ต้นฝ้ายขาว เมล็ดเป็นยารักษาอาการสมรรถภาพทางเพศเสื่อม

0
1461
ฝ้ายขาว
ต้นฝ้ายขาว เมล็ดเป็นยารักษาอาการสมรรถภาพทางเพศเสื่อม เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดเล็ก ดอกมีสีชมพู กลางดอกมีสีม่วงอ่อน ผลทรงกลมเปลือกแข็งมีสีดำหรือสีน้ำตาล และมีขนสีขาว
ฝ้ายขาว
เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดเล็ก ดอกมีสีชมพู กลางดอกมีสีม่วงอ่อน ผลทรงกลมเปลือกแข็งมีสีดำหรือสีน้ำตาล และมีขนสีขาว

ฝ้ายขาว

ฝ้ายขาว มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ในประเทศไทยจะพบได้มากทางภาคเหนือ[1],[2],[3] เป็นพรรณไม้ที่เป็นได้ทั้งส่วนผสมของยาสมุนไพรที่ใช้รักษาโรค และเป็นได้ทั้งวัตถุดิบในด้านอุตสาหกรรมที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ในบทความนี้ทางเราจะขอมานำเสนอพรรณไม้ที่มีชื่อว่า “ต้นฝ้ายขาว” ชื่อสามัญ Cotton plant[2],[4], Cotton, Sea Iceland Cotton[5] ชื่อวิทยาศาสตร์  Gossypium herbaceum L. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ชบา (MALVACEAE)[1] ชื่ออื่น ๆ ฝ้ายเทศ (ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย), เหมียวฮวา เฉ่าเหมียนฮวา (ภาษาจีนกลาง)[2],[3], ฝ้ายดอก (จังหวัดเชียงใหม่), ฝ้ายชัน (จังหวัดลำปาง), ฝ้าย ฝ้ายไทย ฝ้ายหีบ (ประเทศไทย) เป็นต้น[5]

ลักษณะของฝ้ายขาว

ต้น
– เป็นพันธุ์ไม้ประเภทไม้พุ่มยืนต้นที่มีขนาดเล็ก และมีอายุขัยอยู่ได้นานหลายปี
– ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ลำต้นมีสีเขียวและมีขนขึ้นปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่นทั่วทั้งลำต้น ลำต้นแตกกิ่งก้านค่อนข้างน้อย
– ความสูงของต้น ประมาณ 1-3 เมตร
– ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย
ใบ
– ใบมีรูปร่างเป็นรูปไข่กว้าง ตรงปลายใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบและมีลักษณะเว้าแยกเป็นแฉก 3-5 แฉก และบริเวณโคนใบมีลักษณะเป็นรอยเว้าเล็กน้อย
– ใบจะออกเรียงสลับกัน โดยใบจะมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว[1],[2],[3]
– ใบมีขนาดความกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร และก้านใบมีความยาวประมาณ 2.5-8 เซนติเมตร
ดอก
– กลีบดอกมีสีชมพู ตรงบริเวณใจกลางดอกมีสีม่วงอ่อน กลีบดอกมี 5 กลีบ มีขนาดความกว้างประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ดอกมีใบประดับห่อหุ้มดอกเอาไว้ ตรงปลายใบมีลักษณะเป็นเส้นเรียวแหลมอยู่ประมาณ 12 เส้น ดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นรูปร่างสามเหลี่ยม ตรงขอบเป็นรอยฟันเลื่อย มีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร และดอกมีเกสรเพศผู้อยู่เป็นจำนวนมาก
– ดอกจะออกที่บริเวณปลายกิ่งและที่ซอกใบ ดอกมีลักษณะเป็นดอกเดี่ยว
– ออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมไปจนถึงช่วงเดือนกันยายน[1],[2],[3]
ผล
– ผลมีลักษณะเป็นผลแห้ง ผลมีรูปร่างเป็นทรงกลม โดยผลจะแตกออกตามพู แยกออกเป็น 3-4 ซีก
– ต้น จะออกผลเมื่อดอกร่วงโรยลงไปแล้ว[1],[2],[3]
เมล็ด
– เมล็ดมีเป็นจำนวนมากอยู่ภายในผล เมล็ดมีรูปร่างค่อนข้างกลม มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เมล็ดมีเปลือกแข็งมีสีดำหรือสีน้ำตาล และมีขนสีขาวขึ้นห่อหุ้มทั่วทั้งเมล็ด

