ชุมเห็ดเทศ
ชุมเห็ดเทศ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มักจะพบทั่วไปในประเทศไทย มีส่วนของดอกเป็นสีเหลืองทองดูอร่ามสวยงาม แถมยังดูแลง่าย จึงนิยมใช้ปลูกเป็นฉากหลังทางเดินในสวน นอกจากนั้นส่วนต่าง ๆ ของต้นยังเป็นยาสมุนไพรได้ ส่วนที่สำคัญเลยก็คือมีสรรพคุณช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยลดสิว เหมาะสำหรับสาว ๆ เป็นอย่างมาก ทว่าในปัจจุบันก็ได้มีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในการบำรุงผิวแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถดอกสดและยอดอ่อนมาต้มหรือลวกรับประทานเป็นผักจิ้มได้
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของชุมเห็ดเทศ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Senna alata (L.) Roxb.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Acapulo” “Candelabra bush” “Candle bush” “Candlestick senna” “Christmas candle” “Empress candle plant” “Impetigo bush” “Ringworm bush” “Ringworm senna” “Ringworm shru” “Seven golden candlestick”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ชุมเห็ด ชุมเห็ดใหญ่ ชุมเห็ดเทศ” ภาคเหนือเรียกว่า “ขี้คาก ลับมืนหลวง ลับหมื่นหลวง ลับมืนหลาว หญ้าเล็บมือหลวง หมากกะลิงเทศ” จังหวัดเชียงรายเรียกว่า “ส้มเห็ด” จังหวัดมหาสารคามเรียกว่า “จุมเห็ด” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ตะสีพอ” คนจีนเรียกว่า “ตุ๊ยเฮียะเต่า ฮุยจิวบักทง” จีนกลางเรียกว่า “ตุ้ยเย่โต้ว”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)
ชื่อพ้อง : Cassia alata L., Cassia bracteata L.f., Herpetica alata (L.) Raf.
ลักษณะของชุมเห็ดเทศ
ลำต้น : ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นแนวขนานกับพื้นดิน กิ่งแผ่ออกทางด้านข้าง มีขนสั้นนุ่ม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อย 8 – 20 คู่ เป็นรูปขอบขนานแกมรูปวงรี ปลายใบโค้งมน โคนใบมนเว้าเข้าหากันเล็กน้อย ขอบใบเรียบเป็นสีแดง เนื้อใบค่อนข้างหนา มีหูใบเป็นรูปติ่งหู สามเหลี่ยม เมื่อนำใบมาอบแห้งจะเป็นสีน้ำตาลอมเขียวถึงสีน้ำตาล ผงที่ได้เป็นสีน้ำตาลอมเขียว มีกลิ่นอ่อน รสเบื่อเอียนและขม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อใหญ่ มักจะออกตามซอกใบและตามปลายกิ่ง ช่อดอกเป็นช่อกระจะแคบ ดอกเป็นสีเหลืองทอง กลีบดอก 5 กลีบ เป็นรูปไข่เกือบกลมหรือรูปช้อน เกสรเพศผู้ 9 – 10 ก้าน รังไข่เกลี้ยง มีออวุลจำนวนมาก มีใบประดับเป็นสีน้ำตาลแกมสีเหลืองหุ้มดอกที่ยังไม่บาน มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบเรียงซ้อนเหลื่อมในตาดอก เป็นรูปขอบขนาน
ผล : เป็นฝักรูปแถบ ยาว แบน เกลี้ยง มีสันหรือปีกกว้าง 4 ปีก ฝักมีผนังกั้น เมื่อแก่จะเป็นสีดำและแตกตามยาว ภายในฝักมีเมล็ด 50 – 60 เมล็ด เป็นรูปสามเหลี่ยมสีดำและมีผิวขรุขระ
สรรพคุณของชุมเห็ดเทศ
- สรรพคุณจากชุมเห็ดเทศ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
– ช่วยลดความดันโลหิต ด้วยการนำมาชงกับน้ำดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากราก บำรุงธาตุ ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยทำให้หัวใจเต้นเป็นปกติ ช่วยรักษาโรคตาเหลือง ช่วยแก้กษัยเส้น เป็นยาถ่ายเสมหะ เป็นยาเบื่อพยาธิ เป็นยาขับปัสสาวะ เป็นยาแก้ปัสสาวะเหลือง รักษาตกมูกเลือด เป็นยาฆ่าพยาธิตามผิวหนัง เป็นยารักษาหิดและสิว
- สรรพคุณจากใบ ช่วยแก้เส้นประสาทอักเสบ ช่วยทำให้หัวใจเต้นเป็นปกติ ช่วยแก้กษัยเส้น เป็นยาอมบ้วนปาก ช่วยสมานธาตุ รักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ ช่วยเร่งคลอดหรือทำให้แท้ง รักษาโรคเริม ใช้อาบเด็กแรกเกิด เป็นยารักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ รักษากลากเกลื้อน แก้ผดผื่นคัน แก้ผิวหนังอักเสบเป็นผื่นคัน แก้อาการคันบริเวณหนังศีรษะ เป็นยาฆ่าพยาธิตามผิวหนัง เร่งให้หัวฝีออกเร็วขึ้น
– บำรุงหัวใจ เป็นยาขับปัสสาวะ ด้วยการนำใบมาชงกับน้ำดื่มเป็นยา
– ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการนำใบสดหรือแห้ง 1 กำมือ มาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เคี่ยว 30 นาที ใช้แบ่งดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น เป็นเวลา 3 สัปดาห์ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติ ให้ต้มใบยอดื่มอีก 3 สัปดาห์ จะหายขาดจากโรคเบาหวาน
– ขับพยาธิตัวตืด ด้วยการนำใบสด 1 กำมือ มาต้มกับน้ำดื่ม
– เป็นยาแก้สังคัง ด้วยการนำใบสด 4 – 5 ใบ มาตำรวมกับกระเทียม 4 – 5 กลีบ เติมปูนแดงเล็กน้อยแล้วนำมาใช้ทา
– รักษาแผลแมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการนำใบผสมกับน้ำปูนใส หรือน้ำมัน หรือเกลือ ใช้ตำพอก
– ช่วยรักษาฝี แก้แผลพุพอง ด้วยการนำใบรวมก้านสด 1 กำมือ มาต้มกับน้ำพอท่วมแล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 ใช้ชะล้างฝีที่แตกแล้วหรือแผลพุพอง วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น - สรรพคุณจากเมล็ด ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ ช่วยแก้อาการท้องขึ้น
– ช่วยแก้ตานซาง ถ่ายพิษตานซาง ขับพยาธิในลำไส้ ด้วยการนำเมล็ดแห้ง 3 – 5 กรัม มาบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งทานตอนท้องว่าง - สรรพคุณจากทั้งต้น ช่วยแก้ดีซ่าน เป็นยาถ่ายเสมหะ ขับพยาธิไส้เดือน ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร เป็นยาแก้ฝี ช่วยแก้อาการฟกบวม
- สรรพคุณจากใบและดอก เป็นยาถ่าย ยาระบาย ช่วยแก้อาการท้องผูก ช่วยกระตุ้นทำให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวได้ดีขึ้น
– แก้หืด ขับเสมหะในรายที่หลอดลมอักเสบ ด้วยการนำใบและดอกมาต้มกับน้ำทานเป็นยา - สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาสมานท้อง ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย
- สรรพคุณจากผล เป็นยาแก้พยาธิ ขับพยาธิตัวตืด ขับพยาธิไส้เดือน
- สรรพคุณจากดอก ขับพยาธิไส้เดือน เป็นยาขับปัสสาวะ เป็นยารักษาหิดและสิว
– ช่วยทำให้ผิวหนังดี ด้วยการนำ 1 ช่อดอกมาต้มกับน้ำดื่ม - สรรพคุณจากต้น เป็นยารักษาคุดทะราด เป็นยารักษาหิดและสิว
- สรรพคุณจากทั้งต้นอ่อน เป็นยาแก้งูกัด
ประโยชน์ของชุมเห็ดเทศ
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกสดและยอดอ่อนนำมาต้มหรือลวกทานเป็นผักจิ้ม
2. เป็นยาลดสิว ดื่มชาชงเป็นประจำจะช่วยลดสิว ฝ้า กระ ทำให้ผิวพรรณผ่องใส
3. ใช้ไล่มดและเป็นยาเบื่อปลา ชาวแอฟริกาปลูกต้นไว้รอบบ้านเพื่อใช้ไล่มด คนอินเดียและศรีลังกานำทั้งต้นอ่อนเป็นยาเบื่อปลา
4. ปลูกเป็นไม้ประดับสวนหรือตามริมน้ำ
5. แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ทำเป็นชาชง ยาแคปซูล ยาระบายอัดเม็ด หรือในรูปแบบยาทาแก้กลากเกลื้อน
ชุมเห็ดเทศ ต้นค่อนข้างมีรสขม และสามารถนำมาแปรรูปเป็นยาลดสิว ส่วนของยอดอ่อนนำมาทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก ส่วนของดอกจากต้นมีสีเหลืองอร่ามสวยงาม จึงนิยมปลูกประดับตามสวน มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและบำรุงหัวใจได้
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ชุมเห็ดเทศ (Chumhet Tet)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 108.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ชุมเห็ดเทศ Ringworm Bush”. หน้า 75.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ชุมเห็ดเทศ”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 208.
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ชุมเห็ดเทศ”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 271-274.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ชุมเห็ดเทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [13 มี.ค. 2014].
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ชุมเห็ดเทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [13 มี.ค. 2014].
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ชุมเห็ดเทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [13 มี.ค. 2014].
สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน, หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร ณ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ชุมเห็ดเทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [13 มี.ค. 2014].
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 26 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้. “ชุมเห็ดไทย/ชุมเห็ดเทศ”. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [13 มี.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ชุมเห็ดเทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [13 มี.ค. 2014].
สถาบันการแพทย์แผนไทย. “ชุมเห็ดเทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ittm-old.dtam.moph.go.th. [13 มี.ค. 2014].
พืชสมุนไพร, มหาวิทยาลัยนเรศวร. “ชุมเห็ดเทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/tewpharmacyherb/mean.htm. [13 มี.ค. 2014].
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. “ชุมเห็ดเทศ”. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). หน้า 74-75.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/