พุทธรักษา
พุทธรักษา (Indian shot) เป็นต้นที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงพอสมควรเพราะเป็นดอกไม้มงคลที่มักจะนำมาใช้ในวันพิเศษของไทย มีจุดเด่นอยู่ที่ดอกหลากสีสัน ทั้งสีแดง สีแดงอมเหลือง สีส้ม สีเหลือง สีชมพูและสีขาว มีเหง้าที่สามารถนำมารับประทานได้หลายรูปแบบเช่นเดียวกับเผือกและมัน เป็นส่วนประกอบในอาหารที่นิยมของชาวมาเลเซียและชาวอินเดีย นอกจากนั้นยังเป็นต้นที่สามารถเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม วัตถุดิบทางการเกษตร และเป็นไม้ปลูกประดับทั่วไปได้
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของพุทธรักษา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Canna indica L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Indian shot” “India short plant” “India shoot” “Butsarana” “Cannas” “Canna lily”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “สาคูหัวข่า สาคูมอญ” ภาคเหนือเรียกว่า “พุทธสร” จังหวัดลำปางเรียกว่า “บัวละวงศ์” จังหวัดลพบุรีเรียกว่า “บัวละวง” พายัพเรียกว่า “พุทธศร” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ปล้ะย่ะ” คนจีนเรียกว่า “กวงอิมเกีย เซียวปาเจีย มุยหยิ่งเจีย” จีนกลางเรียกว่า “เหม่ยเหยินเจียว เสี่ยวปาเจียว”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ CANNACEAE
ลักษณะของพุทธรักษา
พุทธรักษา เป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อนอายุหลายปีที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย แอฟริกา และอเมริกา มีการกระจายพันธุ์อยู่ในป่าเมืองไทยหลายชนิด มักจะพบขึ้นตามป่าดงดิบ ป่าดงดิบแล้งในที่ลุ่ม หรือตามลำห้วย
ต้น : มักจะขึ้นรวมกันเป็นกอและเป็นต้นเดี่ยวไม่แตกกิ่งก้านสาขา จะมีข้อแต่ค่อนข้างห่างกัน ลำต้นมีความเหนียวและอุ้มน้ำ มีเหง้าหัวสีขาวแตกแขนงอยู่ใต้ดิน ลำต้นเทียมบนดินจะเกิดจากใบเรียงซ้อนเป็นลำตรงกลม ทั้งต้นไม่มีขนปกคลุม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปวงรีแกมขอบขนานกว้าง หรือวงรียาว ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบเป็นสีเขียว สีแดง สีเขียวขลิบแดงหรือสีม่วงเข้ม ภายในเป็นสีอมม่วงแดง แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม เส้นใบคล้ายขนนก กลางใบเป็นเส้นนูนเห็นได้ชัด มีก้านใบยาวเป็นกาบใบหุ้มลำต้นซ้อนสลับกัน
ดอก : ดอกมีหลายสี เช่น สีแดง สีแดงอมเหลือง สีส้ม สีเหลือง สีชมพู สีขาว สามารถออกดอกได้ตลอดปี โดยจะออกเป็นช่อบริเวณปลายยอดของลำต้น ก้านช่อดอกยาว มีดอกย่อยประมาณ 8 – 10 ดอก ช่อดอกมีรูปคล้ายทรงกระบอก เมื่อดอกบานจะแตกออกเป็น 3 กลีบ ปลายกลีบแหลม มีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ เป็นสีเขียวอ่อนและมีขนาดเล็กหุ้มอยู่บริเวณโคนดอก เป็นรูปไข่กลมวงรี ดอกมีผงเทียนไขปกคลุม มีเกสรเพศผู้เป็นหมัน กลีบดอกเป็นสีส้มแดง
ผล : เป็นผลแห้ง ลักษณะเป็นรูปทรงกลม เป็นพู 3 พู เปลือกนอกเป็นสีเขียวและมีขนหรือหนามอ่อนคล้ายกับลูกละหุ่งหรือลูกเร่ว
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดสีขาวหลายเมล็ด พอแก่จะเป็นสีน้ำตาลมัน
สรรพคุณของพุทธรักษา
- สรรพคุณจากเมล็ด
– แก้อาการปวดศีรษะ โดยชาวชวานำเมล็ดมาบดให้เป็นผงใช้พอกบริเวณขมับ - สรรพคุณจากดอก เป็นยาช่วยสงบจิต ทำให้หัวใจสดชื่น เป็นยาขับพิษร้อน ขับน้ำชื้นในร่างกาย ช่วยลดความดันโลหิต
– ห้ามเลือด รักษาบาดแผลสด รักษาบาดแผลมีหนอง แก้ฝีหนอง ด้วยการนำดอกสดมาตำให้ละเอียดใช้พอกแผล
– ห้ามเลือดบาดแผลภายนอก ด้วยการนำดอกแห้ง 10 – 15 กรัม มาต้มกับน้ำกินเป็นยา - สรรพคุณจากเหง้า แก้วัณโรค แก้อาการไอ เป็นยาบำรุงปอด ช่วยแก้โรคบิด แก้บิดเรื้อรัง ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ เป็นยาตำพอกรักษาแผลอักเสบบวม ช่วยสมานแผล แก้ฝีหนองปวดบวม แก้ฟกช้ำ
– ขับเหงื่อปัสสาวะในอาการไข้และอาการบวมน้ำ โดยชาวอินเดียนำเหง้ามาเป็นยา
– แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้กระอักเลือด แก้ไอมีเลือด ด้วยการนำเหง้ามาต้มกินเป็นยา
– ช่วยแก้อาการปวดฟัน ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี ด้วยการนำเหง้าแห้งผสมกับข้าวเหนียว แล้วนำมาตุ๋นกับไก่กิน
– แก้อาการท้องร่วง โดยชาวชวานำเหง้ามาคั้นเอาน้ำเป็นยา
– แก้ประจำเดือนมาไม่หยุดของสตรี ด้วยการนำเหง้ากับดอกเข็มมาตุ๋นร่วมกับไก่กิน หรือนำเหง้าแห้งผสมกับข้าวเหนียวตุ๋นกับไก่กินเป็นยา
