หางนกยูงไทย
หางนกยูงไทย มีชื่อสามัญ Barbados Pride, Dwarf poinciana, Flower fence, Paradise Flower, Peacock’s crest, Pride of Barbados[1],[4] และชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia pulcherrima (L.) Sw. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1] มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า จำพอ ซำพอ (แม่ฮ่องสอน), ขวางยอย (นครราชสีมา), ชมพอ ส้มพอ ส้มผ่อ พญาไม้ผุ (ภาคเหนือ), นกยูงไทย (ภาคกลาง), หนวดแมว (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน, ฉานแม่ฮ่องสอน), หางนกยูง เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของหางนกยูงไทย
- ต้น เป็นไม้พุ่ม มีความสูงอยู่ที่ประมาณ 1-2.5 เมตร หรืออาจจะสูงประมาณ 3-4 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมีสาขามาก เรือนยอดโปร่งพุ่มกลม ลำต้นมีขนาดเล็ก กิ่งก้านสาขาที่ยังอ่อนอยู่จะเป็นสีเขียว ส่วนกิ่งที่แก่แล้วจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม ส่วนเปลือกลำต้นจะเรียบและเป็นสีน้ำตาล ตามกิ่งก้านมีหนาม (บางพันธุ์ก็ไม่มีหนาม) สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่งและวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นทำได้ในดินทั่วไป เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัด ต้องการน้ำและความชื้นในระดับกลาง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาใต้ หมู่เกาะเวสต์อินดีส ในประเทศไทยจะพบได้มากตามบ้านทั่วไปทั้งในเมืองและชนบท หรือตามสวนสาธารณะริมทางก็จะมีให้เห็นบ่อยๆ[1],[2]
- ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ลักษณะเป็นแผง ๆ ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยอยู่ประมาณ 6-12 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ปลายใบมน โคนใบมนและเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีความกว้างประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ส่วนผิวด้านหลังใบมีสีเข้มกว่าด้านท้องใบ[1]
- ดอก จะออกดอกเป็นช่อ โดยออกบริเวณตามซอกใบ ปลายกิ่ง หรือตามส่วนปลายยอดของต้น มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกมีหลายสีแยกไปตามสายพันธุ์ ได้แก่ สีส้ม สีแดงประขาว สีชมพู สีชมพูแก่ สีเหลือง มีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ ขอบกลีบดอกจะไม่เท่ากันหรืออาจจะยับย่นเป็นเส้น เส้นลอนสีเหลือง ขอบกลีบดอกเป็นสีเหลือง มีเกสรอยู่กลางดอกเป็นเส้นงอนยาวโผล่พ้นดอกออกมา ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นยาวมีอยู่ 10 อัน และมีเกสรเพศเมีย 1 อัน มีรังไข่เหนือฐานรองดอก ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นสีแดงสดเหมือนก้านชูอับเรณู ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมีอยู่ 5 กลีบ ปลายแยก โคนเชื่อมติดกัน เมื่อดอกบานได้เต็มที่แล้วจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ประมาณ 4 เซนติเมตร สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[2]
สรรพคุณของหางนกยูงไทย
1. ดอกหางนกยูงสีเหลือง สามารถนำมาต้มกับน้ำ แล้วใช้อมเพื่อบรรเทาอาการปวดฟันได้ (ดอกของต้นดอกเหลือง)[3]
2. รากของต้นดอกแดง มีรสเฝื่อน สามารถนำมาต้มหรือฝนกินเป็นยาแก้วัณโรคในระยะที่สาม (การนำมาใช้เป็นยาโดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้ต้นที่มีดอกสีแดง) (รากของต้นดอกแดง)[1],[4]
3. รากของต้นดอกแดง สามารถใช้ปรุงเป็นยาขับประจำเดือนของสตรี (รากของต้นดอกแดง)[1],[4]
4. ราก สามารถใช้เป็นยาแก้บวม (ราก)[4]
5. เมล็ด สามารถใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ (เมล็ด)[4]
ประโยชน์ของหางนกยูงไทย
1. ดอก สามารถนำมาใช้บูชาพระได้[3]
2. เมล็ดในฝัก สามารถนำมารับประทานได้ โดยแกะเอาเปลือกกับเมล็ดซึ่งมีรสฝาดทิ้งไป โดยเนื้อในเมล็ดจะมีรสหวานมันเล็กน้อย (เมล็ด)[2]
3. ใบ สามารถนำมาวางตามห้องหรือใกล้ตัวเพื่อป้องกันแมลงหวี่ หรือใช้ใบแห้งนำมาจุดไฟให้มีควันเพื่อไล่แมลงหวี่ได้[3]
4. นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับกัน เพราะดอกมีความสวยงาม และสามารถปลูกได้ในดินทุกชนิด มีความทนทาน ปลูกง่ายและขึ้นง่าย เหมาะกับการปลูกเป็นรั้ว เพราะบางสายพันธุ์จะมีหนามและกิ่งก้านเยอะ สามารถปลูกเกาะกลุ่มเป็นแนวได้ดี[2]
5. ส่วนในด้านความสำคัญทางเศรษฐกิจ สามารถปลูกและจำหน่ายต้นกล้าเพื่อเป็นไม้ประดับและจำหน่ายดอกเพื่อหารายได้[3]
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หาง นกยูง ไทย (Hang Nokyoong Thai)”. หน้า 333.
2. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “หาง นกยูง ไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [17 ก.ค. 2014].
3. เทศบาลตำบลอุโมงค์. “ดอกซอมพอ หรือ ดอกซอมภอ หางนกยูงไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: umongcity.go.th. [17 ก.ค. 2014].
4. โรงเรียนสองแคววิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่. “หาง นก ยูง ไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:www.songkaew.ac.th. [17 ก.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.toothmountainnursery.com