ละหุ่ง
เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดเล็ก ใบรูปฝ่ามือขอบใบมีรอยหยักปลายแฉกแหลม ดอกเป็นกระจุกสีนวลขาว ผลมีขนขึ้นปกคลุม

ละหุ่ง

ต้นละหุ่ง พรรณไม้ส่งออกขายอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย พรรณไม้ที่ชาวสวนชาวไร่นิยมปลูกสำหรับป้องกันศัตรูพืช และพรรณไม้ที่เด่นในเรื่องสรรพคุณอันหลากหลาย แต่เมล็ดกลับมีพิษร้ายเป็นอันตรายต่อชีวิต มีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกาตะวันออก ในต่างประเทศสามารถพบได้ที่ประเทศอินเดีย และบราซิล ประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภูมิภาค (ประเทศไทยได้ถูกจัดให้เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกอีกด้วย) ชื่อสามัญ Castor, Castor bean, Castor oil plant ชื่อวิทยาศาสตร์ Ricinus communis L. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE) ชื่ออื่น ๆ ปี่มั้ว (ประเทศจีน), มะโห่ง มะโห่งหิน (ในภาคเหนือของประเทศไทย), มะละหุ่ง ละหุ่งแดง ละหุ่งขาว (ในภาคกลางของประเทศไทย) เป็นต้น[1],[3],[4]

ข้อควรรู้

ในประเทศไทยมีสายพันธุ์ที่ปลูกกันอยู่ 2 สายพันธุ์ ดังนี้
1. สายพันธุ์พื้นเมือง มีอายุยืนยาว เช่น พันธุ์ลายหินอ่อน พันธุ์ลายขาวดำ และพันธุ์ลายแดงเข้ม เป็นต้น สายพันธุ์เหล่านี้ มักจะปลูกแล้วจะปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลาประมาณ 5-6 ปี หรือมากกว่านั้นเพื่อให้ต้นติดผล
2. สายพันธุ์ลูกผสม มีอายุสั้น มีชื่อสายพันธุ์ว่า พันธุ์อุบล90 จุดเด่นอยู่ตรงที่มีระยะเวลาการปลูกที่สั้นใช้เวลาประมาณ 75-100 วัน ก็สามารถให้ผลผลิตได้ อีกทั้งเมล็ดยังมีน้ำมันสูงกว่าสายพันธุ์ปกติอีกด้วย (สายพันธุ์นี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากมีราคาแพงและเมล็ดมีจำนวนจำกัด)[6]

ลักษณะของละหุ่ง

  • ต้น
    1. เป็นพันธุ์ไม้ประเภทไม้พุ่มยืนต้นที่มีขนาดเล็ก
    2. ต้นจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ต้นขาว มีสีลำต้นกับก้านใบที่เป็นสีเขียว และมียอดอ่อนกับช่อดอกเป็นสีนวลขาว[1] ต้นแดง มีสีลำต้นกับก้านใบที่เป็นสีแดง และมียอดอ่อนกับช่อดอกเป็นสีนวลขาว[1]
    3. ความสูงของต้น ประมาณ 6 เมตร
  • ใบ
    1. ใบมีรูปร่างเป็นรูปฝ่ามือ โดยจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ 6-11 แฉก บริเวณที่ปลายแฉกแหลม ตรงขอบใบมีรอยหยัก ส่วนโคนใบมีรูปร่างเป็นแบบก้นปิด
    2. ใบมีเส้นแขนงใบขนาดใหญ่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ใบมีหูใบเป็นรูปสามเหลี่ยม
    3. ใบจะออกเรียงสลับกันที่บริเวณก้านใบ โดยใบจะมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว[1]
    4. ใบมีขนาดความกว้างประมาณ 15 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร และก้านใบมีความยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร
  • ดอก
    1. ดอกมีลักษณะเป็นช่อกระจะ และมีก้านช่อดอกยาว โดยช่อดอกจะออกที่บริเวณปลายกิ่ง
    2. ดอกย่อยจะอยู่รวมกันเป็นกระจุก ดอกเพศผู้ จะอยู่ส่วนบนของช่อ ดอกมีกลีบเลี้ยงอยู่ 5 กลีบ บางกลีบจะมีแฉกประมาณ 3-5 แฉก และดอกไม่มีกลีบดอก มีก้านดอกสั้น ลักษณะของตัวดอกจะเรียวและแคบ ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นจำนวนมาก ดอกเพศเมีย จะอยู่ส่วนล่างของช่อ ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ บางกลีบจะมีแฉกประมาณ 3-5 แฉก และดอกไม่มีกลีบดอกเช่นเดียวกันกับดอกเพศผู้ แต่ก้านดอกจะยาวกว่าดอกเพศผู้ และตัวดอกก็จะเรียวเล็กกว่าและแคบกว่า ดอกมีรังไข่ 3 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุลอยู่ 1 เม็ด ผิวของรังไข่จะมีเกล็ดปกคลุมอยู่ ดอกมีเกสรเพศเมียอยู่ 3 อัน
    3. ออกดอกเมื่อต้นมีอายุได้ประมาณ 40-60 วัน[1],[5]
  • ผล
    1. ผลมีรูปร่างเป็นแบบแคปซูล มีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีขนขึ้นปกคลุมทั่วทั้งผล ผลมีลักษณะเป็นผลแห้ง และผลมีพูอยู่ 3 พู พูมีรูปร่างเป็นรูปไข่ มีความยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีสีเขียว
    2. ออกผลเมื่อต้นมีอายุได้ประมาณ 140-160 วัน[1],[5]
  • เมล็ด
    1. เมล็ดมีรูปร่างเป็นรูปทรงรี เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลแดง (สีอาจเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์นั้น ๆ ) และมีลายจุดสีน้ำตาลปนเทา หรือรอยประสีขาวอยู่ทั่วเมล็ด
    2. ภายในเมล็ดจะมีเนื้อสีขาว โดยจะเป็นโปรตีนที่มีสารพิษและมีน้ำมันสีเหลืองใส ที่มีลักษณะข้นและเหนียว ซึ่งน้ำมันจะมีกลิ่นเล็กน้อย เมื่อลิ้มรสจะมีรสชาติเฝื่อนลิ้นและเผ็ดเล็กน้อย[2]

