หูกวาง
หูกวาง (indian-almond) เป็นพันธุ์ไม้ในป่าชายหาดที่สามารถพบการขึ้นอยู่กระจายตามชายฝั่งทะเล จะปลูกทั่วตั้งแต่ประเทศอินเดียจนถึงตอนเหนือของทวีปออสเตรเลียทางตอนเหนือ เป็นพืชทิ้งใบ โดยทั่วไปแล้วก็จะทิ้งใบอยู่ 2 ครั้ง ในรอบ 1 ปี หรือในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และอีกช่วงนึงในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งก่อนจะทิ้งใบ ใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้มแดงก่อน ในปัจจุบันได้มีการปลูกทั่วไปตามพื้นที่เขตร้อนอย่างทวีปเอเชีย ส่วนในประเทศไทยนั้นมักพบขึ้นตามชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ (ตราดและชลบุรี) ภาคตะวันตกเฉียงใต้ (ประจวบคีรีขันธ์และกาญจนบุรี) และภาคใต้ (นราธิวาส ตรัง และสุราษฎร์ธานี) [1],[2] ชื่อสามัญ คือ Bengal almond, Indian almond, Olive-bark tree, Sea almond, Singapore almond, Tropical Almond, Umbrella Tree[1],[2] ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Terminalia catappa L. จัดอยู่ในวงศ์สมอ (COMBRETACEAE)[1],[2] ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ตาปัง (พิษณุโลก, สตูล), โคน (นราธิวาส), หลุมปัง (สุราษฎร์ธานี), คัดมือ ตัดมือ (ตรัง), ตาแปห์ (มลายู-นราธิวาส) เป็นต้น[1] (เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดตราด)
ลักษณะของต้นหูกวาง
- ต้น เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง ที่มีความสูงอยู่ที่ประมาณ 10-15 เมตร และบางครั้งอาจจะสูงได้ถึง 30-35 เมตร (แต่จะไม่ค่อยพบต้นที่ใหญ่มากในประเทศไทย) มีเรือนยอดขึ้นหนาแน่น มีการแตกกิ่งก้านแผ่ออกไปในแนวราบเป็นชั้นๆ คล้ายฉัตร ลำต้นสูงตรง ต้นที่มีอายุมากและมีขนาดใหญ่จะมีความเป็นพูพอนอยู่ที่โคนต้น เปลือกลำต้นนั้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา เปลือกเกือบเรียบ จะแตกเป็นร่องแบบตื้นๆ ตามแนวนอนและแนวตั้ง และลอกออกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ทั่วไป กิ่งอ่อนนั้นก็จะมีขนสีน้ำตาล ส่วนเนื้อไม้จะเป็นสีแดง มีเสี้ยนไม้ละเอียดที่สามารถขัดชักเงาได้ดี สามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด บางครั้งน้ำหรือค้างคาวก็ช่วยในการกระจายพันธุ์ได้เช่นกัน และจะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำอย่างดินร่วนพอควรหรือปนทราย
- ใบ จะเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกันอยู่เป็นกระจุกขึ้นอย่างหนาแน่นอยู่ที่บริเวณปลายกิ่ง ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมก็จะเป็นติ่งสั้นๆ ปลายใบนั้นจะกว้างกว่าโคนใบ โคนใบมนเว้าหรือสอบแคบเป็นรูปลิ่ม และมีต่อมเล็กๆ อยู่หนึ่งคู่ที่โคนใบบริเวณท้องใบ ส่วนขอบใบจะเรียบเป็นคลื่นหยักเล็กน้อย ใบมีความกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 12-25 เซนติเมตร ก้านใบมีความยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร มีขน หลังใบและท้องใบมีขน เนื้อใบค่อนข้างหนา ใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน แต่พอแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นเขียวเข้ม แล้วก็จะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงเมื่อใกล้ร่วงหรือผลัดใบ มักจะผลัดใบในช่วงฤดูหนาวในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน[1],[2]
