มะกอกเกลื้อน
มะกอกเกลื้อน (Kenari) คือ ไม้ยืนต้นที่ถูกจัดอยู่ในวงศ์มะแฟน โดยต้นไม้ชนิดนี้ทนต่อแสงแดดได้ดีขึ้นตามบริเวณป่าไม้ผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะ ป่าดิบแล้ง และตามบริเวณป่าหญ้าหรือทุ่งหญ้าทั่วไป บนพื้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100 -1,200 เมตร พบได้ในป่าทุกภาคของประเทศไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Canarium subulatum Guillaumin จัดอยู่ในวงศ์มะแฟน (BURSERACEAE) นอกจากนี้ยังมีชื่ออื่น ๆ ว่า มะเลื่อม (พิษณุโลก, จันทบุรี), มักเหลี่ยม (จันทบุรี), โมกเลื่อม (ปราจีนบุรี), มะกอกเกลื้อน (ราชบุรี), มะเหลี่ยมหิน (มหาสารคาม), มะเกิ้ม (ภาคเหนือ), กอกกัน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), มะกอกเลื่อม (ภาคกลาง), มะกอกเลือด (ภาคใต้), มะกอกกั๋น (คนเมือง), มะเกิ้ม (ไทลื้อ), เกิ้มดง เพะมาง สะบาง ไม้เกิ้ม (ขมุ), ซาลัก (เขมร) เป็นต้น[1],[3],[5]
ลักษณะของมะกอกเกลื้อน
- ต้น เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบมีขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ ความสูงของต้นประมาณ 10-25 เมตร เรือนยอดกลม ลำต้นตั้งตรง ตามกิ่งมีแผลใบชัดเจน กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลอมส้มขึ้นอย่างหนาแน่น เปลือกต้นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเทาถึงเทาแก่ และมีรอยแตกเป็นสะเก็ดหรือแตกเป็นร่องตามยาว ส่วนเปลือกชั้นในเป็นสีน้ำตาลอ่อนมีขีดเส้นขาว ๆ เมื่อสับจะมีน้ำยางสีขาวขุ่นหรือน้ำยางใสไหลออกมา น้ำยางเมื่อแห้งนั้นจะเป็นสีน้ำตาลดำหรือสีดำ กลิ่นคล้ายกับน้ำมันสน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง
- ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงเวียน มีใบย่อยประมาณ 2-5 คู่ ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบประกอบยาวได้ประมาณ 12-14 เซนติเมตร แกนกลางยาวประมาณ 8.5-12 เซนติเมตร ลักษณะใบย่อยเป็นรูปไข่แกมวงรี รูปรีแกมรูปไข่ รูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปหอก ปลายใบเป็นมนมีติ่งแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบมนมีเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเป็นหยักเป็นซี่เลื่อยตื้น ๆ ตามรอยหยักนั้นมีขนเป็นกระจุก มีหูใบหลุดร่วงได้ง่าย ใบกว้างประมาณ 8-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-18 เซนติเมตร แผ่นใบผิวกึ่งหนา คล้ายแผ่นหนัง หลังใบด้านบนมีขนขึ้นประปรายที่เส้นกลางใบและขอบใบ ส่วนท้องใบด้านล่างนั้นก็มีขนสั้น ๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป ท้องใบเห็นเส้นใบชัดเจน เส้นแขนงใบมีข้างละ 8-15 เส้น ก้านใบย่อยยาวอยู่ที่ประมาณ 0.5-1.2 เซนติเมตร ก้านใบรวมมีหูใบแคบ 1 คู่ ขนาดประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ส่วนใบเมื่อแก่จะเป็นสีแดงเข้ม[1],[2],[3],[4]
- ดอก ออกดอกเป็นแบบช่อเชิงลดไปตามซอกใบใกล้กับปลายกิ่ง ยาวได้ประมาณ 7-25 เซนติเมตร มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกมีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียนั้นแยกกัน แต่อยู่ภายในต้นเดียวกัน ช่อดอกเพศผู้นั้นจะยาวกว่าช่อดอกเพศเมีย ช่อดอกเพศผู้มักออกดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงยาว 7-25 เซนติเมตร ส่วนช่อดอกเพศเมียออกดอกเป็นช่อกระจะยาวเพียง 8-10 เซนติเมตร ดอกเพศเมียมีขนประปราย มีกลีบดอกเป็นสีขาวแกมเหลือง มีกลีบ 3 กลีบ ลักษณะรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ส่วนกลีบรองนั้นกลีบดอกที่โคนเชื่อมติดกันจะเป็นรูปกรวยหรือรูปถ้วย ยาวอยู่ที่ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉก 3 แฉก ยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร มีขนนุ่มทั้งสองด้าน ขอบหยัก ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน เชื่อมที่ฐานเป็นท่อสั้น ๆ รังไข่อยู่ที่เหนือวงกลีบ เป็นรูปรีมี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2],[3],[4]