สรรพคุณของละหุ่ง

1. ใบสดมีสรรพคุณเป็นยาขับลม (ใบสด)[1]
2. ใบสดนำมาเผาใช้สำหรับพอกศีรษะ มีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการปวดศีรษะ (ใบสด)[1]
3. ใบสดมีสรรพคุณเป็นยารักษาเลือดลมพิการ (ใบสด)[1],[3]
4. ใบสดมีฤทธิ์เป็นยารักษาอาการปวดท้อง (ใบสด)[1]
5. ใบสดมีสรรพคุณเป็นยาขับน้ำนมของสตรี (ใบสด)[1],[3]
6. ใบสดมีฤทธิ์ในการฆ่าแมลงได้ (ใบสด)[1]
7. ใบสดนำมาเผาใช้พอกบริเวณที่มีแผล มีสรรพคุณเป็นยารักษาแผลเรื้อรังได้ (ใบสด)[1]
8. ใบสดนำมาตำใช้สำหรับพอกบริเวณที่เป็นฝี มีสรรพคุณเป็นยารักษาฝีได้ (ใบสด)[1]
9. ใบสดมีสรรพคุณเป็นยาขับระดูของสตรี (ใบสด)[1]
10. ใบสดมีฤทธิ์เป็นยารักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (ใบสด)[1]
11. ใบสดนำมาเผาใช้เป็นยาพอก มีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการปวดตามข้อหรืออาการปวดบวมตามร่างกายได้[1]
12. รากมีสรรพคุณเป็นยาสมาน (ราก)[1],[3]
13. รากนำมาตำเป็นยาสำหรับพอกเหงือก มีฤทธิ์รักษาอาการปวดฟัน (ราก)[1]
14. รากมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการพิษไข้ (ราก)[1],[3]
15. เมล็ดนำมาตำใช้สำหรับเป็นยาพอกบริเวณที่มีแผล โดยจะมีสรรพคุณในการรักษาแผล (เมล็ด)[1]
16. นำเมล็ดมาทุบเพื่อให้เอาเปลือกออกได้ง่าย จากนั้นนำเมล็ดที่เอาเปลือกออกหมดแล้วมาต้มกับนมในปริมาณครึ่งหนึ่งของหม้อที่ใช้ต้ม พอเดือดก็ให้นำไปต้มกับน้ำอีกทีหนึ่งเพื่อเป็นการทำลายสารพิษในเมล็ด เมื่อต้มจนแน่ใจแล้วว่าสารพิษนั้นได้ถูกทำลายไปจนหมดแล้วก็ให้นำเมล็ดมารับประทาน โดยจะมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการปวดข้อและปวดหลัง (เมล็ด)[1]
17. จากการวิจัยโปรตีนจากเมล็ด พบว่าสารพิษ Ricin ในโปรตีน จะเข้าไปจับกับ Antibody ของไวรัสเอดส์ โดยการวิจัยครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนายาที่จะป้องกันการเกิดโรคเอดส์ได้[3]