- ดอก ออกเป็นช่อยาวแบบติดดอกสลับกัน โดยจะขึ้นอยู่ตามซอกใบ ลักษณะเป็นแท่งที่มีความยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร ดอกย่อยนั้นจะเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ดอกมีขนาดที่เล็กและจะไม่มีกลิ่นหอม (บางข้อมูลระบุว่าจะมีกลิ่นฉุนด้วยเล็กน้อย) ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่ในช่อเดียวกัน ดอกเพศผู้จะอยู่ตรงปลายช่อ ส่วนดอกเพศเมียนั้นก็จะอยู่บริเวณโคนช่อ (แต่อีกข้อมูลระบุว่าดอกแบบสมบูรณ์จะอยู่โคนช่อ) ไม่มีกลีบดอก มีแต่กลีบเลี้ยงดอกอยู่ 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม 5 แฉก มีขนอยู่ด้านนอก ดอกเกสรเพศผู้จะมี 10 ชั้น ดอกพอบานได้เต็มที่แล้วก็จะมีความกว้างประมาณ 0.4-0.6 เซนติเมตร โดยดอกจะออกดอกสองครั้งในรอบ 1 ปี คือ ในช่วงฤดูหนาวหลังจากแตกใบใหม่ (เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม) และอีกครั้งในช่วงฤดูฝน (เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม)[1],[2]
- ผล เป็นผลเดี่ยว ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงรีค่อนข้างแบนเล็กน้อย ผลแข็ง มีความกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร ผลด้านข้างนั้นเป็นแผ่นหรือเป็นเส้นบางๆ นูนอยู่รอบผล ผลอ่อนเป็นสีเขียว แต่เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมเขียว และก็จะมีกลิ่นหอม ผิวผลค่อนข้างเรียบ ผลเมื่อแห้งนั้นจะเป็นสีดำคล้ำ เปลือกผลมีเส้นใย และในแต่ละผลก็จะมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีขนาดใหญ่ เหนียว และเปลือกในแข็ง ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่หรือรูปรี แบนป้อมเล็กน้อยคล้ายกับผล เมื่อเมล็ดแห้งก็จะเป็นสีน้ำตาล ภายในมีเนื้อมาก โดยผลจะแก่ในช่วงในช่วงแรกประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน และอีกช่วงหนึ่งประมาณพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[3]
สรรพคุณของหูกวาง
1. ทั้งต้น ใช้แก้โรคคุดทะราด [1],[2]
2. ทั้งต้น ช่วยขับน้ำนมของสตรี [1],[2]
3. ทั้งต้น มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ [1],[2]
4. ทั้งต้น มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้บิด [1],[2]
5. ทั้งต้น มีสรรพคุณเป็นยาระบาย [1],[2]
6. ใบ มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคไขข้ออักเสบ [1],[2]
7. ใบ มีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ [1],[2]
8. ใบ ที่มีสีแดงจะมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ [1],[2]
9. ใบ ใช้เป็นยารักษาโรคทางเดินอาหารและตับ [1],[2]
10. ใบ ช่วยแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ [1],[2]
11. ผล มีสรรพคุณเป็นยาถ่าย [1],[2]
12. เมล็ด ใช้รับประทานเป็นยาแก้ขัดเบา แก้นิ่วได้ [6]
13. ราก มีสรรพคุณช่วยทำให้ประจำเดือนของสตรีมาตามปกติ [2]
14. เปลือก ใช้เป็นยาแก้ตกขาวของสตรี [1],[2]
15. เปลือก มีรสฝาด สรรพคุณเป็นยาขับลม แก้ท้องเสีย [1],[2]
16. เปลือก ช่วยรักษาโรคโกนีเรีย (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) [1],[2]
18. เปลือกและทั้งต้น มีสรรพคุณเป็นยาสมาน [1],[2]
19. ใบใช้ผสมกับน้ำมันจากเนื้อในเมล็ด เป็นยารักษาโรคเรื้อน [1],[2]
20. ใบใช้ผสมกับน้ำมันจากเนื้อในเมล็ด นำมาทาหน้าอกจะช่วยแก้อาการเจ็บหน้าอก หรือใช้ทาไขข้อและส่วนของร่างกายที่หมดความรู้สึก [1],[2]
21. ใบมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการผื่นคันตามผิวหนังและช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ และยังพบฤทธิ์ทางเภสัชว่า ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบ แก้อาการปวด ลดอุณหภูมิภายในร่างกายหรือลดไข้ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว และทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัว ควรนำมาใช้เป็นยาเฉพาะในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ (ข้อมูลจาก : เว็บไซต์โรงเรียนอุทัยวิทยาคม) ข้อมูลส่วนนี้ยังขาดแหล่งอ้างอิงนะครับ ผู้เขียนเองก็ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ประโยชน์ของหูกวาง
