ลิ้นหัวใจรั่ว คือ
ลิ้นหัวใจรั่ว ( Heart Valve Regurgitation ) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่ทำให้ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท ซึ่งโดยปกติลิ้นหัวใจจะเปิดเพื่อให้เลือดไหลไปในทิศทางเดียวขณะที่มันไหลผ่านห้องของหัวใจ จากนั้นลิ้นหัวใจจะปิดเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับเข้าไปในห้องที่เหลืออยู่ แต่ขณะเดียวกันลิ้นหัวใจอาจปิดไม่สนิท ซึ่งหมายความว่าหลังจากที่หัวใจบีบและสูบฉีดเลือดไปข้างหน้าเลือดบางส่วนจะรั่วไหลย้อนกลับผ่านลิ้นหัวใจทำให้หัวใจทำงานหนัก
สาเหตุของลิ้นหัวใจรั่ว
- มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด
- ลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ
- การติดเชื้อ streptococcus ที่ส่งผลต่อหัวใจได้โดยตรง และทำให้ลิ้นหัวใจเกิดความเสียหาย
ตำแหน่งที่เกิดลิ้นหัวใจรั่ว
1. ลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว ( Mitral Regurgitation ) เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนและล่างซ้าย จนทำให้เลือดไหลย้อนกลับไปที่หัวใจห้องบนหลังจากสูบฉีดเลือด
2. ลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว ( Aortic Regurgitation ) เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายและหลอดเลือดเอออตาร์ ทำให้เลือดที่ไหลไปยังหลอดเลือดเกิดการไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หัวใจห้องล่างซ้าย
3. ลิ้นหัวใจไตรคัสปิดรั่ว ( Tricuspid Regurgitation ) เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจไตรคัสปิดที่อยู่ระหว่างห้องหัวใจขวาบนและล่าง ทำให้เลือดไหลย้อนกลับขึ้นไป และทำให้ปริมาณเลือดที่ส่งไปยังปอดลดลง
4. ลิ้นหัวใจพัลโมนารีรั่ว ( Pulmonary Regurgitation ) เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจพัลโมนารีที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องขวาล่างและปอด เป็นเหตุให้เลือดไหลย้อนกลับไปที่หัวใจห้องล่างขวา จนปอดได้รับออกซิเจนที่ถูกลำเลียงไปกับเลือดไม่เพียงพอ
อาการลิ้นหัวใจรั่ว
ผู้ป่วยบางคนไม่แสดงอาการนานเป็นเวลาหลายปี แต่หากเริ่มมีอาการที่รุนแรงมากขึ้นอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- หัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น
- หายใจถี่ ( หายใจลำบาก )
- เมื่อยล้า
- เหนื่อยง่าย
- ปวดที่บริเวณหน้าอก
- วิงเวียนศีรษะหรือเป็นลม
- มีอาการบวมที่เท้าหรือข้อเท้า
การรักษาลิ้นหัวใจรั่ว
แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาจากความรุนแรงของโรค หากการรั่วไหลเพียงเล็กน้อยก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด หากอาการของผู้ป่วยรุนแรงแพทย์ต้องผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจที่มีความผิดปกติให้กลับมาทำงานได้ กรณีที่ลิ้นหัวใจไม่สามารถกลับมาทำงานตามเดิมจะต้องผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แม้แต่คนที่ไม่มีอาการก็ต้องได้รับการประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและศัลยแพทย์ เพื่อภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมาในระหว่างการรักษาผู้ป่วยควรจะดูแลตัวเองให้มากขึ้นดังนี้
- ควบคุมระดับความดันโลหิต
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ควบคุมน้ำหนัก
- ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์
- พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
ภาวะแทรกซ้อนของลิ้นหัวใจรั่ว
- หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ( Heart Attack )
- ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ( Atrial Fibrillation )
- การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ( Endocarditis )
- ความดันเลือดแดงในปอดสูง ( Pulmonary Hypertension )
- ลิ่มเลือดอุดตัน
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
What is a leaky heart valve? (ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://www.webmd.com [15 พฤษภาคม 2562].
Mitral valve regurgitation (ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://www.mayoclinic.org [15 พฤษภาคม 2562].