โรคฉี่หนู ( Leptospirosis ) ภัยเงียบที่มากับหน้าฝนและน้ำท่วม

0
4382
โรคฉี่หนู ( Leptospirosis ) อันตรายที่มากับหน้าฝน
โรคฉี่หนู ( Leptospirosis ) หรือเรียกอีกอย่างว่าโรคเล็ปโตสไปโรซิส คือ การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งกับคนและสัตว์
โรคฉี่หนู ( Leptospirosis ) อันตรายที่มากับหน้าฝน
โรคฉี่หนู ( Leptospirosis ) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อกลุ่ม Leptospira

โรคฉี่หนู

โรคฉี่หนู ( Leptospirosis ) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อ กลุ่ม Leptospira มักพบการระบาดในหน้าฝน หรือช่วงที่มีน้ำท่วมขัง ที่เกิดขึ้นได้ทั้งกับคนและสัตว์ สัตว์ฟันแทะจำพวกหนูเป็นพาหะนำโรค   การสัมผัสดิน น้ำ อาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะ เลือด และเนื้อเยื่อของสัตว์ที่ติดเชื้อชนิดนี้  โดยเชื้อโรคติดต่อเข้าสู่ร่างกายได้ทางสัมผัสแผลที่ผิวหนังหรือเยื่อเมือก เชื้อจะเข้าไปทำลาย ตับ ไต กล้ามเนื้อ ผิวหนัง และหลอดเลือด ทำให้มีเลือดออกเป็นจุดเล็กๆ ทั่วไป

อาการโรคฉี่หนู

อาการโรคฉี่หนู จะแสดงอาการหลังจากได้ติดเชื้อแล้ว ในช่วงเวลา 2 – 30 วัน ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อจะมีอาการในช่วงประมาณ 7 – 14 วัน ซึ่งอาการของโรคฉี่หนูนั้นนี้มีอาการตั้งแต่ขั้นอ่อนไปจนถึงขั้นรุนแรงจนถึงชีวิต โรคฉี่หนูส่วนมากมักไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง มีเพียงอาการทั่ว ๆ ไปคล้ายโรคหวัดใหญ่ ดังนี้

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดศีรษะ มีไข้สูง หนาวสั่น
  • ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ
  • เจ็บช่องท้อง
  • รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • ตาแดงหรือระคายเคืองที่ตา
  • มีผื่นขึ้น
  • ไม่อยากอาหาร
  • ท้องเสีย
  • ครั่นเนื้อครั่นตัว
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปัสสาวะมีความผิดปกติ

การรักษาโรคฉี่หนู

เมื่อเป็นโรคฉี่หนูแล้ว จะเป็นอันตรายมาก ไม่สามารถปล่อยให้หายเองได้ ดังนั้นเมื่อเกิดอาการ จึงควรรีบไปหาหมอโดยเร็ว   

1. การรักาษาโรคฉี่หนู สามารถใช้ ยาปฏิชีวนะอย่างยาเพนิซิลลิน ( Penicillin ) หรือดอกซีไซคลิน ( Doxycycline ) เป็นระยะเวลา 5 – 7 วัน ซึ่งควรต้องรับประทานตามกำหนดให้ครบถ้วนแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อแบคทีเรียถูกกำจัดจนหมด และป้องกันการกลับไปติดเชื้ออีกครั้ง
2. รับประทานยาแก้ปวด ไอบูโพรเฟน ( Ibuprofen ) หรือพาราเซตามอล ( Paracetamol ) เพื่อลดอาการปวดศีรษะ มีไข้ และปวดกล้ามเนื้อได้เช่นกัน
3. ถ้าผู้ป่วยโรคฉี่หนูแบบรุนแรงจะต้องนอกพักที่โรงพยาบาล และรักษาอาการติดเชื้อด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าไปในกระแสเลือดโดยตรง และหากมีอวัยวะใด ๆ ที่เสียหายจากการติดเชื้อ ทำให้ไม่สามารถใช้หรือทำหน้าที่ตามปกติได้ก็อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือต่าง ๆ เข้าช่วย เช่น ผู้ป่วยอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือหากติดเชื้อที่ไตทำให้ไตเสียหายจนทำงานไม่ได้ก็ต้องใช้การล้างไตเข้าช่วย เป็นต้น
4. ผู้ป่วยบางรายอาจออกจากโรงพยาบาลได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่บางรายอาจต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลาหลายเดือน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะของผู้ป่วย รวมถึงความเสียหายต่ออวัยวะที่ติดเชื้อ
5. กรณีหญิงตั้งครรภ์ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเชื้ออาจแพร่ไปสู่ทารกในครรภ์และส่งผลให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการของโรคฉี่หนูจึงอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด

การป้องกันโรคฉี่หนู

  • ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการติดต่อของโรคฉี่หนูแก่ประชาชน โดยให้หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำหรือการเดินลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อปัสสาวะจากสัตว์นำโรค
  • ควรสวมใส่รองเท้าบู๊ตป้องกันทุกครั้งหากมีความจำเป็น
  • หมั่นตรวจตราแหล่งน้ำและดินทรายที่อาจมีเชื้อปนเปื้อน ควรระบายน้ำตามท่อระบายออกแล้วล้างเพื่อกำจัดน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคฉี่หนู
  • ส่งเสริมการป้องกันโรคฉี่หนูแก่ผู้ที่ทำอาชีพที่มีความเสี่ยงทั้งหลาย โดยให้สวมถุงมือยางหรือรองเท้าบู๊ต
  • กำจัดหนูตามบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท
  • แยกสัตว์ที่ติดเชื้อโรคฉี่หนูออกจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ และบริเวณที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  • ปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฉี่หนู โดยเลือกฉีดวัคซีนซีโรวาร์ ( Serovars ) สำหรับป้องกันเชื้อฉี่หนูชนิดที่พบได้บ่อยตามท้องถิ่นนั้น ๆ ทั้งนี้การฉีดวัคซีนแม้จะสามารถป้องกันโรคฉี่หนู แต่ไม่อาจป้องกันการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อทางปัสสาวะได้   

กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคฉี่หนู

  • คนที่ทำงานฟาร์มปศุสัตว์หรือทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ สัมผัสเนื้อหรือมูลของสัตว์
  • คนแล่เนื้อหรือคนที่ทำงานกับสัตว์ที่ตายแล้ว
  • ชาวประมงที่หาสัตว์ตามแหล่งน้ำจืด
  • ผู้ที่อาบน้ำตามแม่น้ำ ลำคลอง ที่เป็นแหล่งน้ำจืดทั้งหลาย
  • คนที่ทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาทางน้ำ เช่น ว่ายน้ำ พายเรือ แล่นเรือ ล่องแก่ง เป็นต้น
  • สัตวแพทย์
  • พนักงานกำจัดหนู
  • พนักงานลอกท่อ
  • คนงานเหมือง
  • ทหาร
  • ผู้มีอาชีพสัมผัสน้ำหรือคนที่ย่ำน้ำในที่น้ำท่วมขังนาน ๆ

ปัจจุบันในบางประเทศมีวัคซีนโรคฉี่หนูสำหรับคน โดยใช้ฉีดป้องกันให้คนงานหรือผู้มีอาชีพเสี่ยงติดเชื้อ ได้แก่ประเทศฝรั่งเศส เสปน อิตาลี จีน ญี่ปุ่น และอิสราเอล ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนสำหรับคน นอกจากนี้โรคฉี่หนูยังสามารถติดต่อให้สุนัข แมว ที่เป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน  เมื่อสัตว์เลี้ยงเกิดอาการป่วยควรนำไปพบสัตวแพทย์ทำการรักษา เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปยังคน และสัตว์อื่นๆด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

โรคฉี่หนู (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://www.sikarin.com [6 กันยายน 2562].

ฉี่หนู อันตรายแค่ไหนถามใจดู (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://www.thaihealth.or.th [6 กันยายน 2562].

โรคฉี่หนู ภัยร้ายที่มากับหน้าฝน (Leptospirosis) (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://www.siphhospital.com