ลิเภา หรือ “หญ้ายายเภา” ยาสมุนไพรยอดนิยมของชาวเขา
ลิเภา หรือหญ้ายายเภา เป็นเฟิร์นต้นเป็นเหง้าสั้นมีขนสีน้ำตาลเข้มหนาแน่น เมื่อแก่จะมีสีดำและเป็นมัน นิยมทำกระเป๋าและเครื่องประดับได้

ลิเภา

ลิเภา (Lygodium flexuosum) หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “หญ้ายายเภา” เป็นต้นที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นหลากหลายชื่อจนดูน่าสับสนและยังมีหลากหลายสายพันธุ์ เป็นเฟิร์นทอดเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่นที่พบได้ตามป่าทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ทั้งต้นมีรสจืดเย็นและยังเป็นยาสมุนไพรที่ชาวเขาเผ่าอีก้อ ชาวแม้ว ชาวมูเซอ ชาวเย้า ตำรายาไทยและตำรายาพื้นบ้านล้านนาล้วนนำมาใช้ทั้งนั้น นอกจากนั้นลิเภายังนำต้นมาใช้ทำเชือกและนำส่วนของใบอ่อนมารับประทานเป็นผักสดได้ ทว่าลิเภาเองก็มีพิษต่อสัตว์อย่างหนูและกระต่ายเช่นกัน

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของลิเภา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lygodium flexuosum (L.) Sw.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Big Lygodium” “Climbing Fern” “Darai Paya” “Ribu – Ribu Besar” “Ribu – Ribu Gajah”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “กูดก้อง กูดเครือ กูดงอดแงด กูดแพะ กูดย่อง ผักจีน ต๊กโต” ภาคใต้เรียกว่า “ตะเภาขึ้นหน หลีเภา” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “เฟิร์นตีนมังกร” จังหวัดพิจิตรเรียกว่า “ตีนตะขาบ” จังหวัดราชบุรีเรียกว่า “กระฉอด หมอยแม่ม่าย” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “หมอยแม่ม่าย” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า “กระฉอก ตะเภาขึ้นหน” จังหวัดปัตตานีเรียกว่า “ลิเภาใหญ่” จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า “หมอยยายชี” ชาวกะเหรี่ยงแดงเรียกว่า “เต่วีเหมาะ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “กิ๊โก่หล่า” ชาวลัวะเรียกว่า “กูดงอ บ่ะกูดงอ บะฮวาล” ชาวขมุเรียกว่า “กะราวาหระ” ชาวไทลื้อเรียกว่า “กูดงอ” ชาวปะหล่องเรียกว่า “ด่อวาเบรียง” คนเมืองเรียกว่า “กูดก๊อง ผักกูดก๊อง” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “งอแง ลิเภาย่อง ย่านลิเภา หญ้ายายเภา สายพานผี”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ LYGODIACEAE
ชื่อพ้อง : Eupatorium rebaudianum Bertoni, Stevia rebaudiana (Bertoni) Hemsl.

ลักษณะของลิเภา

ลิเภา เป็นเฟิร์นทอดเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่นยาวได้หลายเมตรที่มักจะพบขึ้นตามป่าทั่วไป ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบและป่าผลัดใบผสมทั่วทุกภาคของประเทศไทย
ลำต้น : ลำต้นเป็นเหง้าสั้นมีขนสีน้ำตาลเข้มหนาแน่น ไม่มีเกล็ด ลำต้นเมื่อแก่จะมีสีดำและเป็นมัน
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น แกนกลางมีลักษณะเป็นเถาเลื้อย โคนก้านใบเป็นสีน้ำตาล ด้านบนเป็นสีเหลืองน้ำตาล มีขนสีน้ำตาล มีปีกแผ่ยื่นออกมาไม่ชัดเจนหรือไม่มี ใบย่อยออกเรียงบนแกนกลางของใบโดยใบย่อยที่ไม่สร้างสปอร์ แผ่นใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบเป็นรูปหัวใจ ขอบใบหยักเว้าเป็นฟันปลา แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ผิวใบมีขนใส หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนขึ้นประปรายตามเส้นใบ ส่วนใบย่อยที่สร้างสปอร์ที่อยู่กลางเถาขึ้นไปนั้นแอนนูลัสจะประกอบด้วยเซลล์เพียงแถวเดียวซึ่งเรียงตัวในแนวขวางและอยู่ตรงยอดของอับสปอร์ เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์เทียมจะมีลักษณะเป็นถุงเรียงซ้อนกันและมีขนใส กลุ่มสปอร์นั้นจะเกิดที่ขอบใบย่อย ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าลักษณะของใบย่อยนั้นจะมีอยู่หลายรูปร่าง เช่น ขอบขนานไปจนถึงรูปสามเหลี่ยมยาว ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย

สรรพคุณของลิเภา

  • สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาขับเสมหะ ตำรายาไทยใช้ปรุงเป็นยาแก้พิษฝีภายในและฝีภายนอก
    – แก้อาการเจ็บคอและเสียงแหบ โดยชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว มูเซอและเย้านำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – เป็นยาขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะและนิ่วในไต รักษาเลือดตกใน แก้อาการปวดหลัง ด้วยการนำทั้งต้นรวมรากและเหง้ามาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
    – เป็นยาถอนพิษ แก้ฟกช้ำบวม ทำให้เย็นและช่วยแก้อาการอักเสบจากงู ตะขาบ แมงป่องและแมลงมีพิษกัดต่อย ด้วยการนำทั้งเถาและใบใช้ตำพอกปิดแผลที่สัตว์มีพิษกัดต่อย
  • สรรพคุณจากราก
    – แก้อาการร้อนใน รักษาโรคริดสีดวงทวารและโรคนิ่ว แก้ปัสสาวะแดงและปัสสาวะเหลือง ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – เป็นยารักษาโรคมะเร็ง ด้วยการนำรากมาผสมกับยาอื่น
  • สรรพคุณจากใบอ่อน
    – เป็นยาหยอดตาแก้ตาเจ็บหรือนัยน์ตาเป็นแผล ด้วยการนำใบอ่อนมาแช่กับน้ำแล้วห่อด้วยผ้าสะอาด จากนั้นบีบเอาน้ำออกมาใช้
  • สรรพคุณจากราก ใบและเถา
    – แก้เลือดพิการ แก้ระดูมากะปริบกะปรอย ด้วยการนำราก ใบและเถามาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยารักษาบาดแผลและแผลพุพอง ต้านแบคทีเรีย
    – ช่วยห้ามเลือดและทำให้แผลแห้งเร็ว รักษาโรคหิด รักษาผื่นแดงและฝีฝักบัว ป้องกันอาการปวดข้อและอาการแพลง ด้วยการนำใบมาขยี้ใช้พอก
  • สรรพคุณจากส่วนที่อยู่ใต้ดิน
    – แก้พิษจากสุนัขกัด แก้อาการจากพิษ แก้ปวด ด้วยการนำมาต้มเป็นยาห่ม
  • สรรพคุณจากต้นและใบ
    – เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยในผู้สูงอายุ โดยตำรายาพื้นบ้านล้านนานำต้นและใบมาผสมกับหัวยาข้าวเย็นแล้วนำมาต้มกับน้ำดื่มต่างน้ำชา

ประโยชน์ของลิเภา

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนและยอดอ่อนนำมาใช้ประกอบอาหารอย่างพวกแกง ผัด ต้ม นึ่ง ลวกหรือทานสดร่วมกับน้ำพริกและลาบ
2. ใช้ในอุตสาหกรรม ต้นสามารถนำมาใช้ทำเชือกได้เพราะเถามีความเหนียวคงทน ทำสานตะกร้า กำไล ทำกระเป๋าและเครื่องประดับได้

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของลิเภา

จากการทดลองในสัตว์ พบว่า สารสกัดจากทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้หนูและกระต่ายแท้งได้

ลิเภา เป็นเฟิร์นที่มีเถาเลื้อยไปตามต้นไม้อื่นที่มีลักษณะเด่นอยู่ที่ใบ และยังมีหลากหลายสายพันธุ์อีกด้วย มีต้นรสจืดเย็นทำให้มีสรรพคุณทางยาสมุนไพร ถือเป็นต้นยอดนิยมในการนำมาเป็นยาของชนชาวเขาทั้งหลาย ส่วนของเถานั้นมีความเหนียวคงทนทำให้นำมาแปรรูปเป็นเชือกและนำมาใช้ในอุตสาหกรรมจักสานได้ ลิเภามีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะการนำมาใช้ทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้พิษฝี แก้เจ็บคอ รักษาโรคมะเร็ง ช่วยถอนพิษ แก้อาการปวดเมื่อยในผู้สูงอายุและรักษาโรคทางเดินปัสสาวะได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หญ้ายายเภา”. หน้า 145.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ลิเภา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [03 ก.ย. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “หญ้ายายเภา, ลิเภาใหญ่”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [03 ก.ย. 2014].
หัตถกรรมย่านลิเภา. “ย่านลิเภา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tungsong.com. [03 ก.ย. 2014].
ไทยเกษตรศาสตร์. “ลิเภา”. อ้างอิงใน : หนังสือวัลลิ์รุกขบุปผชาติตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [03 ก.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/