– แก้โรคตับอักเสบ แก้ตับอักเสบติดเชื้อ แก้ตับอักเสบอย่างเฉียบพลันแบบดีซ่าน แก้อาการตัวเหลือง ด้วยการนำเหง้าสดมาต้มกับน้ำ แบ่งกินวันละ 2 เวลา เช้าและเย็น ติดต่อกัน 20 วัน ในระหว่างการรักษาห้ามกินกุ้ง ปลา ของเผ็ด จิงฉ่าย และน้ำมันพืช
– แก้คุดทะราด ทำความสะอาดบาดแผล โดยชาวกัมพูชานำเหง้ามาต้มและคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากใบ ช่วยแก้อาเจียน ช่วยแก้อาการจุกเสียด แก้ท้องเสีย
ประโยชน์ของพุทธรักษา
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร เหง้านำมาใช้ประกอบอาหารได้เช่นเดียวกับเผือกและมัน ชาวมาเลเซียนำเหง้าปรุงเป็นอาหาร ลำต้นใต้ดินหรือเหง้านำมาใช้ทำแป้งที่เรียกว่า Canna starch ได้
2. ใช้ในการเกษตร ชาวอินเดียนำก้านใบผสมกับข้าว พริกไทยและน้ำมาต้มให้เดือดเป็นยาแก้พิษเนื่องจากไปกินหญ้ามีพิษของวัว ใบและกาบใบนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยหมัก
3. เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรม ใยจากก้านใบนำมาใช้แทนปอกระเจาได้ในอุตสาหกรรมทำเชือกและถุงเท้า ใบนำมาใช้ในการมุงหลังคา ทำกระทง และทำเชือก เมล็ดนำมาใช้ทำเป็นสร้อยและร้อยเป็นสายประคำ ชาวสเปนนำเมล็ดมาทำลูกปัด ชาวซิมบับเวนำมาใช้ทำเครื่องดนตรีที่ชื่อว่าฮอชฮา (Hosha) ใบใช้ทำเป็นกระดาษสา ใช้ห่อของ และให้สีจากธรรมชาติได้ การสกัดสีจากใบพุทธรักษานั้นมีการนำมาใช้แต่งงานศิลปะ วาดภาพ และพิมพ์ภาพ กาบใบนำมาตากแดดให้แห้งใช้ประดิษฐ์เป็นของใช้หรือของเล่น ดอกนำมาสกัดสีทำเป็นสีสำหรับย้อมผ้าได้ ส่วนมากนิยมใช้ตัดดอกปักแจกัน
4. ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ปลูกตามริมสวนน้ำ ริมคูน้ำที่โล่งแจ้ง ตามร่องระบายน้ำ ริมถนนทางเดิน หรือปลูกลงในกระถางเพื่อประดับอาคารบ้านเรือน
5. เป็นไม้มงคล ดอกพุทธรักษาสีเหลืองเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันพ่อ และเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดชุมพรด้วย
6. เป็นความเชื่อ คนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นพุทธรักษาไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะช่วยปกป้องคุ้มครองไม่ให้มีเหตุร้ายหรืออันตรายใด ๆ
พุทธรักษา เป็นไม้มงคลที่มีดอกหลายสีสวยงาม เหมาะสำหรับปลูกประดับเป็นอย่างมาก นอกจากความงามแล้วนั้นยังเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในอุตสาหกรรมได้มากมาย พุทธรักษามีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเหง้า มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ปวดหัว ลดความดันเลือด บำรุงปอด ช่วยแก้โรคบิด แก้โรคตับอักเสบ แก้ตับอักเสบติดเชื้อ แก้ประจำเดือนและอาการตกขาวของผู้หญิงได้ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ถือว่าพุทธรักษาเป็นต้นที่ดีต่อระบบเลือดในร่างกายเป็นอย่างมาก
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “พุทธรักษา (Phut Ta Raksa)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 198.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “พุทธรักษา”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 567-568.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “พุทธรักษา”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 396.
ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “พุทธรักษา” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [07 พ.ค. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 10 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้. “พุทธรักษา”. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [07 พ.ค. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนอุดมศึกษา. “การศึกษาดอกพุทธรักษา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.udomsuksa.ac.th/Latphrao/Knowledge/Botanical/botanic01.asp. [07 พ.ค. 2014].
มหาวิทยาลัยขอนแก่น. “บอกรักพ่อด้วยดอกพุทธรักษา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: home.kku.ac.th/pgorpa/fran.htm. [07 พ.ค. 2014].
บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เรื่องพุทธรักษา”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [07 พ.ค. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “พุทธรักษา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [07 พ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : Medthai