โรคเกาต์ คือ
โรคเกาต์ ( Gout ) คือ โรคข้ออักเสบที่เกิดจากการตกตะกอนสะสมของผลึกกรดยูริกตามข้อต่าง ๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวด บวม แดงบริเวณข้ออย่างเฉียบพลัน เกิดจากการที่ระดับของกรดยูริคสูงกว่าปกติ เป็นผลให้เกิดการตกตะกอนเป็นผลึกรูปคล้ายเข็มและสะสมอยู่ตามข้อต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะข้อนิ้วและข้อเข่า ซึ่งเมื่อสะสมไว้นาน ๆ ก็จะเกิดการอักเสบจนทำให้เกิดอาการเจ็บปวดตามข้อและมีอาการบวมอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้สาเหตุของการที่ทำให้เกิดโรคเกาต์ก็เนื่องมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถขับกรดยูริคส่วนเกินออกจากร่างกายได้หมด ซึ่งอาจเป็นเพราะไตทำงานผิดปกติหรือมีปัญหาจึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของไตด้อยลง
กรดยูริก คือ อะไร
กรดยูริก คือ สารที่เกิดจากร่างกายของเรา สามารถสร้างขึ้นได้เองถึง 80% ในร่างกาย ส่วนอีก 20% ที่เหลือจะได้มาจากกินอาหารที่มีสารพิวรีนเข้าไป โดยสารพิวรีนสามารถพบได้ในอาหารจำพวกสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ พืชผักบางชนิด และอาหารทะเลบางอย่าง
อาการเบื้องต้นของโรคเกาต์
1. ผู้ป่วยจะมีอาการปวด บวมแดง ร้อนบริเวณข้ออย่างฉับพลันทันทีทันใด
2. อาการจะเริ่มที่ข้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า แต่ก็สามารถเกิดกับข้ออื่นๆ ได้ เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ซึ่งจะเป็นๆ หายๆ ในระยะแรก
3. อาการอักเสบจะรุนแรงมากขึ้นทำให้ผู้ป่วยปวดถี่ขึ้นและนานขึ้นจนอาจกลายเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง
4. อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น โรคไต นิ่วในทางเดินปัสสาวะ และไตวาย
ความเสี่ยงของโรคเกาต์
โรคเกาต์ เกิดได้จากหลากหลายความเสี่ยงดังต่อไปนี้
1. การดำเนินชีวิตที่ไม่ดี
การดำเนินชีวิตที่ไม่ดีอาจนำพาไปสู่ความเสี่ยงในการเป็นโรคเกาต์ได้ ยกตัวอย่างเช่น การกินอาหารที่มีไขมันสูงและเนื้อสัตวืมากเกินไป โดยเฉพาะเนื้อไก่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำทุกวันมากกว่าวันละ 2 ดริ๊งค์สำหรับผู้ชายและมากกว่าวันละ 1 ดริ๊งค์สำหรับผู้หญิง
2. การลดน้ำหนักเร็วเกินไป
คนที่เป็นโรคอ้วนมักจะมีความเสี่ยงเป็นโรคเกาต์ได้สูง โดยเฉพาะเมื่อลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วเกินไป นั่นก็เพราะว่าเมื่อลดน้ำหนักจะทำให้ร่างกายปลดปล่อยสารพิวรีนออกมาเป็นจำนวนมาก และสารตัวนี้นี่เองที่ไปกระตุ้นให้เกิดการผลิตกรดยูริคมากขึ้นจนส่งผลให้เป็นโรคเกาต์ได้ในที่สุด ดังนั้นผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักควรลดแบบค่อยเป็นค่อยไปและไม่หักโหมจนเกินไปจะดีกว่า นอกจากนี้อาหารที่มีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักบางอย่าง ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเกาตืให้สูงขึ้นได้อีกด้วย เช่น อาหารที่มีโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตสูง และพวกเครื่องในสัตว์ อาหารทะเลบางชนิด รวมถึงเบคอน ดังนั้นถ้าไม่อยากเป็นดรคเกาต์ก็ควรระมัดระวังการกินอาหารเหล่านี้ไม่ให้มากเกินไปเด็ดขาด