1. เมล็ดสามารถนำมารับประทานได้ และยังมีโปรตีนที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายของเราอีกด้วย[2]
2. เมล็ดสามารถนำเอาไปทำเป็นน้ำมันเพื่อนำไปใช้บริโภค (คล้ายน้ำมันอัลมอนด์) หรือทำเครื่องสำอางได้[2]
3. เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้าง ทำบ้านเรือน หรือเครื่องเรือนได้ดี เพราะเป็นไม้ที่ไม่มีมอดและแมลงมารบกวน หรือนำมาใช้ทำฟืนและถ่านก็ได้[2]
4. เปลือกและผลมีสารฝาดมาก สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมย้อมสีผ้า ฟอกหนังสัตว์ และทำหมึกได้ ในอดีตมีการนำเอาเปลือกผลซึ่งมีสารแทนนินมาใช้ในการย้อมหวาย และได้มีการทดลองใช้ใบเพื่อย้อมสีเส้นไหม พบว่าสีที่ได้คือสีเหลือง สีเขียวขี้ม้า หรือสีน้ำตาลเขียว[2],[4]
6. ใบแก่นำมาแช่น้ำใช้รักษาบาดแผลของปลาสวยงาม อย่างเช่น ปลากัด ปลาหางนกยูงได้ อีกทั้งยังช่วยบำรุงสุขภาพปลาและสีสันของปลา ช่วยทำให้ตับของปลานั้นดีขึ้น จึงส่งผลให้ปลาแข็งแรง ช่วยป้องกันไม่ให้ปลาเป็นโรค (แต่ควรระมัดระวังเรื่องของยาฆ่าแมลงที่อาจพบได้ในใบ) (รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ)
7. เป็นพรรณไม้ที่นิยมปลูกกันมาก เพื่อเป็นไม้ประดับตามข้างทางหรือตามสถานที่ต่างๆ เช่น สวนสาธารณะ สถานที่ราชการ ริมถนน สวนป่า หรือปลูกในที่โล่งต่างๆ เป็นต้น[2],[3],[6]
8. เป็นต้นไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่าย โตเร็ว ทนแล้ง ทนน้ำขังแฉะ แต่โดยมากจะนิยมปลูกเป็นไม้เพื่อให้ร่มเงามากกว่าเป็นไม้ประดับ เพราะมีกิ่งเป็นชั้นๆ เรือนยอดหนาแน่น และหากต้องการให้แผ่ร่มเงาออกไปกว้างขวาง ก็ต้องตัดยอดออกเมื่อได้เรือนยอดหรือกิ่งประมาณ 3-4 ชั้น ซึ่งจะทำให้เรือนยอดแตกกิ่งใบออกทางด้านข้าง (ไม่ควรนำมาปลูกใกล้บริเวณตัวอาคารบ้านเรือน เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว รากจะดันตัวอาคารทำให้อาคารบ้านเรือนแตกร้าวเสียหายได้[2],[3],[6])
คุณค่าทางโภชนาการ
คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ด 100 กรัม ให้พลังงาน 594 แคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารที่ได้รับ |
น้ำ | 4% |
โปรตีน | 20.8 กรัม |
ไขมัน | 54 กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 19.2 กรัม |
ใยอาหาร | 2.3 กรัม |
วิตามินบี1 | 0.32 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.08 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 0.6 มิลลิกรัม |
แคลเซียม | 32 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 789 มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก | 9.2 มิลลิกรัม |
ข้อควรระวัง : สำหรับผู้ที่เป็นภูมิควรระวัง เพราะอาจจะแพ้ละอองเกสรได้ [3]
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หูกวาง (Hu Kwang)”. หน้า 335.
2. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “หูกวาง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/pattani_botany/. [18 ก.ค. 2014].
3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “หูกวาง” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [18 ก.ค. 2014].
4. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “หูกวาง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th. [18 ก.ค. 2014].
5. ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “หูกวาง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/. [18 ก.ค. 2014].
6. โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม จังหวัดนครสวรรค์. “ต้นหูกวาง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.chaiwbi.com. [18 ก.ค. 2014].
ที่มารูป
www.chan1.net