โกงกางใบเล็ก
เป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่ขึ้นได้ในดินเลน และมีน้ำทะเลท่วมถึง พบตามป่าชายเลนตามฝั่งทะเลทั่วไป

โกงกางใบเล็ก

โกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculata) เป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่ขึ้นได้ในดินเลนที่ค่อนข้างอ่อน และมีน้ำทะเลท่วมถึง พบตามป่าชายเลนตามฝั่งทะเลทั่วไป การกระจายพันธุ์ก็จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Rhizophora apiculata Blume จัดอยู่ในวงศ์โกงกาง (RHIZOPHORACEAE) เช่นเดียวกับโกงกางใบใหญ่[1],[2] ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น โกงกาง, พังกาทราย, พังกาใบเล็ก เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะโกงกางใบเล็ก

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ โดยมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 20-30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเยอะ เปลือกต้นเป็นสีเทาเกือบเรียบ เปลือกจะมีความหนาประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร กระพี้จะเป็นสีเหลืองอ่อน ส่วนแก่นเป็นสีน้ำตาลแดง เนื้อไม้มีลักษณะเป็นมันวาว มีรอยแตกตามแนวตั้งเยอะกว่าแนวนอน และส่วนมากนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้ฝักโดยตรง
  • ราก เป็นระบบรากแก้ว โคนของลำต้นนั้นจะมีรากเสริมออกมาเหนือโคนต้นประมาณ 1-3 เมตร โดยรากที่โคนต้นหรือรากค้ำจุนลำต้นจะแตกแขนงแบบพันกันไปมา โดยมีหนึ่งหรือสองรากที่จะทำมุมเกือบตั้งฉากกับลำต้นและหักเป็นมุมฉากลงดิน มีไว้เพื่อช่วยพยุงลำต้นให้ตั้งตรง[4]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน แต่ละคู่ของใบนั้นจะออกแบบสลับทิศทางกันไปมา ใบค่อนข้างหนาและเป็นมัน เป็นรูปมนค่อนไปทางรูปใบหอก ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งเล็ก ๆ สีดำมองเห็นได้ชัด ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างอยู่ประมาณ 3-8 เซนติเมตรและจะยาวประมาณ 7-18 เซนติเมตรหรือเล็กกว่านั้น ส่วนก้านใบจะยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร หูใบเป็นสีแดงเข้ม ยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร หุ้มใบอ่อนไว้ ใบมีจุดสีน้ำตาล[1]
  • ดอก เป็นช่อแบบ Cymes ในช่อหนึ่งนั้นจะมี 2 ดอกย่อยอยู่ติดกัน ที่ฐานของดอกย่อยนั้นจะมีใบประดับรองรับอยู่ มีกลีบเลี้ยงอยู่ 4 กลีบ เป็นสีเขียวอมเหลือง ยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร โคนกลีบจะติดกัน แต่ปลายกลีบจะแยกออกเป็นแฉก ๆ เป็นรูปไข่ ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบ เป็นรูปใบหอกแผ่นบาง ๆ สีขาว มีความยาวประมาณ 8-11 มิลลิเมตร ไม่มีขนและร่วงเร็ว ดอกจะมีเกสรตัวผู้ทั้งหมด 12 อัน ยาวประมาณ 0.6-0.75 เซนติเมตร และเกสรตัวผู้กับเกสรตัวเมียจะอยู่ในดอกเดียวกัน ส่วนรังไข่จะมีอยู่ 2-3 ห้อง ซึ่งในแต่ละห้องจะมี 2 ออวุล ดอกโกงกางใบเล็กจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม[1]
  • ผล เป็นรูปทรงกลมคล้ายไข่ เมื่อผลแก่จะไม่แตก เปลือกหยาบมีสีน้ำตาล และมีส่วนของกลีบเลี้ยงติดอยู่ด้วย ภายในหนึ่งผลนั้นจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด โดยเมล็ดจะเจริญต่อไปในขณะที่ผลยังติดอยู่บนต้น เมล็ดจะงอกส่วนของ Radicle แทงทะลุออกมาทางส่วนปลายของผล ตามด้วยส่วนของต้นอ่อน ปลายแหลมยาว เป็นสีเขียว โดยจะเรียกกันว่า “ฝักโกงกางใบเล็ก” มีความยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ผลจะแก่ในช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม[1]

สรรพคุณของโกงกางใบเล็ก

1. ใช้ใบอ่อนรับประทานแก้ท้องร่วง [3]
2. ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน (เปลือก)[4]
3. แก้อาการท้องร่วง ช่วยแก้บิด (น้ำจากเปลือก)[2]
4. น้ำจากเปลือกใช้ชะล้างแผลและใช้ห้ามเลือดได้ (น้ำจากเปลือก)[2]
5. เปลือกมาตำให้ละเอียด ใช้พอกห้ามเลือดจากบาดแผลสด หรือจะใช้ใบอ่อนนำมาเคี้ยวหรือบดให้ละเอียดก็ใช้พอกแผลสดเพื่อห้ามเลือดได้เช่นกัน (ใบ, เปลือก)[4]

ประโยชน์ของต้นโกงกางใบเล็ก

1. เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำฟืนและถ่านที่มีคุณภาพดีได้[1]
2. สามารถนำมาแปรรูปเพื่อใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ หรือใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ก็ได้[1],[2]
3. ฝักนำมาใช้ทำไวน์[4]
4. เปลือกของต้นนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำสี ทำหมึก ยา ใช้ในการฟอกหนัง ใช้ทำกาวสำหรับติดไม้[1]
5. เปลือกต้น สามารถนำไปใช้ย้อมสีผ้า แห อวน เชือก หนัง ฯลฯ[2],[4]
6. ป่าไม้โกงกางมีความสำคัญอย่างมากสำหรับสัตว์ทะเลจำพวก กุ้ง หอย ปู ปลา เพราะเป็นที่วางไข่และฟักตัวอ่อน
7. ป่าไม้โกงกางมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยป้องกันรักษาชายฝั่งทะเลจากการกัดเซาะของกระแสน้ำ
8. ใช้เป็นแนวกำบังคลื่นลมที่เคลื่อนเข้ามาปะทะชายฝั่งได้อีกด้วย

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. สวนพฤกษศาสตร์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “โกง กาง ใบ เล็ก“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [18 ธ.ค. 2013].
2. ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “โกง กาง ใบ เล็ก“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/. [18 ธ.ค. 2013].
3. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “โกง กาง ใบ เล็ก“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [18 ธ.ค. 2013].
4. “โกง กาง ใบ เล็ก“. (วรรณี ทัฬหกิจ หัวหน้างานสิ่งแวดล้อม โรงเรียนท้ายหาด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.geocities.ws/Jukkrit_L. [18 ธ.ค. 2013].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com
2.https://www.flickr.com