ประโยชน์ของละหุ่ง

1. การปลูก รอบไร่นาหรือรอบสวน จะช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืชและไส้เดือนฝอยได้[7]
2. น้ำมัน จะมีกรดที่ชื่อว่า ริซิโนเลอิก (Ricinoleic Acid) อยู่ ซึ่งจะออกฤทธิ์เป็นยาระบาย ในทางการแพทย์จะใช้ในขนาด 15-60 มิลลิลิตร ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ต้องมีการฉายรังสีบริเวณทวารหนักหรือปลายลำไส้ใหญ่หรือมีการผ่าตัดบริเวณช่องท้อง ลำไส้ หรือทวาร[2]
3. ลำต้นนำมาทำเป็นเยื่อกระดาษได้[5]
4. กากที่ได้มาจากเมล็ดสามารถนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้เป็นอย่างดี[5]
5. น้ำมันที่สกัดมาจากเมล็ด (Castor oil) จะมีกรดไขมันที่มีชื่อว่า Ricinoleic อยู่ ซึ่งจะมีคุณสมบัติที่ต่างจากน้ำมันพืช โดยน้ำมันชนิดนี้จะนิยมในอุตสาหกรรมการผลิตเรซิ่น น้ำมันเบรกรถยนต์ น้ำมันชักเงา ฉนวนกันไฟฟ้า น้ำมันผสมสี น้ำยารักษาหนัง หนังเทียม หมึกพิมพ์ น้ำมันหล่อลื่น จาระบี ใช้ทำสีทาบ้าน ขี้ผึ้งเทียม และเส้นใยเทียม[2],[3],[4],[5],[6]
6. น้ำมันที่สกัดมาจากเมล็ดสามารถนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ได้[2],[3],[4],[5],[6]
7. น้ำมันที่สกัดมาจากเมล็ดสามารถนำมาใช้ทำเป็นยารักษาโรค ยาระบาย หรือเครื่องสำอางชนิดต่าง ๆ ได้อีกด้วย[2],[3],[4],[5],[6]
8. น้ำมันที่สกัดมาจากเมล็ด จะมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างอ่อนสำหรับเด็กและผู้ใหญ่[1]
9. น้ำมันที่สกัดมาจากเมล็ดนำมาผสมกับน้ำมันงา ใช้สำหรับทำเป็นยาทาภายนอก โดยจะมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการกระดูกหักหรือแตกได้[1]
10. น้ำมันที่สกัดมาจากเมล็ดนำมาทำเป็นยาขี้ผึ้งที่มีความเข้มข้นร้อยละ 5-10 โดยจะมีสรรพคุณในการรักษาอาการผิวหนังอักเสบ[1]

ความเป็นพิษของต้นละหุ่ง

1. Ricin จากเมล็ดมีความเป็นพิษสูง โดยในปัจจุบันยังไม่มียารักษา ทำได้แค่รักษาไปตามอาการเท่านั้น[8]
2. เมล็ดมีความเป็นพิษสูง หากรับประทานเข้าไปปากและคอจะถูกไหม้จากความเป็นพิษนี้ จากนั้นก็เริ่มมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เนื่องจากมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ถ่ายเป็นเลือดและท้องเสียอย่างรุนแรง แน่นหน้าอก มีอาการหายใจไม่ค่อยออก เยื่อบุจมูกอักเสบ ความดันโลหิตลดต่ำลงอย่างมาก ปอดบวม ระบบตับและไตถูกทำลาย และจะเสียชีวิตในทันทีเนื่องจากพิษจะเข้าไปทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หากไม่ได้รับการรักษาภายในระยะเวลา 36-72 ชั่วโมง[1],[8]
3. เนื้อภายในเมล็ดจะเป็นโปรตีนที่มีความเป็นพิษสูง ส่วนน้ำมันในเมล็ดจะไม่มีพิษหากสกัดด้วยวิธีการบีบเย็น (เนื่องจากวิธีนี้ จะทำให้โปรตีนที่มีพิษไม่ติดออกมาด้วยกับน้ำมันนั่นเอง)
4. เมล็ดมีความเป็นพิษต่อคน สัตว์ และแมลง โดยสารที่สำคัญได้แก่ Ricin และ Ricinus Communis Agglutinin (RCA) โดยสาร Ricin จะส่งผลให้เม็ดเลือดแดงไม่เกาะกลุ่มกันหรือเกาะกันน้อยลง และมีความเป็นพิษต่อเซลล์สูง ส่วน RCA จะมีความเป็นพิษน้อยกว่ามาก เนื่องจาก RCA จะไม่ถูกดูดซึมผ่านเยื่อบุทางเดินอาหาร[8]

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [12 พ.ย. 2013].
2. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [12 พ.ย. 2013].
3. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [12 พ.ย. 2013].
4. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กรีนไฮเปอร์มาร์ท สารานุกรมผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต ฉบับคอมพิวเตอร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sc.mahidol.ac.th. [12 พ.ย. 2013].
5. รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เรื่อง ละหุ่ง”. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันที่จันทร์ที่ 5 เมษายน 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [12 พ.ย. 2013].
6. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. “ละหุ่ง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: kanchanapisek.or.th. [12 พ.ย. 2013].
7. สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่. “การใช้สมุนไพรป้องกันและกำจัดศัตรูพืช”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ndoae.doae.go.th. [12 พ.ย. 2013].
8. ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา. “สารพิษจากเมล็ดละหุ่ง“. อ้างอิงใน: กลุ่มงานพิษวิทยาและสิ่งแวดล้อม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: webdb.dmsc.moph.go.th. [12 พ.ย. 2013].
9. https://medthai.com/

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.amazon.in/
2. https://antropocene.it/