- ผล เป็นช่อ ช่อหนึ่งมีผล 1-4 ผล ช่อยาวประมาณ 2.5-8 เซนติเมตร ผลเป็นรูปไข่ รูปกลม หรือรูปกระสวย ผลเมื่ออ่อนเป็นสีเหลือง ผลเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.7-3.5 เซนติเมตร ตรงขั้วผลมีกลีบรองกลีบดอกเป็นรูปถ้วยเชื่อมติดอยู่กับก้านช่อดอก มีขนาดกว้างประมาณ 0.6-1.5 เซนติเมตร ผลมีเมล็ดเป็นรูปกระสวย 3 เมล็ด เรียงตัวกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ชั้นหุ้มเมล็ดจะแข็งมาก ติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม[1],[3],[4]
สรรพคุณของมะกอกเกลื้อน
1. ชาวเขาเผ่าแม้ว นำต้นมาต้มกับน้ำอาบ ช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง (ทั้งต้น)[1],[2],[4]
2. ตำรายาไทยนั้นจะใช้ผลมารับประทานเป็นยาแก้ไอ หรือผลสดหรือผลแห้งนำมาต้มเอาน้ำกิน ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือให้ใช้ผลแห้งนำมาตำให้ละเอียด แล้วมาชงกับน้ำกินเป็นยาแก้ไอ (ผล)[1],[2],[3],[4]
3. ผลรับประทานเป็นยาช่วยขับเสมหะ น้ำลายเหนียว หรือผลสดหรือผลแห้งนำมาต้มเอาน้ำกิน ส่วนอีกวิธีคือใช้ผลแห้งมาตำให้ละเอียด แล้วนำมาชงกับน้ำกิน (ผล)[1],[2],[3],[4]
4. ตำรายาพื้นบ้านของทางอีสานจะนำเปลือกต้นเป็นยารักษาโรคลักปิดลักเปิดหรือโรคเลือดออกตามไรฟัน (เปลือกต้น)[4]
5. แก่นมีรสที่เฝื่อนใช้เป็นยาแก้โลหิตระดูพิการ (แก่น)[4]
6. ยางสดเป็นยาทาภายนอกแก้อาการคัน ตุ่มคันหรือเม็ดผื่นคัน (ยาง)[1],[3],[4]
7. แก่นเป็นยาแก้ประดง (อาการของโรคผิวหนังที่เป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด มีอาการคันมากและมักมีไข้ร่วมด้วย) (แก่น)[4]
ประโยชน์ของมะกอกเกลื้อน
1. ผลสดมีรสที่ฝาดเปรี้ยวรับประทานได้[1] เป็นพืชป่าเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง ประชาชนเก็บผลมาขายได้ โดยการนำผลมาดองและแช่อิ่มแทนลูกหนำเลี้ยบเพื่อรับประทาน[4],[7] หรือจะนำผลแก่รับประทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริกก็ได้
2. เนื้อในเมล็ดสีขาวมีรสมันรับประทานได้[4]
3. ยางสดเป็นเครื่องหอม[3],[4]
4. เนื้อไม้นำมาทำโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้านได้ เช่น หน้าต่าง ประตู กระดาน พื้น ฝา เครื่องมือเครื่องใช้ภายในร่ม ทำก้านและกลัดไม้ขีดไฟ ทำพิณ ฯลฯ[5] (ในปัจจุบันจัดเป็นไม้หวงห้ามธรรมดา ประเภท ก.)[6]
5. นิยมปลูกเป็นไม้เบิกนำการปลูกป่า เนื่องจากเป็นไม้เนื้ออ่อน กิ่งหักง่าย และก่อให้เกิดโพรงตอนฝนตกลงมา ทำให้น้ำฝนมาขังอยู่ในโพรงตลอดทั้งปี ชาวอีสานเรียกโพรงนี้ว่า “สร้างนก” ซึ่งหมายถึงแอ่งน้ำสำหรับนก ที่ให้นกมีน้ำกินตลอดทั้งปี[7]
6. หมอยาบางท่านยังใช้น้ำที่ได้จาก “สร้างนก” ไปทำน้ำกระสายยาอีกด้วย[7]
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “มะ กอก เกลื้อน”. หน้า 118.
2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะกอกเกลื้อน”. หน้า 57.
3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “มะ กอก เกลื้อน”. หน้า 592-593.
4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะกอกเลื่อม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [05 พ.ย. 2014].
5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “มะเกิ้ม, มะกอก เกลื้อน”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [05 พ.ย. 2014].
6. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “มะกอก เกลื้อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [05 พ.ย. 2014].
7. ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “มะกอกเกลื้อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.goldenjubilee-king50.com. [05 พ.ย. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.ydhvn.com/lists/cay-tram-ken-tram-la-do-ca-na-mui-nhon-canarium-subulatum-guill
2. https://www.ydhvn.com/cay-thuoc-quanh-ta/cay-tram-trang-ca-na-canarium-album-lour-raeusch