พลับพลา
พลับพลา ไม้ยืนต้นใช้ในตำรายาพื้นบ้านอีสานของไทยพบแหล่งกำเนิดที่อยู่ในป่าดิบชื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50-300 เมตร หรือ 100-600 เมตรมีเขตกระจายพันธุ์ในประเทศ อินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม ไทย ลาว พม่า มาเลเซีย กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสามารถขยายพันธุ์ได้โดยใช้เมล็ดม ชื่อวิทยาศาสตร์ Microcos tomentosa Sm. อยู่ในวงศ์ชบา และอยู่ในวงศ์ย่อย GREWIOIDEAE ชื่อถิ่นอื่น ๆ เช่น สากกะเบือละว้า ก้อมส้ม กะปกกะปู พลาขาว คอมส้ม พลา หลาย มะก้อม พลองส้ม มลาย ขี้เถ้า สากกะเบือดง น้ำลายควาย ปะตัดหูเปี้ยว พลาลาย คอมขน หมากหอม ไม้ลาย จือมือแก ก่อออม คอมเกลี้ยง เกลี้ยง ม่วงก้อม พลา ก่อออม ลอมคอม คอม ข้าวจี่ ลาย กะผล้า จุกขวด กอม มะคอม ขนาน
ลักษณะต้นของพลับพลาทางพฤกษศาสตร์
- ต้น เป็นไม้ยืนต้นหรือเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ต้นสูงประมาณ 15 เมตร ลำต้นตรง เปลือกของลำต้นมีสีเทา แตกล่อนเป็นสะเก็ด เปลือกด้านในมีสีชมพู มีเส้นใยเรียงตัวเป็นชั้น ส่วนที่กิ่งอ่อนกับก้านใบมีขนลักษณะเป็นรูปดาว มักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบผสม และป่าดิบแล้ง
- ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน รูปวงรีแกมรูปไข่กลับ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ โคนใบเป็นรูปสอบมนหรือกลม ที่ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย ไม่เป็นระเบียบที่ปลายใบส่วนกลางกับโคนใบ ที่ขอบเรียบ ปลายใบจะมีติ่งแหลมสั้น ๆ ใบกว้างประมาณ 3-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6.5-19 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่างมีสีเขียวหม่น ผิวใบลักษณะคล้ายกระดาษกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนรูปดาวอยู่ทั้งสองด้าน ด้านล่างจะมีขนขึ้นหนาแน่นกว่าด้านบน ใบมีเส้นแขนงใบข้างละ 4-9 เส้น มีอยู่ 3 เส้นที่ออกจากโคนใบ เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได เห็นได้ชัดเจนที่ด้านล่าง ก้านใบยาวประมาณ 6-12 มิลลิเมตร มีขนขึ้นเยอะ[1]
- ดอกออกเป็นช่อกระจุกแยกแขนง ดอกออกที่ตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร ดอกมีลักษณะตูมกลม มีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก กลีบดอกมีสีเหลือง ก้านกับแกนช่อดอกมีขนอยู่ ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปแถบ รูปใบหอก ยาวได้ 1 เซนติเมตรและมีขนอยู่ ก้านดอกยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบจะแยกจากกันเป็นอิสระ ลักษณะคล้ายรูปช้อน กว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร มีขนอยู่ทั้งสองด้าน มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบแยกจากกันเป็นอิสระ มีลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้างประมาณ 0.5-1.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร มีขนอยู่ทั้งสองด้าน ส่วนที่โคนกลีบด้านในจะมีต่อมเป็นรูปรี ดอกจะมีเกสรตัวผู้เป็นจำนวนมาก ก้านชูอับเรณู ที่โคนจะมีขน ที่ปลายเกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เป็นรูปวงกลม กว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีขนอยู่ 2-4 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลอยู่ 2 เม็ด ดอกออกช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม[1]
- ผล เป็นรูปทรงกลมแกมรูปไข่กลับ ผลกว้าง 0.6-1 เซนติเมตร ยาว 1-1.2 เซนติเมตร ผนังชั้นในแข็ง ผนังของผลมีลักษณะคล้ายแผ่นหนัง มีขน ผลแก่มีสีเขียว ผลสุกมีสีม่วงดำ ในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ผลออกช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม[1]
สรรพคุณของพลับพลา
- ผลแก่จะมีรสเปรี้ยวสามารถทานเป็นยาระบายได้[1]
- ผลแก่สามารถช่วยกระจายโลหิตได้[1]
- แก่นสามารถช่วยแก้หืด โดยใช้แก่นผสมแก่นโมกหลวง แก่นจำปา ลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น ลำต้นสบู่ขาว
- ลำต้นพลองเหมือด ลำต้นคำรอก มาต้มกับน้ำแล้วดื่ม ช่วยแก้หืด หรือใช้เนื้อไม้หรือแก่นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม ช่วยแก้หืดได้[1],[6]
- เปลือกต้นสามารถทำลายพิษของต้นยางน่องได้[5]
- สามารถใช้ลำต้นเป็นยาประกอบรักษาโรคลำไส้ได้[3]
- สามารถใช้เปลือกผสมปรุงเป็นยาบำรุงโลหิตสตรีได้[1]
ประโยชน์ของพลับพลา
- ไม้เป็นเชื้อเพลิงที่ติดไฟได้ง่าย คนใต้สมัยก่อนนิยมนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาศพ และใช้ในการอยู่ไฟของสตรีที่พึ่งคลอดบุตรใหม่[6] น้ำมันยางจากเปลือกสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้[1]
- เปลือกมีเส้นใย สามารถใช้ทำเชือกแบบหยาบ ๆ[1]
- ผลสุกสามารถทานได้[1],[3],[6]
- เนื้อไม้มีความทนทาน นิยมใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือทำเครื่องเรือน[4],[6]
- ผลดิบ สามารถใช้เป็นของเล่นเด็กที่เรียกว่า บั้งโผ๊ะ หรือ ฉับโผง โดยใช้ทำเป็นกระสุนยิงจากกระบอกไม้ไผ่[3]
- ผลสุก เป็นอาหารโปรดของกระรอก มูสัง และนกบางชนิด ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบกระจอกจำนวนมากหากพื้นที่ปลูก[6]
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “พลับ พลา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [20 ธ.ค. 2013].
ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “พลับ พลา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/. [20 ธ.ค. 2013].
ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “พลับ พลา, ลอมคอม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: copper.msu.ac.th/plant/. [20 ธ.ค. 2013].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “พลับพลา”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [20 ธ.ค. 2013].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “Microcos tomentosa Sm.”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [20 ธ.ค. 2013].
ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “พลับพลา ไม้ผลท้องทุ่งเด็กใต้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: share.psu.ac.th/blog/khk-473473/. [20 ธ.ค. 2013].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.natureloveyou.sg/
2.https://www.inaturalist.org/taxa/