ส้านใหญ่
ผลมีสีเหลืองอมส้ม ผลแก่มีสีเหลือง สีส้ม สุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยว มีเมล็ดจำนวนมาก ผลแห้งมีสีน้ำตาล

ส้านใหญ่

ส้านใหญ่ (Great elephant apple) เป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้าน ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Dillenia obovata (Blume) Hoogland อยู่ในวงศ์ส้าน ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ซ่าน ชะวิง ส้านใหญ่ ส้านแข็ง ส้านต้อง เป็นพรรณไม้ในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าเบญจพรรณชื้น ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 50-1,300 เมตร

ลักษณะ

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลัดใบช่วงเดือนกุมภาพันธ์ สูงประมาณ 10-35 เมตร เรือนยอดของต้นมีลักษณะกลมทึบ ทรงพุ่มขนาดประมาณ 3-5 เมตร ลำต้นคดงอ เปลือกของต้นจะค่อนข้างเรียบหรือเป็นสะเก็ด มีสีเทาอมเหลืองอ่อน สีแดงอ่อน หรือสีชมพูปนเทา เปลือกด้านในมีสีแดงคล้ำ ที่กิ่งอ่อนเกลี้ยง ใบอ่อนจะมีขน ส่วนที่โคนต้นจะมีพูพอนเตี้ย ๆ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด[1],[2],[4]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว จะออกเรียงเวียงสลับกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ที่ปลายใบจะทู่หรือป้านมีติ่งสั้น สอบเรียวไปหาโคนใบ โคนมีลักษณะแหลม เป็นรูปลิ่มหรือสอบ ขอบใบจักฟันเลื่อย ใบกว้างประมาณ 8-13 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร ใบหนา หลังจะใบเกลี้ยง ส่วนที่เส้นกลางใบจะมีขน เมื่อแห้งจะออกสีน้ำตาลแดง ท้องใบมีขน เส้นแขนงใบตรงและขนานกัน มีประมาณ 15-30 คู่ ที่ปลายเส้นแขนงจะยื่นเลยขอบใบ ก้านใบเลี้ยง[1],[2]
  • ดอก ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจะ ที่ตามปลาบกิ่ง และปลายกิ่งแขนง หนึ่งช่อจะมีดอกประมาณ 1-3 ดอก มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบเลี้ยงจะหนามีสีเขียวนวล มีกลีบดอก 5 กลีบ มีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ รูปช้อน มีสีเหลือง ขนาดใหญ่กว่า 3 เท่าของกลีบเลี้ยง ดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 14-16 เซนติเมตร ดอกมีสีเหลือง มีเกสรเพศผู้เป็นจำนวนมาก แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นนอกมีสีเหลืองที่เข้มกว่าชั้นใน รังไข่แบ่งเป็นช่อง 9-11 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 25-35 ออวุล ที่โคนกลีบเลี้ยงจะมีปลายเล็กแหลม 3 กาบ ที่โคนก้านดอกอีก 3 กลีบ เกสรเพศเมียปลายจะเป็นแฉก ๆ ที่เหนือเกสรเพศผู้ ดอกออกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1],[2]
  • ผล ลักษณะเป็นรูปทรงกลม เป็นผลสดอุ้มน้ำ มีสีเหลืองอมส้ม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.54 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงพัฒนาเป็นกาบหุ้มส่วนเนื้อ ผลแก่มีสีเหลือง สีส้ม ผลแห้งมีสีน้ำตาล ในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ผลแก่ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2]

สรรพคุณของส้านใหญ่

  • ตำรับยาพื้นบ้านอีสาน ใช้ลำต้นมาต้มกับน้ำแล้วนำมาดื่ม ใช้เป็นยาขับน้ำคาวปลาหลังคลอดหรืออยู่ไฟ[3]
  • นำเปลือกต้นมาเคี้ยว จะช่วยทำให้เหงือกและฟันกระชับแน่น[4]
  • นำเปลือกต้นมาเคี้ยวแล้วพ่นเป่าแผล เพื่อใช้เป็นยารักษาแผล[3]
  • เปลือกของเนื้อไม้และผล มีรสเปรี้ยว สามารถนำมาผสมปรุงเป็นยากระจายโลหิตได้[1]
  • นำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม ใช้เป็นยาแก้ท้องเสียได้[4]

ประโยชน์ของส้านใหญ่

  • สามารถนำไม้มาใช้ในการก่อสร้างได้[2]
  • ผลสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยว สามารถรับประทานหรือนำมารับประทานกับผักสดและน้ำพริกได้ โดยแกะส่วนกลีบ
  • รองชั้นในมาจิ้มกับเกลือ จะมีรสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม กลีบรองชั้นนอกจะมีรสฝาด[2],[4]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “ส้ า น ใ ห ญ่”. หน้า 144.
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ส้ า น ใ ห ญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [10 ต.ค. 2014].
ไทยรัฐออนไลน์. (นายเกษตร). “ส้านยอดแดงดอกเหลือง สีสวยทั้งใบและดอก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th. [10 ต.ค. 2014].
ไทยเกษตรศาสตร์. “ส้ า น ใ ห ญ่”. อ้างอิงใน : ศาสตราจารย์พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [10 ต.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.flickr.com