องุ่น
ผลไม้เถาเลื้อย ต้านอนุมูลอิสระ และต้านมะเร็ง ผลเป็นพวงทรงกลม สีเขียว สีแดง สีดำ เนื้อฉ่ำน้ำ

องุ่น

องุ่น (Grape, Grape vine) เป็นผลไม้เถาเลื้อยที่มีประโยชน์หลากหลายส่วนใหญ่นิยมทานเป็นผลไม้สด คั้นเป็นน้ำผลไม้ แยม ใช้ในการผลิตไวน์ และน้ำมันสกัดจากเมล็ด มีแร่ธาตุและวิตามินหลายชนิดมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ และต้านมะเร็ง ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสารอาหารที่สำคัญมากมาย และมีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Vitis vinifera L. จัดอยู่ในวงศ์  (VITACEAE) นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า ผูเถา (จีนกลาง), ผู่ท้อ (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น[1]

ลักษณะของต้นองุ่น

  • ต้น เป็นพรรณไม้เลื้อยจำพวกเถา มีความยาวได้ถึง 10 เมตร มีขนขึ้นปกคลุมอยู่ทั้งต้น เถาอ่อนผิวจะเรียบ ตามข้อเถามีมือสำหรับยึดและเกาะเอาไว้ สามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด[1],[2],[3]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปกลมรีหรือรูปไข่ มีหยักคล้ายกับรอยฝ่ามือ หนึ่งใบจะมีรอยเว้าอยู่ประมาณ 3-5 รอย ปลายใบมีความแหลม โคนใบเว้าเข้าหากันจนคล้ายรูปหัวใจ ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย เนื้อใบบาง ส่วนใต้ใบมีขนขึ้นปกคลุม ใบมีความกว้างและความยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ส่วนก้านใบนั้นมีความยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร[1],[2]
  • ดอก จะออกดอกเป็นช่อตรงข้ามกับใบ ลักษณะกลมยาวและใหญ่ ดอกย่อยจะเป็นสีเหลืองอมสีเขียว แบ่งเป็น 5 กลีบย่อย และแตกออกเป็น 5 แฉก มีรังไข่อยู่ 2 อัน ในแต่ละรังไข่จะมีไข่อ่อนอยู่ 2 เมล็ด มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านเกสรเพศผู้จะยาว ส่วนก้านเกสรเพศเมียจะสั้น กลม เมื่อดอกโรยถึงจะออกผล[1]
  • ผล ออกผลเป็นพวงๆ ผลย่อยมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือกลมรีเป็นรูปไข่ ผลมีสีเขียว สีม่วงแดง หรือสีม่วงเข้ม ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ที่ปลูก ส่วนเปลือกผลจะมีผงสีขาวเคลือบอยู่ เนื้อในผลค่อนข้างฉ่ำน้ำ และมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปยาวรี[1]

