มเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ใช้ดื่มเป็นยาเช้าเย็น
  • สรรพคุณจากแก่น แก้ไข้ตัวร้อน
  • สรรพคุณจากใบ แก้ฟันผุ
    – แก้อาการฟกช้ำ แก้อัมพฤกษ์อัมพาต ช่วยลดความปวดเมื่อยล้าสำหรับสตรีคลอดบุตร ด้วยการนำใบใช้เข้าลูกประคบเป็นยา
  • สรรพคุณจากยอดอ่อน
    – รักษาโรครำมะนาด แก้อาการปวดฟัน ด้วยการนำยอดอ่อนมาผสมกับเกลือ
    – แก้ตาฝ้าฟาง ด้วยการนำยอดอ่อนมาต้มแล้วใช้ล้างหน้า
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น ราก ใบ
    – แก้ดีซ่าน แก้ไข้มาลาเรีย แก้อาการหน้ามืดตาฟาง ด้วยการนำเปลือกต้น รากและใบมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากใบและยอด เป็นยาแก้ไข้
    – ทำให้ฟันทน ปากหอม ฟันขาวสะอาดสดชื่น ด้วยการนำใบและยอดมาตำหรือโขลกให้พอแหลกแล้วปั้นกลม ๆ เป็นลูกกลอนขนาดเท่าหัวแม่มือนำมาใช้สีฟัน
    – เป็นยาฆ่าแมงกินฟัน ด้วยการนำใบและยอดมาตำหรือโขลกให้พอแหลกแล้วปั้นกลม ๆ เป็นลูกกลอนขนาดเท่าหัวแม่มือนำมาใช้อม
  • สรรพคุณจากเปลือกและราก
    – แก้อัมพฤกษ์อัมพาต ด้วยการนำเปลือกไม้และรากมาต้มอาบ อบหรือกินแก้อาการ

ประโยชน์ของแจง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกอ่อนและยอดอ่อนนำมาดองใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก ซึ่งคนอีสานเรียกว่า “คั้นส้ม”
2. เป็นความเชื่อของคนอีสาน เชื่อว่าหากได้รับประทานคั้นส้มของยอดอ่อนปีละครั้งจะช่วยป้องกันสภาวะสายตายาวได้ และยังช่วยบำรุงสายตาได้ดี
3. ใช้ในการเกษตร ผลใช้เป็นอาหารของนกได้ ในสมัยก่อนนำใบมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาขนสัตว์
4. เป็นไม้ปลูกประดับ ดอกและผลมีลักษณะสวยงามและแปลกตา สามารถปลูกให้ความร่มรื่นและร่มเงาได้
5. ใช้ในอุตสาหกรรม ลำต้นเป็นส่วนผสมหลักในการผลิตลูกแป้งหรือแป้งข้าวหมาก ไม้สีขาวอ่อนนิยมนำมาเผาเอาถ่าน
6. ใช้ในการเรียนรู้ นิยมนำมาใช้เป็นตัวอย่างในการเรียนการสอนทางชีววิทยาเนื่องจากต้นแจงสามารถดูอายุขัยของวงปีต้นไม้ได้

แจง เป็นต้นที่มีประโยชน์มากมายหลายด้าน สามารถนำทั้งต้นมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ นอกจากนั้นยังมีดอกที่สวยงามจนนำมาปลูกประดับไว้ได้เช่นกัน มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงร่างกาย แก้ไข้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขับปัสสาวะ และช่วยรักษาฟันได้ดีอีกด้วย เป็นต้นไม้ไทยที่คู่ควรแก่การรักษาและอนุรักษ์ไว้อย่างยิ่ง

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “แจง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 90.
ป่าไม้และพรรณพฤกษชาติ หมู่เกาะแสมสาร, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “พรรณไม้ของสังคมพืชป่าดิบแล้ง (ฝั่งทะเล)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/exploration/sms_plants/. [3 มี.ค. 2014].
ฐานข้อมูลชนิดพรรณพืช พื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี, คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “แจง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.en.mahidol.ac.th/conservation/. [3 มี.ค. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “แจง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [3 มี.ค. 2014].
บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “แจง”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [3 มี.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “แจง”. อ้างอิงใน: หนังสือ Flora of Thailand, Volume 5, Part 3, Page 266-267. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [3 มี.ค. 2014].
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี. “แจง”. อ้างอิงใน : หนังสือไม้ดอกไม้ประดับ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.skn.ac.th. [3 มี.ค. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “แจง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [3 มี.ค. 2014].
หน่วยงานอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “แจง พันธุ์ไม้อันทรงคุณค่าในสยามกำลังถูกลืม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rdi.ku.ac.th. [3 มี.ค. 2014].
พรรณไม้งาม, ฝ่ายอาคารสถานที่และซ่อมบำรุง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์. “แจง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dpu.ac.th/building/. [3 มี.ค. 2014].