3. โรคบางชนิดหรือยารักษาโรคบางชนิด
นอกจากสาเหตุอื่นๆ แล้ว โรคเกาต์ก็อาจเกิดจากการเป็นโรคหรือการใช้ยารักษาโรคบางชนิดได้เหมือนกัน ซึ่งโรคที่พบว่าทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นเกาต์ได้มากที่สุด ก็คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดตีบ ไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือดสูง รวมถึงการผ่าตัดและการบาดเจ็บแบบเฉียบพลันก็อาจทำให้เป็นโรคเกาต์ได้ ส่วนยาที่ส่งผลให้เป็นโรคเกาต์ที่เห็นได้ชัด ก็ได้แก่ยาขับปัสสาวะรักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาแอสไพริน การทำเคมีบำบัดและยาที่ใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เป็นต้น นั่นก็เพราะยาเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้มีการปล่อยสาวพิวรีนออกมามากขึ้นและสลายเป็นกรดยูริคในปริมาณมากจนทำให้เป็นโรคเกาต์ได้ในที่สุดนั่นเอง
4. กรรมพันธุ์
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกาต์ด้วยสาเหตุจากกรรมพันธุ์จะพบได้ 1 ใน 4 ดังนั้นหากมีคนในครอบครัวเป็นโรคเกาต์ก็จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคเกาต์ให้สูงขึ้นไปอีกนั่นเอง
5. อายุและเพศ
จากสถิติการป่วยด้วยโรคเกาต์พบว่า ผู้ชายมักจะเกิดโรคเกาต์ได้ง่ายในช่วงอายุ 30-50 ปี ในขณะที่ผู้หญิงจะเกิดโรคเกาต์ได้ในช่วงอายุหลังวัย 50 ปีขึ้นไป ซึ่งในขณะเดียวกันผู้ชายก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นเกาต์ได้มากกว่าผู้หญิงถึง 5 เท่าอีกด้วย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าในคนที่มีอายุมากขึ้นจะต้องระมัดระวังโรคเกาต์มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้ชายในช่วงวัยดังกล่าว
โรคเก๊าท์เป็นโรคข้ออักเสบที่เกิดจากการสะสมของผลึกกรดยูริกตามข้อต่าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด บวม แดงบริเวณข้ออย่างเฉียบพลัน
อาหารที่ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรหลีกเลี่ยง
1. อาหารเร่งการเกิดโรคเกาต์ จากการสำรวจพบว่าอาหารที่กินนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคเกาต์เลยทีเดียว ดังนั้นการจะบำบัดโรคเกาต์จึงต้องบำบัดด้วยอาหารเช่นกัน ซึ่งก็ทำได้ด้วยการลดปริมาณของอาหารที่เป็นสาเหตุของโรคเกาต์ให้น้อยลง และเพิ่มปริมาณอาหารที่จะช่วยลดความเสี่ยงโรคเกาต์ให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามอาหารที่ก่อให้เกิดโรคเกาต์ได้นั้นยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด แต่ที่รู้จักและคุ้นเคยมาอย่างยาวนาน ก็ได้แก่ เนื้อสัตว์ใหญ่ พืชผักตระกูลถั่ว ดอกกะหล่ำ อาหารทะเลและเห็ด เป็นต้น นั่นก็เพราะอาหารเหล่านี้ล้วนมีพิวรีนที่สูงมาก จึงสามารถสลายเป็นกรดยูริคและตกผลึกตามข้อจนก่อให้เกิดอาการอักเสบได้ในที่สุด
เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเกาต์สูงอยู่แล้ว จึงไม่ควรกินอาหารเหล่านี้เด็ดขาด รวมถึงอาหารอื่นๆ ที่มีสารพิวรีนสูงอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามการบำบัดโรคเกาต์ด้วยอาหารเพียงอย่างเดียวไม่อาจให้ประสิทธิภาพที่ดีได้ จะต้องมีการบำบัดด้วยการใช้ยารักษาและกินอาหารให้ถูกต้อง เพื่อลดโอกาสเป็นโรคเกาต์ให้ได้มากที่สุด
2. เนื้อแดงแหล่งของสารพิวรีน อย่างที่รู้กันดีว่าอาหารที่มีพิวรีนสูงนั้นมีหลายชนิด แต่ที่พบสารพิวรีนมากที่สุดก็คือเนื้อแดงจากสัตว์นั่นเอง รวมถึงพวกเครื่องในสัตว์และปลาด้วย โดยเฉพาะปลาแฮร์ริง ปลาแอนโชวี ปลาเทราต์และปลาแมคเคอเรล เป็นต้น ส่วนในพืชและถั่วจะพบพิวรีนในปริมาณปานกลางเท่านั้น ทั้งนี้นายแพทย์ไฮอน โชอิ ก็ได้กล่าวว่า สารพิวรีนที่พบอยู่ในเนื้อสัตว์และผักนั้นอาจเป็นสารพิวรีนคนละชนิดกันก็ได้ และอาหารที่ต่างชนิดกันก็อาจมีระดับของพิวรีนที่ต่างกัน หรือไม่ก็อาจจะเป็นเพราะร่างกายของคนเราสามารถดูดซึมสารพิวรีนจากอาหารต่างชนิดกันได้ในปริมาณที่ไม่เท่ากันนั่นเอง
และจากการวิจัยของนายแพทย์โชอิ ก็พบว่าผู้ชายที่กินอาหารพวกเนื้อแดง จำพวกเนื้อวัว เนื้อหมูและเนื้อแกะสูงนั้นจะมีความเสี่ยงเป็นโรคเกาต์ได้มากกว่าชายที่กินเนื้อสัตว์เหล่านี้น้อยหรือกินไก่และเนื้ออื่นๆ ที่มีมันน้อย จึงสรุปได้ว่าการกินเนื้อแดงจากเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูงจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้สูงขึ้นไปอีก ส่วนผู้ที่กินอาหารพวกพืชและเมล็ดพืชที่มีพิวรีนสูงนั้น แทบไม่พบการเพิ่มความเสี่ยงของโรคเกาต์เลย นอกจากนี้ก็ยังพบอีกว่าผู้ที่ชอบกินเนื้อสัตว์ในปริมาณมากและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควบคู่ไปด้วยจะยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น นั่นก็เพราะว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไปรบกวนการขจัดกรดยูริคออกจากร่างกาย เป็นผลให้ปริมาณของกรดยูริคสูงขึ้นและตกผลึกตามข้อจนเกิดการอักเสบในที่สุด
การบำบัดโรคเกาต์ด้วยอาหารนั้น จากการวิจัยก็พบว่าสิ่งที่จะช่วยบำบัดโรคเกาต์ได้ก็คือนมไขมันต่ำนั่นเอง โดยการดื่มนมเป็นประจำวันละ 2 แก้วขึ้นไป จะสามารถลดความเสี่ยงโรคเกาต์ได้มากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ นั่นก็เพราะว่าในน้ำนมมีโปรตีนชนิดเคซีนและแล็คตัลบูมินสูงมาก ซึ่งโปรตีนเหล่านี้ก็มีแนวโน้มที่จะช่วยลดปริมาณของกรดยูริคให้น้อยลงได้
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะไม่มีปัญหาโรคเกาต์หรือไม่มีความเสี่ยง ก็ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ในปริมาณที่มากเกินไปอยู่ดี โดยเฉพาะเนื้อแดง นั่นก็เพราะว่าเนื้อแดงเป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาสุขภาพเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น มะเร็ง เบาหวานหรือโรคไขมันในเลือดสูง จึงควรกินในปริมาณที่น้อยลงเพื่อลดโอกาสการป่วยด้วยโรคเหล่านี้ และสำหรับอาหารทะเล แม้ว่าจะมากไปด้วยประโยชน์และมีโอเมก้า 3 สูง แต่ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงการเป็นเกาต์ในผู้ชายที่ไม่อ้วนได้เหมือนกัน ดังนั้นในผู้ที่เป็นโรคเกาต์จึงไม่แนะนำให้กินอาหารทะเลหรือเนื้อปลามากนัก แต่หากจำเป็นต้องเสริมโอเมก้า 3 ก็ควรเสริมด้วยน้ำมันปลาจะดีกว่า
