เดื่อหว้า ช่วยรักษาโรคทางเดินปัสสาวะและบรรเทาอาการท้องเสีย

0
1652
เดื่อหว้า
เดื่อหว้า เป็นไม้ยืนต้น ผล เปลือกต้นและรากมาทำเป็นยาสมุนไพร ผลเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแกมแดง
เดื่อหว้า ช่วยรักษาโรคทางเดินปัสสาวะและบรรเทาอาการท้องเสีย
เดื่อหว้า เป็นไม้ยืนต้น ผล เปลือกต้นและรากมาทำเป็นยาสมุนไพร ผลเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแกมแดง

เดื่อหว้า

เดื่อหว้า (Ficus auriculata Lour) เป็นพืชวงศ์ขนุนที่มักจะพบตามป่าดิบทั่วไป เป็นไม้ยืนต้นที่สามารถนำผล เปลือกต้นและรากมาทำเป็นยาสมุนไพรได้ เป็นส่วนหนึ่งในตำรับยาพื้นบ้านล้านนา มักจะนำผลและยอดอ่อนของต้นมารับประทานเป็นผัก เป็นต้นที่ไม่ได้ยินบ่อยนักและผลสุกก็ไม่ค่อยมีใครนิยมทานกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเดื่อหว้า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus auriculata Lour.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ไทรโพ” ภาคเหนือเรียกว่า “เดื่อหลวง” จังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า “มะเดื่อหว้า” จังหวัดยะลาเรียกว่า “มะเดื่อชุมพร” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ตะกื้อเด๊าะ” ชาวมาเลย์นราธิวาสเรียกว่า “ฮากอบาเต๊าะ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ขนุน (MORACEAE)

ลักษณะของเดื่อหว้า

เดื่อหว้า เป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนขนาดเล็กที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในปากีสถาน อินเดียตอนเหนือ เนปาล ภูฏาน สิกขิม พม่า จีนตอนใต้ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ไทยและมาเลเซีย ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคยกเว้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักจะพบขึ้นตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าผลัดใบ ป่าดิบแล้ง ใกล้ลำธารหรือริมลำน้ำ
ลำต้น : ลำต้นเห็นแผลของก้านใบที่ร่วงชัดเจน มีการแตกกิ่งก้านสาขามาก
เปลือกต้น : เปลือกต้นเป็นสีเทาปนน้ำตาล มีน้ำยางสีขาว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นกระจุกที่ปลายยอด ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจ ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบมน ขอบใบเรียบหรือหยักเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน เนื้อใบเหนียวและหนาคล้ายแผ่นหนัง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อที่ลำต้น เกิดภายในฐานรองดอกที่รูปร่างคล้ายผล ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน
ผล : ผลเป็นผลสด เกิดเป็นกระจุกตามลำต้นหรือกิ่งขนาดใหญ่ ลักษณะของผลเป็นรูปกลมแบนและมีกลีบเลี้ยงสีน้ำตาลติดอยู่ ผิวผลเกลี้ยงหรืออาจมีขนสั้นนุ่มขึ้นปกคลุม มักจะมีสันตามยาวและมีรอยแผลใบประดับข้าง ผลเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแกมแดง

สรรพคุณของเดื่อหว้า

  • สรรพคุณจากผล
    – แก้ท้องเสีย ตำรายาพื้นบ้านล้านนาใช้ประมาณครึ่งผลมารับประทานเป็นยา
  • สรรพคุณจากเปลือกต้นและราก
    – รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ ด้วยการนำเปลือกต้นหรือรากมาผสมกับรากเจตพังคี รากเจตมูลเพลิงแดง รากละหุ่งแดง รากมหาก่าน รากหิ่งเม่น รากหิงหายผี ต้นพิศนาด หัวกระชาย เหง้าว่านน้ำ เมล็ดยี่หร่า เมล็ดพริกไทย เมล็ดเทียนดำหลวง วุ้นว่านหางจระเข้และเทียนทั้งห้า ในปริมาณอย่างละเท่ากันแล้วนำมาบดให้เป็นผง จากนั้นนำมาผสมกับน้ำมะนาวและเกลือเล็กน้อย

ประโยชน์ของเดื่อหว้า

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลสุกใช้รับประทานได้ทันที ส่วนผลดิบใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริกหรือลาบ ยอดอ่อนนำไปแกงหรือรับประทานสดหรือลวกเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกและลาบ

เดื่อหว้า มีผลเป็นพวงโดดเด่นอยู่บนต้น ผลและยอดอ่อนของต้นสามารถนำมารับประทานได้ เป็นต้นที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจมากนัก ทั้งนี้เดื่อหว้าเองก็เป็นส่วนประกอบในตำรายาพื้นบ้านล้านนาด้วย มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ท้องเสียและรักษาโรคทางเดินปัสสาวะได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เดื่อหว้า”. หน้า 111.
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “เดื่อหว้า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [22 ธ.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เดื่อหว้า, มะเดื่อหว้า”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [22 ธ.ค. 2014].