สนุ่น ไม้ริมน้ำทั่วไป ช่วยแก้ไข ดับร้อน รักษาเบาหวานและบำรุงหัวใจ

0
1602
สนุ่น ไม้ริมน้ำทั่วไป ช่วยแก้ไข ดับร้อน รักษาเบาหวานและบำรุงหัวใจ
สนุ่น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับวงรี ช่อดอกห้อยลงแบบหางกระรอก
สนุ่น ไม้ริมน้ำทั่วไป ช่วยแก้ไข ดับร้อน รักษาเบาหวานและบำรุงหัวใจ
สนุ่น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับวงรี ช่อดอกห้อยลงแบบหางกระรอก

สนุ่น

สนุ่น (Indian willow) มีช่อดอกห้อยลงแบบหางกระรอกทำให้ต้นดูโดดเด่นและสวยงาม เป็นต้นที่มีรสเย็นและอยู่ในตำรายาไทย มักจะพบในที่ลุ่มชื้นแฉะหรือตามริมน้ำ สามารถพบได้ทุกภาคในประเทศไทย สนุ่นเป็นต้นที่พบได้ง่ายแต่คนส่วนมากอาจจะไม่ค่อยรู้จักและไม่รู้ถึงประโยชน์จากต้น สามารถนำดอกและยอดอ่อนมาใช้ปรุงในอาหารได้ และยังเป็นต้นที่ดีต่อระบบนิเวศอีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของสนุ่น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Salix tetrasperma Roxb.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Willow” “Indian willow” “White willow”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “ไคร้นุ่น สนุ่นบก ตะไคร้บก” ภาคอีสานเรียกว่า “ไก๋นุ่น” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “สนุ่นน้ำ” จังหวัดอยุธยาเรียกว่า “ตะหนุ่น” จังหวัดยะลาเรียกว่า “ไคร้ใหญ่” จังหวัดปัตตานีเรียกว่า “คล้าย” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “กร่ยฮอ กะดึยเดะ” ไทใหญ่เรียกว่า “ไม้ไคร้” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ตะนุ่น ไคร้บก ไคร้นุ่ม”
ชื่อวงศ์ : วงศ์สนุ่น (SALICACEAE)
ชื่อพ้อง : Pleiarina tetrasperma (Roxb.) N. Chao & G.T. Gong

ลักษณะของต้นสนุ่น

ต้นสนุ่น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่พบในอินเดีย ปากีสถาน จีนตอนใต้ เวียดนาม พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ส่วนในประเทศไทยพบตามที่ลุ่มชื้นแฉะ ที่โล่งริมธารน้ำ แม่น้ำลำคลอง ป่าชายน้ำ ป่าผลัดใบและป่าไม่ผลัดใบหรือภูเขาที่โล่ง
ลำต้น : ลำต้นเดี่ยวตั้งตรงและมีเนื้ออ่อน
เปลือกต้น : เปลือกต้นหนาเป็นสีน้ำตาลเทาหรือสีเทาเข้ม มีรอยแตกลึกตามยาว กิ่งก้านแตกเป็นพุ่มทรงกลม โปร่ง กิ่งก้านมีลักษณะชูตั้งขึ้น ปลายลู่ลงเล็กน้อยแต่จะไม่ห้อยลงเป็นกิ่งยาว ๆ ยอดอ่อนมีขนสีเงินขึ้นอยู่หนาแน่น
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมน เป็นรูปลิ่ม หรือเบี้ยว ขอบหยักเป็นซี่ฟันเล็ก ใบแก่หนาเกลี้ยงหรือมีขนหนาแน่น หลังใบเป็นสีเขียวแก่ ท้องใบเป็นสีขาวนวล เส้นใบข้างมีประมาณ 12 – 24 คู่ มีก้านใบสีแดงลักษณะเรียวเล็ก
ดอก : ออกดอกเป็นช่อเล็กโดยจะออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่งข้างสั้น ๆ ช่อดอกห้อยลงแบบหางกระรอก ทรงกระบอก ปลายช่อมีใบอ่อน ดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน เป็นแบบแยกเพศและอยู่คนละต้น ดอกย่อยไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีก้านดอกเรียวเล็ก มีกาบรองดอกเป็นรูปไข่ ดอกเพศผู้มีเกสรประมาณ 4 – 10 อัน เพศเมียมีต่อมน้ำหวานที่ฐาน 1 ต่อม รังไข่มีขนขึ้นหนาแน่น ออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม
ผล : เป็นผลแห้งและแตกได้ ผลเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีออกเทา แตกได้เป็น 2 พู โดยจะติดผลในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กประมาณ 4 – 6 เมล็ด ปลายด้านหนึ่งมีแผงขนสีขาวเป็นปุย สามารถปลิวไปตามลมเพื่อกระจายพันธุ์ได้

สรรพคุณของสนุ่น

  • สรรพคุณจากราก
    – ช่วยทำให้เจริญอาหาร ดับพิษร้อนทั้งปวง แก้ตับพิการ ด้วยการนำรากมาต้มแล้วดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น บำรุงหัวใจ ช่วยทำให้หัวใจเต้นแรง ชูเส้นชีพจร ตำรายาไทยใช้แก้ไข้ตัวร้อน รักษาโรคริดสีดวงจมูก
    – ช่วยดับร้อน แก้เด็กตัวร้อน แก้ไข้ แก้หวัดคัดจมูก ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มเอาน้ำอาบและรดศีรษะเด็ก
    – รักษาโรคเบาหวาน ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบ
    – แก้พิษงูสวัด แก้เริม แก้แผลเปื่อย ด้วยการนำใบสดมาคั้นเอาน้ำมาทา พอกหรือพ่น

ประโยชน์ของสนุ่น

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกอ่อนนำมารับประทานได้ ยอดอ่อนใช้ใส่ในแกงจะช่วยแก้เมาพิษจากปลาอย่างปลามุงหรือปลาสะแงะ หากนำรากมาต้มจะช่วยรับรู้รสชาติอาหารได้ดีขึ้นด้วย
2. ใช้ในด้านสิ่งแวดล้อม ปลูกไว้ริมน้ำเพื่อยึดตลิ่งไม่ให้พังทลายได้ง่าย
3. ทำฟืน เนื้อไม้เบาใช้ทำฟืนได้

สนุ่น เป็นต้นที่มีชื่อเรียกค่อนข้างหลากหลายและมักจะพบตามริมน้ำหรือริมคลอง นิยมปลูกเพื่อยึดตลิ่งไม่ให้พังทลาย เป็นต้นที่สามารถนำมาใช้ปรุงในอาหารและนำมาทานได้ สนุ่นมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือกต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไขและดับร้อน รักษาเบาหวาน บำรุงหัวใจและทำให้เจริญอาหารได้

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “สนุ่น”. หน้า 140.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สนุ่น Willow”. หน้า 182.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “สนุ่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [21 ต.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “สนุ่น, ไคร้นุ่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [21 ต.ค. 2014].
หนังสือต้นไม้เมืองเหนือ : คู่มือศึกษาพรรณไม้ยืนต้นในป่าภาคเหนือ ประเทศไทย. (ไซมอน การ์ดเนอร์, พินดา สิทธิสุนทร, วิไลวรรณ อนุสารสุนทร). “สนุ่น”.