การรักษาโรคเกาต์
สำหรับการรักษาโรคเกาต์นั้น โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีการให้ยาลดกรดยูริคควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เพื่อบรรเทาอาการและรักษาเกาต์ให้หายขาดเร็วขึ้น ซึ่งแพทย์ก็แนะนำให้เลือกกินอาหารที่มีพิวรีนต่ำโดยเฉพาะ เพราะจะช่วยลดกรดยูริคในเลือดได้มากถึง 15 เปอร์เซ็นต์
ข้อแนะนำในการทานอาหารบำบัดโรคเกาต์
สำหรับข้อแนะนำเพื่อบำบัดโรคเกาต์ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดก็มีดังนี้
- พยายามควบคุมน้ำหนักตัวอย่าให้อ้วนเกินไป เพราะจะยิ่งไปเพิ่มความเสี่ยงการในเป็นโรคเกาต์หรือทำให้อาการของผู้ป่วยรุนแรงยิ่งขึ้น ส่วนผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักเกินก็ให้ลดน้ำหนักแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่หักโหม ซึ่งหากทำได้นอกจากจะมีหุ่นที่ดีขึ้นแล้ว ก็ช่วยให้อาการทุเลาลงและลดความเสี่ยงการป่วยเกาต์ได้ดีเช่นกัน
- ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ซึ่งในแต่ละวันควรดื่มน้ำให้ได้วันละ 8-10 แก้วหรือวันละ 2 ลิตร เพราะน้ำจะช่วยลดความเข้มข้นของกรดยูริคได้ดีและเร่งการขับกรดยูริคออกจากร่างกายอีกด้วย
- เน้นการกินผัก ผลไม้เป็นหลัก พร้อมทั้งเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตชนิดขัดสี รวมถึงพวกเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลอย่างเด็ดขาด แต่ควรระวังผักที่มียูริคสูง
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ เพราะมีสารพิวรีนสูงมากและยังเป็นตัวการเร่งการสังเคราะห์กรดยูริคในร่างกายอีกด้วย
- เลี่ยงการทานพวกเครื่องในสัตว์และอาหารทะเลบางชนิด เช่น ตับ ตับอ่อน ปลาซาร์ดีน หอยแมลงภู่ ปลาทูน่าและปลาเทราต์ เป็นต้น นั่นก็เพราะอาหารเหล่านี้มีสารพิวรีนสูงมาก จึงอาจไปเพิ่มระดับกรดยูริคในเลือดจนทำให้เป็นกาต์ได้นั่นเอง ส่วนผู้ที่เป็นเกาต์อยู่แล้วก็ควรเลี่ยงอย่างเด็ดขาดเช่นกัน โดยเฉพาะอาหารที่มีกรดยูริคมาก เช่น สัตว์ปีก
- กินอาหารโปรตีนในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่สูงหรือต่ำเกินไป โดยควรจำกัดเนื้อสัตว์ไว้ที่วันละ 120-180 กรัมเท่านั้น
- จำกัดปริมาณของอาหารที่มีไขมันสูง โดยพยายามกินให้น้อยที่สุดหรือเลือกกินเฉพาะที่มีไขมันดีเท่านั้น ส่วนน้ำมันสกัดก็ให้จำกัดไว้ที่วันละ 3-6 ช้อนชา
- แอลกอฮอล์ทุกชนิดล้วนเป็นตัวการเพิ่มการผลิตกรดยูริคในร่างกาย และอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ จึงควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะพวกวิสกี้
- การกินวิตามินซีอย่างต่อเนื่องวันละ 500 มิลลิกรัม พบว่าจะสามารถลดระดับกรดยูริกในร่างกายได้ แต่ทั้งนี้ก็ควรปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนที่จะเสริม เพราะในบางคนอาจมีปัญหาสุขภาพที่ทำให้ไม่สามารถเสริมวิตามินซีได้
