ผักบุ้งรั้ว ดอกสีม่วงอ่อนสวยงาม ต้นมีพิษไซยาไนด์ เป็นยาต่อระบบขับถ่ายปัสสาวะ

ผักบุ้งรั้ว ดอกสีม่วงอ่อนสวยงาม ต้นมีพิษไซยาไนด์ เป็นยาต่อระบบขับถ่ายปัสสาวะ
ผักบุ้งรั้ว เป็นวัชพืชไม้เถาเลื้อย ดอกเป็นรูปแตร เป็นสีม่วง สีม่วงอ่อน สีม่วงแดง สีชมพูหรือสีขาวอมเขียว
ผักบุ้งรั้ว ดอกสีม่วงอ่อนสวยงาม ต้นมีพิษไซยาไนด์ เป็นยาต่อระบบขับถ่ายปัสสาวะ
ผักบุ้งรั้ว เป็นวัชพืชไม้เถาเลื้อย ดอกเป็นรูปแตร เป็นสีม่วง สีม่วงอ่อน สีม่วงแดง สีชมพูหรือสีขาวอมเขียว

ผักบุ้งรั้ว

ผักบุ้งรั้ว (Railway Creeper) เป็นไม้เถาเลื้อยที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย มีดอกเป็นรูปแตรสีม่วงอ่อนหรือสีชมพูทำให้ดูสวยงามจึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ ผักบุ้งรั้วมีทั้งต้นรสหว่านชุ่มและขม ทำให้มีฤทธิ์เป็นยาเย็น นิยมนำมาใช้เป็นยาในประเทศอินเดียและในตำรับยาแก้นิ่ว ทว่าผักบุ้งรั้วเองนั้นก็มีส่วนของใบและรากมีสารพิษไซยาไนด์อยู่ซึ่งเป็นสารที่อันตรายต่อร่างกายอย่างมากจึงควรนำมาปรุงก่อนทาน ผักบุ้งรั้วค่อนข้างนิยมในฮาวายซึ่งจะนำรากมาบริโภคเป็นอาหารแม้ว่ามันจะมีรสขมก็ตาม

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักบุ้งรั้ว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ipomoea cairica (L.) Sweet
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Railway Creeper”
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “ผักบุ้งฝรั่ง” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “โหงวเหยียวเล้ง” จีนกลางเรียกว่า “อู่จ่าวหลง อู๋จว่าหลง อู๋จว่าจินหลง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE)
ชื่อพ้อง : Convolvulus cairicus L., Ipomoea palmata Forssk.

ลักษณะของผักบุ้งรั้ว

ผักบุ้งรั้ว เป็นพรรณไม้เลื้อยหรือไม้เถาล้มลุก มักจะพบขึ้นเป็นวัชพืชตามที่รกร้างทั่วไปในประเทศไทย
ลำต้น : ลำต้นสามารถเลื้อยไปได้ยาวและไกล มีลักษณะเป็นปล้องสีเขียวหรือสีเขียวอมเทา ตามลำต้นจะมีตุ่มเล็ก ๆ ติดอยู่
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันไปตามข้อของต้น ลักษณะของใบคล้ายรูปฝ่ามือแยกออกเป็น 5 แฉก แฉกลึกถึงโคน แฉกกลางมีขนาดใหญ่กว่า แต่ละแฉกมีลักษณะเป็นรูปวงรี รูปไข่หรือรูปแกมใบหอก ปลายใบแต่ละแฉกมีลักษณะแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นสีเขียว ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนทั้งหน้าใบและหลังใบ ใบที่โคนมักแยกออกเป็นแฉก ก้านใบมีตุ่มเล็ก ๆ
ดอก : มีทั้งดอกเดี่ยวและออกเป็นช่อตามซอกใบหรือยอดต้น มีดอกประมาณ 1 – 3 ดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปแตร กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงมีลักษณะติดทน ขยายในผล กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปแตรหรือรูปลำโพง เป็นสีม่วง สีม่วงอ่อน สีม่วงแดง สีชมพูหรือสีขาวอมเขียว แต่ใจกลางดอกจะมีสีเข้มกว่า กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน อับเรณูไม่บิดงอ รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียเป็นรูปเส้นด้ายอยู่ภายในหลอดกลีบดอก ยอดเกสรมี 2 พู
ผล : พบผลได้ในดอก เมื่อดอกร่วงโรยไปก็จะติดผล ผลเป็นแบบแคปซูลลักษณะกลม เมื่อแก่จะแห้งและแตกออก
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1 – 4 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมและสั้น ด้านหนึ่งเป็นแง่ง เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอมเทาหรือสีดำ มีขนนุ่มสีขาวหนาแน่น ตรงขอบมีขนยาว

