ต้นดูกไก่ย่าน
ไม้พุ่มเลื้อยดอกขาวแก้ไข้ป่า ดอกออกเป็นช่อกระจุก กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลือง ผลเป็นรูปไข่กลับแตกตามพูเป็น 2 ฝา

ต้นดูกไก่ย่าน

ดูกไก่ย่าน เป็นไม้ล้มลุกรอเลื้อย ขึ้นบริเวณที่โล่งในป่าผลัดใบ ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Hedyotis capitellata Wall. ex G.Don และมีชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Oldenlandia capitellata (Wall. ex G.Don) Kuntze) ถูกจัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กำลังหัวละมาน เครือเขาขื่น, เครือมุ้งกระต่าย, ขมิ้นไม้, ย่านตะครองแห้ง, ย่านเบื้องถ้วย, ตองแห้ง, ลิกามาโก๊, มึฉะแอว เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะต้นดูกไก่ย่าน

  • ต้น เป็นไม้ล้มลุกรอเลื้อย ที่มีอายุอยู่ได้หลายปี
    – มีความยาวประมาณ 2-3 เมตร
    – ลำต้นเป็นสันสี่เหลี่ยม แตกกิ่งก้านมาก
    – ตามลำต้นและใบนั้นจะมีขนนุ่ม ๆ สีเหลือง สามารถพบขึ้นบริเวณที่โล่งในป่าผลัดใบ[1]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบมีความกว้างประมาณ 1.5-4 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร
    – ใบเป็นรูปใบหอกถึงรูปไข่แกมใบหอก
    – ผิวใบเรียบ และมีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ[1]
  • ดอก จะออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่น ๆ แยกแขนงกัน
    – จะออกที่บริเวณซอกใบและที่ปลายกิ่ง ก้านสั้น
    – ดอกย่อยมีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นหลอด แฉกกลีบตั้งตรง
    – กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลือง เชื่อมกันเป็นหลอด
    – แฉกกลีบจะมีลักษณะม้วนออกด้านนอก และจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม[1]
  • ผล เป็นผลแห้ง
    – ลักษณะของผลนั้นเป็นรูปไข่กลับ แตกตามพูหรือตามตะเข็บเป็น 2 ฝา[1]

สรรพคุณต้นดูกไก่ย่าน

  • ราก สามารถใช้เป็นยาแก้บิด (ราก)[1]
  • ราก สามารถใช้เป็นยาแก้อาการมึนเวียนศีรษะ (ราก)[1]
  • ตำรายาไทยจะใช้รากเข้ายาบำรุงกำลัง (ราก)[1]
  • ราก มีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคธาตุพิการ (ราก)[1]
  • ใบ มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ป่า (ใบ)[1]
  • ใบ ใช้ตำพอกแผลสดลดการอักเสบจากพิษงูกัด แผลฟกบวม (ใบ)[1]
  • ใบ ใช้ตำพอกโรคบวมตามข้อและกล้ามเนื้อ โรคปวดเอว กระดูกหัก กระดูกแตก (ใบ)[1]
  • เครือ นำมาทุบแล้วคั้นเอาน้ำ ใช้เป็นยาทารักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกแล้วพันผ้าไว้ (เครือ)[2]
  • ชาวเขาเผ่าแม้วมักจะใช้ดูกไก่ย่านทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำอาบหรืออบไอน้ำบรรเทาอาการชามือ ชาเท้า หรืออัมพาต (ทั้งต้น)[1]

สั่งซื้อเนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ดูกไก่ย่าน”. หน้า 125.
2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ดูกไก่ย่าน”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [23 ธ.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.vnbacsi.net/2019/09/27/da-cam/