สรรพคุณขององุ่น

1. ผล ช่วยลดความดันโลหิตสูง [2]
2. ผล ช่วยบำรุงเส้นเอ็นและกระดูก [1]
3. ผล มีสรรพคุณช่วยต้านมะเร็ง [2]
4. ผล ช่วยแก้อาการไอ ไอเรื้อรัง [1],[3]
5. ผล ช่วยบำรุงครรภ์ ครรภ์รักษา [1],[2],[3]
6. ผล มีสรรพคุณช่วยบำรุงไต [1],[2],[3]
7. ผล มีสรรพคุณช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง [2],[3]
8. ผล มีสรรพคุณเป็นยาแก้เลือดน้อย โลหิตจาง [1]
9. ผล มีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะเช่นกัน [1],[2],[3]
10. ผล นำมาคั้นเอาน้ำรับประทาน จะช่วยแก้อาการหงุดหงิดได้ [1]
11. ผล ช่วยขับลมชื้นในร่างกาย แก้บวมน้ำ (ราก,เถา,ใบ)[1],[2],[3] แก้ตัวบวมน้ำ [2],[3]
12. ผล ช่วยแก้หัวใจเต้นผิดปกติ แก้เหงื่อออกไม่รู้ตัว เหงื่อออกเนื่องจากหัวใจไม่ปกติ  [1],[2],[3]
13. ผล มีรสหวานและเปรี้ยวเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอด ม้าม และไต ใช้เป็นบำรุงโลหิต [1],[2],[3]
14. เมล็ด ช่วยลดไขมันในเลือด ด้วยการนำมาบดให้เป็นผงแห้ง บรรจุแคปซูลกิน 1-2 เม็ด เช้าและเย็น [2]
15. ผล ที่ไม่แก่จัดใช้กินวันละประมาณ 1.4-2.7 กิโลกรัม เป็นยารักษาอาการตับและดีเสื่อมสมรรถภาพหรือทำงานไม่ดี [3]
16. ผล มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคหนองใน (ผล)[2] ให้ใช้ผลสดนำมาคั้นเอาน้ำ และน้ำต้มรากบัวหลวง น้ำต้มจากโกฐขี้เถ้า น้ำผึ้ง นำไปต้มกินครั้งละ 2 ถ้วยชา (ผล)[3]
17. ผลสด นำมาคั้นเอาน้ำรับประทานแก้กระหายน้ำ หรือใช้ผลสดนำมาคั้นเอาน้ำ แล้วใช้ภาชนะที่ปั้นด้วยดินเผา เคี่ยวผสมน้ำผึ้งเล็กน้อย เก็บไว้กินทีละน้อย (ผล)[1],[3]
18. ผล ช่วยบำรุงกำลัง [2],[3] ให้ใช้ผลแห้งและโสม อย่างละ 3 กรัม นำมาแช่ในเหล้าประมาณ 1 คืน แล้วนำมาทาบริเวณฝ่ามือและแผ่นหลัง [1]
19. ผล มีสรรพคุณแก้ปัสสาวะขัด เจ็บ มีเลือดออก ด้วยการใช้ผลสดนำมาคั้นเอาน้ำ และน้ำต้มรากบัวหลวง น้ำต้มจากโกฐขี้เถ้า น้ำผึ้ง นำไปต้มกินครั้งละ 2 ถ้วยชา (ผล)[3]
20. ผล ช่วยแก้อาการปวดหลัง ให้ใช้ผลแห้งและโสม อย่างละ 3 กรัม นำมาแช่ในเหล้าประมาณ 1 คืน แล้วนำมาทาบริเวณฝ่ามือและแผ่นหลัง จะช่วยแก้อาการปวดหลังได้ [1]
21. ผลแห้ง มีสรรพคุณช่วยหล่อลื่นลำไส้ และเป็นยาระบายอ่อน ๆ [3]
22. ใบ ใช้เป็นยารักษาบิดในวัวควาย [3]
23. ใบ ใช้เป็นยาห้ามเลือดในริดสีดวงทวาร และบาดแผลสด [3]
24. รากสด ใช้ตำพอกแก้อาการฟกช้ำได้ [3]
25. ราก ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก กระดูกร้าว กระดูกหัก ด้วยการใช้รากสดนำมาตำแล้วพอก หรือจะนำมาตำแล้วนำมาคั่วกับเหล้าใช้พอกบริเวณที่เป็นก็ได้ (ราก)[1],[3]
26. ราก ใช้รักษาอาการอาเจียนเป็นเลือด ด้วยการใช้รากสด รากหญ้าคา รากไวเช่า รากบัวหลวง ใบสนแผง (สนหางสิงห์) และดอกแต้ฮวย อย่างละ 15 กรัม และเนื้อสัตว์นำมาต้มกับน้ำกิน [3]
27. ราก ใช้แก้อาการปวดตามข้อ โดยใช้รากสดประมาณ 60-90 กรัม และขาหมูตามบริเวณเล็บ 1 ขา หรือปลาหลีอื้อประมาณ 1-2 ตัว ใส่น้ำพอสมควร ต้มหรือใส่น้ำและเหล้าอย่างละเท่ากัน แล้วนำไปตุ๋นกิน [3] ใช้แก้อาการปวดข้อเนื่องจากลมชื้นเข้าข้อกระดูก ด้วยการใช้ราก 100 กรัม, คากิ 1 อัน นำมาตุ๋นกับเหล้าและน้ำอย่างละ 1 ส่วน แล้วนำมารับประทาน [1]
28. รากและผลมีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดข้อ [2],[3]
29. น้ำมันจากเมล็ด ช่วยขับน้ำดี [3]
30. น้ำมันจากเมล็ด มีฤทธิ์เป็นยาระบาย [3]
31. น้ำมันจากเมล็ด เมื่อนำมากินก่อนหรือพร้อมอาหาร จะสามารถลดกรดที่มีมากเกินไปในกระเพาะอาหารได้ [3]
32. ใบและเถา มีรสชุ่มฝาด สุขุม มีสรรพคุณเป็นยาแก้ตาแดง [2],[3]
34. ใบและเถา มีฤทธิ์ยาสมานแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น (แต่ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค) [3]
35. ราก เถา และใบ ใช้ภายนอกเป็นยารักษาฝีหนองอักเสบ แผลบวมเป็นหนอง [1],[2],[3]
36. ราก เถา และใบ มีรสชุ่ม ฝาด เป็นยาสุขุม ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด [1],[2],[3]

คุณค่าทางโภชนาการ

คุณค่าทางโภชนาการของผลเขียวหรือแดง ต่อ 100 กรัม พลังงาน 69 กิโลแคลอรี่

สารอาหาร ปริมารสารที่ได้รับ
คาร์โบไฮเดรต 18.1 กรัม
น้ำตาล 15.48 กรัม
ใยอาหาร 0.9 กรัม
ไขมัน 0.16 กรัม
โปรตีน 0.72 กรัม
วิตามินบี1 0.069 มิลลิกรัม (6%)
วิตามินบี2 0.07 มิลลิกรัม (6%)
วิตามินบี3 0.188 มิลลิกรัม (1%)
วิตามินบี5 0.05 มิลลิกรัม (1%)
วิตามินบี6 0.086 มิลลิกรัม (7%)
วิตามินบี9 2 ไมโครกรัม (1%)
วิตามินซี 3.2 มิลลิกรัม (4%)
วิตามินอี 0.19 มิลลิกรัม (1%)
วิตามินเค 14.6 ไมโครกรัม (14%)
โคลีน 5.6 มิลลิกรัม (1%)
แคลเซียม 10 มิลลิกรัม (1%)
ธาตุเหล็ก 0.36 มิลลิกรัม (3%)
แมกนีเซียม 7 มิลลิกรัม (2%)
ฟอสฟอรัส 0.071 มิลลิกรัม (3%)
โพแทสเซียม 191 มิลลิกรัม (4%)
โซเดียม 2 มิลลิกรัม (0%)
สังกะสี 0.07 มิลลิกรัม (1%)
ฟลูออไรด์ 7.8 ไมโครกรัม

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “องุ่น”. หน้า 640.
2. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “องุ่น” หน้า 205-206.
3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “องุ่น”. หน้า 832-834.
4. ผู้จัดการออนไลน์. “องุ่นมีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [24 ก.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://snaped.fns.usda.gov