สรรพคุณของฝ้ายขาว

1. รากและเปลือกราก นำมาใช้ทำเป็นยาแก้อาการประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ช่วยแก้อาการตกขาว และช่วยขับประจำเดือนของสตรี (สตรีมีครรภ์ห้ามใช้เนื่องจากจะทำให้แท้งบุตรได้) (ราก, เปลือกราก)[1],[2]
2. รากมีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะและแก้อาการไอ (ราก)[3]
3. รากมีฤทธิ์เป็นยารักษาโรคหอบ (ราก)[3]
4. รากมีสรรพคุณเป็นยาห้ามเลือด (ราก)[3]
5. รากมีฤทธิ์เป็นยาแก้อาการตับอักเสบเรื้อรัง (ราก)[3]
6. รากมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคหลอดลมอักเสบ (ราก)[3]
7. รากมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง (ราก)[3]
8. รากมีฤทธิ์เป็นยารักษาโรคกระษัยลม (ราก)[3]
9. รากมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการตัวบวม (ราก)[3]
10. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการตกเลือด และอาการตกขาวของสตรี (เมล็ด)[3]
11. เมล็ดมีฤทธิ์เป็นยารักษาอาการอั้นปัสสาวะไม่อยู่ (เมล็ด)[3]
12. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยารักษาริดสีดวง (เมล็ด)[3]
13. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการถ่ายเป็นเลือด (เมล็ด)[3]
14. เมล็ดมีฤทธิ์เป็นยารักษาอาการสมรรถภาพทางเพศเสื่อม (เมล็ด)[3]
15. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงไต (เมล็ด)[3]
16. น้ำมันที่สกัดมาจากเมล็ดนำมาใช้เป็นยาภายนอก มีสรรพคุณเป็นยารักษาฝีหนองภายนอก และโรคกลากเกลื้อน (น้ำมันจากเมล็ด)[3]
17. น้ำมันที่สกัดมาจากเมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาลดระดับไขมันเลือด (น้ำมันจากเมล็ด)[4]
18. น้ำมันที่สกัดมาจากเมล็ดมีฤทธิ์เป็นยารักษาโรคผิวหนัง มีส่วนช่วยทำให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้นยิ่ง และรักษาอาการแผลมีหนองเรื้อรัง (น้ำมันจากเมล็ด)[4]
19. ฝ้ายที่ได้มาจากต้น ส่วนมากมักจะนำมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม และเส้นใยที่เหลืออยู่กับเมล็ดจะนำมาทำพรม หรือนำมาทำเป็นเส้นใยเทียม เช่น เรยอน ฯลฯ เป็นต้น
20. ในทางการแพทย์จะนำฝ้ายมาใช้ทำสำลีหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ และนำมาใช้เตรียมเป็นยาแผนปัจจุบันอีกด้วย[5]
21. ใยฝ้ายสีขาวนำมาทอผ้า โดยผ้าที่ได้จะเรียกว่าผ้าฝ้าย[2]
22. น้ำมันที่สกัดมาจากเมล็ด สามารถนำมาใช้เป็นน้ำมันสำหรับใช้หุงต้มได้[5]

ขนาดและวิธีการใช้

1. รากแห้งให้ใช้ในปริมาณครั้งละ 15-35 กรัม และ เมล็ดให้ใช้ในปริมาณครั้งละ 6-15 กรัม โดยวิธีการนำมาปรุงเป็นยานั้นจะเหมือนกันคือ นำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับรับประทานเป็นยาภายใน และนำมาใช้ภายนอกโดยการนำน้ำที่ต้มมาอาบหรือใช้สำหรับล้างบาดแผล[3]
2. น้ำมันจากเมล็ด จะมีวิธีนำมาใช้อยู่ 2 วิธีคือ 1. บรรจุแคปซูล 1-2 แคปซูล ใช้ทานเป็นยา โดยให้ทานเป็นเวลาทั้งเช้าและเย็น และ 2. นำมาปรุงอาหาร ใช้ทานเป็นยากึ่งอาหารบำรุงร่างกาย ทานเป็นเวลาทั้งเช้าและเย็น[4]

ข้อควรรู้

ในวงศ์เดียวกัน เช่น Gossypium barbadense L. และ Gossypium hirstum L. สามารถนำมาใช้แทนกันได้ เพราะมีสรรพคุณที่ใกล้เคียงกัน[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

1. จากการวิจัยต้นพบว่า มีฤทธิ์ช่วยลดระดับไขมันในเลือด ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยคุมกำเนิด ทำให้ฮอร์โมนเพศชาย (testosterone) ลดลง และยับยั้งการสร้างอสุจิ เป็นต้น[4]
2. จากการวิจัยพบว่าต้นมีสารสำคัญ อันได้แก่ palmitic acid, gossypol, kaempferol, satirane, phytin, alamine, tocopherol, triacontane, apocynin, gossyptrin, aspartic acid, glutamic acid, glycine, gossypetin, serine และ thrconin[4]
3. จากการวิจัยความเป็นพิษของต้นในหนูขาว ผลพบว่าไม่เกิดอาการที่เป็นพิษ[4]
4. จากการวิจัยพบว่าสารที่สกัดมาจากกิ่งและรากของต้น มีฤทธิ์ที่สามารถต่อต้านเชื้อไวรัสไข้หวัด และเชื้อ Coccus, Staphelo coccus ได้[3]
5. จากการวิจัยนำสาร Gossypol ในต้นมาฉีดให้หนูทดลองที่มีอาการไอ ผลพบว่าสารดังกล่าวสามารถรักษาอาการไอ อีกทั้งยังช่วยขับเสมหะได้อีกด้วย[3]
6. จากการวิจัยพบว่าในเปลือกราก ในเมล็ด และน้ำมันที่สกัดมาจากเมล็ดของต้น มีสารสำคัญอย่างสาร Acetovanilone, Asparagin, Kaempferol, Quercimeritri, Gossypetin, Berbacitrin และ Cossypitrin อยู่[3]
7. จากการวิจัยสารที่สกัดได้มาจากใบ กิ่ง และราก โดยการนำมาทดลองกับหนูทดลอง พบว่าสารสกัดทั้งหลายดังกล่าวได้เข้าไปกระตุ้นการบีบตัวของมดลูกในหนูทดลองอย่างแรง[3]

ข้อควรระวังในการใช้

  • สตรีที่มีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานสมุนไพรหรืออาหารที่มีส่วนประกอบ เพราะจะทำให้แท้งบุตรได้[2]

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ฝ้าย (Fai)”. หน้า 185.
2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ฝ้ายขาว”. หน้า 517-518.
3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ฝ้ายขาว”. หน้า 364.
4. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ฝ้าย” หน้า 128-129.
5. พืชให้เส้นใย, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ฝ้าย”. อ้างอิงใน : หนังสือพืชไร่ Guide for Field Crops in Tropics and the Subtropics Samuel. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/use/fiber1.htm. [14 พ.ย. 2014].
6. https://medthai.com

อ้างอิงรูปจาก
1.https://indiagardening.com/