- จากการวิจัยพบว่าการดื่มกาแฟก็จะช่วยลดความเสี่ยงโรคเกาต์ได้เหมือนกัน แต่ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้น และที่สำคัญควรปรึกษาแพทย์ก่อนเช่นกัน เพราะในบางคนที่เป็นโรคอื่นอาจไม่สามารถดื่มกาแฟได้
- เชอร์รี่เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่จะลดความเสี่ยงของโรคเกาต์ได้ ดังนั้นจึงควรกินเชอร์รี่บ่อยๆ พร้อมสลับไปกินผลไม้อื่นๆที่ดีต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน
และนอกจากข้อแนะนำดังกล่าวแล้ว เนื่องจากโรคเกาต์นั้นมีความสัมพันธ์กับโรคอ้วน โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงโดยตรง ดังนั้นการกินอาหารที่จะช่วยบรรเทารักษาอาการของโรคเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคเกาต์ได้ด้วยนั่นเอง เพราะฉะนั้นหากพบว่าป่วยด้วยโรคเหล่านี้ก็ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน ก่อนที่จะป่วยด้วยโรคเกาต์อีกโรคนั่นเอง
ตารางปริมาณสารพิวรีนในอาหาร 100 กรัม ที่ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรรับประทาน มีดังนี้
ปริมาณสารพิวรีน ในปริมาณอาหาร 100 กรัม | |||
หมวดอาหาร | พิวรีนต่ำ ( 0-50 มก. ) กินได้ตามต้องการ |
พิวรีนปานกลาง ( 50-150 มก. ) กินได้พอควร |
พิวรีนสูง ( 150-825 มก. ) ควรหลีกเลี่ยง |
ขนมปัง / ข้าว / ธัญพืช จำกัดผลิตภัณฑ์ ที่มีไขมันสูง เช่น โดนัท โรลชนิดหวาน มัฟฟิน ขนมปังที่มีส่วนผสมถั่ว มะพร้าว | ขนมปัง/ข้าว/ธัญพืช ข้าวบาร์เลย์ ก๋วยเตี๋ยว พาสต้า |
ข้าวโอ๊ต (จำกัดวันละ ⅔ ถ้วยตวง) จมูกข้าวสาลี (วีทเจิร์ม) รำข้าวสาลี (จำกัดวันละ ¼ ถ้วยตวง) |
– |
อาหารโปรตีน เนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ เลือกเนื้อล้วน เนื้อสัตว์ปีก ( เลาะหนังและมันออก ) ปลาปรุงโดยไม่ใช้น้ำมัน ( อบ ย่าง ต้ม ตุ๋น ) |
ไข่ ถั่วเปลือกแข็ง เนยถั่วไขมันต่ำ เต้าหู้ |
เนื้อสัตว์/ สัตว์ปีก ( 60-90 กรัม ) ปลา ปู กุ้ง หอย ( 60-90 กรัม ) ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ ( สุก 1 ถ้วยตวง ) |
ตับ ไต หัวใจ สมอง ตับอ่อน นก กวางแพะ แกะ ห่าน นกกระทา ปลาแอนโชวี ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาเฮร์ริง หอยเชลล์ หอยแมลงภู่ เบคอน |
นมและผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ | นมและผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำทุกชนิด | – | – |
ไขมัน/น้ำมัน | ไขมัน / น้ำมันทุกชนิด น้ำสลัด ( ใช้พอประมาณ ) | – | น้ำเกรวี่ ( Gravy ) |
ซุป | ซุปผัก น้ำซุปผัก | น้ำซุปเนื้อ ซุปไก่ | น้ำซุปเนื้อสกัด ยีสต์สกัด น้ำเกรวี่จากเนื้อ |
ผลไม้ | ผลไม้ทุกชนิด น้ำผลไม้รวม ( จำกัดปริมาณอะโวคาโด ) |
– | – |
ผัก | ผักเกือบทุกชนิด ยกเว้นที่ระบุ |
หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำดอกผักโขม เห็ด เมล็ดถั่วลันเตาจำกัดวันละ ½ ถ้วยตวง |
– |
