ผักบุ้งรั้ว ดอกสีม่วงอ่อนสวยงาม ต้นมีพิษไซยาไนด์ เป็นยาต่อระบบขับถ่ายปัสสาวะ
ผักบุ้งรั้ว เป็นวัชพืชไม้เถาเลื้อย ดอกเป็นรูปแตร เป็นสีม่วง สีม่วงอ่อน สีม่วงแดง สีชมพูหรือสีขาวอมเขียว

ผักบุ้งรั้ว

ผักบุ้งรั้ว (Railway Creeper) เป็นไม้เถาเลื้อยที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย มีดอกเป็นรูปแตรสีม่วงอ่อนหรือสีชมพูทำให้ดูสวยงามจึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ ผักบุ้งรั้วมีทั้งต้นรสหว่านชุ่มและขม ทำให้มีฤทธิ์เป็นยาเย็น นิยมนำมาใช้เป็นยาในประเทศอินเดียและในตำรับยาแก้นิ่ว ทว่าผักบุ้งรั้วเองนั้นก็มีส่วนของใบและรากมีสารพิษไซยาไนด์อยู่ซึ่งเป็นสารที่อันตรายต่อร่างกายอย่างมากจึงควรนำมาปรุงก่อนทาน ผักบุ้งรั้วค่อนข้างนิยมในฮาวายซึ่งจะนำรากมาบริโภคเป็นอาหารแม้ว่ามันจะมีรสขมก็ตาม

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักบุ้งรั้ว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ipomoea cairica (L.) Sweet
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Railway Creeper”
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “ผักบุ้งฝรั่ง” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “โหงวเหยียวเล้ง” จีนกลางเรียกว่า “อู่จ่าวหลง อู๋จว่าหลง อู๋จว่าจินหลง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE)
ชื่อพ้อง : Convolvulus cairicus L., Ipomoea palmata Forssk.

ลักษณะของผักบุ้งรั้ว

ผักบุ้งรั้ว เป็นพรรณไม้เลื้อยหรือไม้เถาล้มลุก มักจะพบขึ้นเป็นวัชพืชตามที่รกร้างทั่วไปในประเทศไทย
ลำต้น : ลำต้นสามารถเลื้อยไปได้ยาวและไกล มีลักษณะเป็นปล้องสีเขียวหรือสีเขียวอมเทา ตามลำต้นจะมีตุ่มเล็ก ๆ ติดอยู่
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันไปตามข้อของต้น ลักษณะของใบคล้ายรูปฝ่ามือแยกออกเป็น 5 แฉก แฉกลึกถึงโคน แฉกกลางมีขนาดใหญ่กว่า แต่ละแฉกมีลักษณะเป็นรูปวงรี รูปไข่หรือรูปแกมใบหอก ปลายใบแต่ละแฉกมีลักษณะแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นสีเขียว ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนทั้งหน้าใบและหลังใบ ใบที่โคนมักแยกออกเป็นแฉก ก้านใบมีตุ่มเล็ก ๆ
ดอก : มีทั้งดอกเดี่ยวและออกเป็นช่อตามซอกใบหรือยอดต้น มีดอกประมาณ 1 – 3 ดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปแตร กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงมีลักษณะติดทน ขยายในผล กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปแตรหรือรูปลำโพง เป็นสีม่วง สีม่วงอ่อน สีม่วงแดง สีชมพูหรือสีขาวอมเขียว แต่ใจกลางดอกจะมีสีเข้มกว่า กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน อับเรณูไม่บิดงอ รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียเป็นรูปเส้นด้ายอยู่ภายในหลอดกลีบดอก ยอดเกสรมี 2 พู
ผล : พบผลได้ในดอก เมื่อดอกร่วงโรยไปก็จะติดผล ผลเป็นแบบแคปซูลลักษณะกลม เมื่อแก่จะแห้งและแตกออก
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1 – 4 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมและสั้น ด้านหนึ่งเป็นแง่ง เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอมเทาหรือสีดำ มีขนนุ่มสีขาวหนาแน่น ตรงขอบมีขนยาว