สรรพคุณของผักบุ้งรั้ว

  • สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยขับน้ำชื้นในร่างกาย ดีต่อปอด ตับ ไตและกระเพาะปัสสาวะ เป็นยาแก้ไอ แก้ไอร้อนในปอด เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา แก้ปัสสาวะกะปริบกะปรอย
    – แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ แก้นิ่วที่ถ่ายปัสสาวะออกมาเป็นเลือด ด้วยการนำต้นสดประมาณ 30 – 35 กรัมมาต้มกับน้ำตาลกรวดเล็กน้อยแล้วนำน้ำที่ได้มาดื่ม
    – แก้ฝีบวม แก้ฝีหนองภายนอกหรือผดผื่นคัน ด้วยการนำต้นสดมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น
  • สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยาถ่าย เป็นยาแก้ฟกช้ำ
  • สรรพคุณจากใบ
    – แก้ผดผื่นคัน ด้วยการนำใบมาตำพอกหรือทา

ประโยชน์ของผักบุ้งรั้ว

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร บางท้องถิ่นนำผักบุ้งรั้วมาใช้ปรุงเป็นอาหาร ในฮาวายนำรากมาบริโภคเป็นอาหาร
2. ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักบุ้งรั้ว

สารที่พบในผักบุ้งรั้ว

  • ใบและรากผักบุ้งรั้วมีสาร cyanogenetic glycoside ผสมอยู่เล็กน้อย
  • เมล็ดมีสารจำพวก muricatin A, muricatin B, fatty acid (arachidic, bebenic, oleic, palmitic, linolenic acid, linoleic, stearic), β – Sitosterol
    ผลการทดลอง ฉีดสาร muricatin A ที่สกัดได้จากเมล็ดผักบุ้งรั้วเข้าไปในหลอดเลือดของสุนัขในขนาดประมาณ 5 – 10 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งจะไม่มีผลต่อความดันโลหิต แต่ถ้าใช้ในขนาดมากหรือประมาณ 20 – 40 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จะมีผลทำให้ความดันโลหิตลดลงชั่วคราว
  • เมื่อนำสาร muricatin A มาใช้ทดลองกับหนู โดยให้หนูทดลองกินในขนาด 0.5 กรัม พบว่ามีฤทธิ์เป็นยาถ่ายได้

ข้อควรระวังของผักบุ้งรั้ว

ใบและรากมีสารพิษไซยาไนด์ ซึ่งมีความเป็นพิษต่อระบบหายใจได้ มีข้อมูลระบุว่าต้น รากและใบมีสารพิษ ส่วนเถาหากนำมารับประทานจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ จึงต้องนำมาให้ความร้อนด้วยการต้มหรือคั่วให้เกรียมก่อนจึงจะนำมารับประทานได้

ผักบุ้งรั้ว เป็นผักที่อยู่ในวงศ์ผักบุ้งซึ่งเป็นต้นที่ค่อนข้างมีสารพิษรุนแรงและไม่ค่อยนิยมทานกันในประเทศไทยสักเท่าไหร่ แต่กลับนิยมในฮาวาย ทว่าเป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาโดยเฉพาะในอินเดียจะนำมาใช้ และยังเป็นไม้ปลูกประดับที่สวยงามได้ด้วย ผักบุ้งรั้วมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาถ่าย ขับพิษร้อนถอนพิษไข้ เป็นยาขับปัสสาวะและแก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ ถือเป็นต้นที่ดีต่อระบบขับถ่ายปัสสาวะเป็นอย่างมาก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักบุ้งรั้ว”. หน้า 496-497.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ผักบุ้งรั้ว”. หน้า 348.
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ผักบุ้งรั้ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [18 พ.ย. 2014]. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี. “ผักบุ้งรั้ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.skn.ac.th. [18 พ.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/