อื่นๆ | น้ำเชื่อม เจลาติน น้ำอัดลม ชา กาแฟเครื่องดื่มธัญพืช ช็อกโกแลต คัสตาร์ดพุดดิ้ง ซอสขาว เครื่องปรุงรส เกลือ น้ำส้มสายชู สมุนไพร มะกอกแตงกวาดอง ข้าวโพดคั่วเพรทเซล เนย มาร์การีน |
– | เนื้อบด |
ตารางเมนูอาหารแต่ละมื้อที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์ มีดังนี้
ตัวอย่างเมนูอาหารที่มีพิวรีนต่ำ | |||
มื้ออาหาร | เมนูที่ 1 | เมนูที่ 2 | เมนูที่ 3 |
อาหารเช้า | น้ำส้มคั้น 180 มิลลิลิตร มูสลี ½ ถ้วยตวง สตรอว์เบอร์รี่ ½ ถ้วยตวง ขนมปังปิ้ง 2 แผ่น แยม 2 ช้อนชา นมพร่องมันเลยหรือขาดไขมัน 240 มิลลิลิตร กาแฟหรือชา |
น้ำส้มคั้น 180 มิลลิลิตร ข้าวต้มกุ้ง (ข้าวต้ม 1 ถ้วยตวง กุ้ง 60 กรัม) กาแฟหรือชา |
ซีเรียลชนิดที่มีใยอาหารสูง นมไขมันต่ำ สตรอว์เบอร์รี่ 1 ถ้วยตวง กาแฟหรือชา น้ำเปล่า |
อาหารกลางวัน | เนื้อแฮมเบอร์เกอร์ 90 กรัม ขนมปังเบอร์เกอร์ 1 คู่ ผักสลัดมะเขือเทศ มันฝรั่งอบ 1 หัว และโยเกิร์ต ฟรุตสลัด ½ ถ้วยยตวง นมพร่องหรือขาดไขมัน 240 มิลลิลิตร |
เกาเหลาหมู (ไม่ใส่เครื่องใน) 1 ชาม ข้าวสวย ⅔ ถ้วยตวง แคนตาลูป ¼ ผล นมถั่วเหลือง 240 มิลลิลิตร |
อกไก่ย่างหรืออบ 60 กรัม ขนมปังโฮลเกรนทามัสตาร์ด ผักสลัด น้ำส้มบัลซามิกผสมน้ำมันมะกอก นมไขมันต่ำ น้ำเปล่า |
อาหารว่าง | น้ำมะเขือเทศ ¾ ถ้วยตวง แครกเกอร์ 3 แผ่น |
ก๋วยเตี๋ยวหลอด 1 ชิ้น น้ำมะตูมไม่ใส่น้ำตาล 180 มิลลิลิตร |
เชอร์รี่ 1 ถ้วยตวง น้ำเปล่า |
อาหารเย็น | สลัด 1 ถ้วยตวง น้ำสลัดไร้ไขมัน 1 ช้อนโต๊ะ ไก่อบ 90 กรัม ข้าว ½ ถ้วยตวง บรอกโคลีสุก ½ ถ้วยตวง ขนมปังโรล 1 ก้อน เชอร์เบต ½ ถ้วยตวง ชาสมุนไพร น้ำเปล่า |
ข้าวไรซ์เบอรืรี่ 2 ทัพพี ไข่พะโล้ ฟองเต้าหู้ 4 ชิ้น ผัดผักรวม (2 ทัพพี) ใส่กุ้งสด (4 ตัว) ลิ้นจี่ 6 ผล ชาสมุนไพร น้ำเปล่า |
แซลมอนย่าง 90-120 กรัม ผักย่างหรือลวกตามชอบ ข้าวกล้อง 1 ทัพพี เมลอน 1 ถ้วยตวงราดโยเกร์ตไขมันต่ำ ชาสมุนไพร น้ำเปล่า |
การป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
1. กินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะยาที่ช่วยลดกรดยูริก
2. ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
3. การป้องกันการเกิดภาวะอักเสบของเก๊าท์ในระยะยาว สามารถใช้ยาที่ช่วยลดการสร้างกรดยูริกในร่างกาย เช่น ยาที่ยับยั้งเอนไซม์แซนทีนออกซิเดส ( xanthine oxidase inhibitors ) หรืออาจใช้ยาที่ช่วยขับกรดยูริกออกจากร่างกาย ( uricosuric )
4. พยายามลดหรือหลีกเลี่ยงปัจจัยที่สามารถส่งผลเพิ่มระดับกรดยูริกในกระแสเลือดได้ เช่น การกินอาหารทะเลหรือการดื่มแอลกอฮอล์
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
ศัลยา คงสมบูรณ์เวช. บำบัดเบาหวานด้วยอาหาร. พิมพ์ครั้งที่ 4 (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : อัมรินทร์เฮลท์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (12), 311 หน้า. (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 113) 1.เบาหวาน 2.โภชนบำบัด 3.การปรุงอาหารสำหรับผู้ป่วย 4.การดูแลสุขภาพตนเอง. 616.462 ศ7บ6 2559.