สรรพคุณของผักบุ้งรั้ว

  • สรรพคุณจากทั้งต้น เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยขับน้ำชื้นในร่างกาย ดีต่อปอด ตับ ไตและกระเพาะปัสสาวะ เป็นยาแก้ไอ แก้ไอร้อนในปอด เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา แก้ปัสสาวะกะปริบกะปรอย
    – แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ แก้นิ่วที่ถ่ายปัสสาวะออกมาเป็นเลือด ด้วยการนำต้นสดประมาณ 30 – 35 กรัมมาต้มกับน้ำตาลกรวดเล็กน้อยแล้วนำน้ำที่ได้มาดื่ม
    – แก้ฝีบวม แก้ฝีหนองภายนอกหรือผดผื่นคัน ด้วยการนำต้นสดมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น
  • สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยาถ่าย เป็นยาแก้ฟกช้ำ
  • สรรพคุณจากใบ
    – แก้ผดผื่นคัน ด้วยการนำใบมาตำพอกหรือทา

ประโยชน์ของผักบุ้งรั้ว

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร บางท้องถิ่นนำผักบุ้งรั้วมาใช้ปรุงเป็นอาหาร ในฮาวายนำรากมาบริโภคเป็นอาหาร
2. ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักบุ้งรั้ว

สารที่พบในผักบุ้งรั้ว

  • ใบและรากผักบุ้งรั้วมีสาร cyanogenetic glycoside ผสมอยู่เล็กน้อย
  • เมล็ดมีสารจำพวก muricatin A, muricatin B, fatty acid (arachidic, bebenic, oleic, palmitic, linolenic acid, linoleic, stearic), β – Sitosterol
    ผลการทดลอง ฉีดสาร muricatin A ที่สกัดได้จากเมล็ดผักบุ้งรั้วเข้าไปในหลอดเลือดของสุนัขในขนาดประมาณ 5 – 10 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งจะไม่มีผลต่อความดันโลหิต แต่ถ้าใช้ในขนาดมากหรือประมาณ 20 – 40 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จะมีผลทำให้ความดันโลหิตลดลงชั่วคราว
  • เมื่อนำสาร muricatin A มาใช้ทดลองกับหนู โดยให้หนูทดลองกินในขนาด 0.5 กรัม พบว่ามีฤทธิ์เป็นยาถ่ายได้

ข้อควรระวังของผักบุ้งรั้ว

ใบและรากมีสารพิษไซยาไนด์ ซึ่งมีความเป็นพิษต่อระบบหายใจได้ มีข้อมูลระบุว่าต้น รากและใบมีสารพิษ ส่วนเถาหากนำมารับประทานจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ จึงต้องนำมาให้ความร้อนด้วยการต้มหรือคั่วให้เกรียมก่อนจึงจะนำมารับประทานได้

ผักบุ้งรั้ว เป็นผักที่อยู่ในวงศ์ผักบุ้งซึ่งเป็นต้นที่ค่อนข้างมีสารพิษรุนแรงและไม่ค่อยนิยมทานกันในประเทศไทยสักเท่าไหร่ แต่กลับนิยมในฮาวาย ทว่าเป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาโดยเฉพาะในอินเดียจะนำมาใช้ และยังเป็นไม้ปลูกประดับที่สวยงามได้ด้วย ผักบุ้งรั้วมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยาถ่าย ขับพิษร้อนถอนพิษไข้ เป็นยาขับปัสสาวะและแก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ ถือเป็นต้นที่ดีต่อระบบขับถ่ายปัสสาวะเป็นอย่างมาก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ผักบุ้งรั้ว”. หน้า 496-497.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ผักบุ้งรั้ว”. หน้า 348.
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ผักบุ้งรั้ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [18 พ.ย. 2014]. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี. “ผักบุ้งรั้ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.skn.ac.th. [18 พ.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/