โรคสังคัง ( Tinea Cruris )
โรคสังคัง ( Tinea Cruris ) เป็นโรคเชื้อราผิวหนังที่พบได้บ่อยจากเชื้อรา พบได้มากในภูมิอากาศร้อนชื้น ทำให้เกิดอาการคันในร่มผ้า ผื่นแดงอาจเป็นแผ่น หรือเป็นวง

สังคัง

สังคัง ( Tinea Cruris ) หรือ โรคกลากที่บริเวณขาหนีบและลามมาที่อวัยวะเพศ เป็นโรคเชื้อราผิวหนังที่พบได้บ่อยจากเชื้อราในกลุ่ม Dermatophyte โดยเป็นโรคที่พบได้มากในภูมิอากาศร้อนชื้น พบในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก และพบในผู้ชายมากกว่าในผู้หญิงเป็น 3 เท่า

การติดเชื้อรานั้น เกิดจากการติดเชื้อรามาจากบริเวณอื่นของร่างกายตนเอง เช่น ติดมาจากเชื้อราบริเวณ มือ เท้า หรือติดมาจากสิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้มีเชื้อรานี้ เช่น ผ้าขนหนู เสื้อผ้า หวี กรรไกรตัดเล็บ เป็นต้น

โรคสังคังเกิดจากอะไร

สังคังเกิดจากการติดเชื้อราในกลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) เช่น เดียวกับโรคกลาก ซึ่งเชื้อเหล่านี้ปกติจะอาศัยอยู่บนผิวหนัง เล็บ และเส้นผม เมื่อผิวหนังมีความชื้นบ่อยๆและอุณหภูมิสูง ทำให้เชื้อราเจริญเติมโตได้ดีจนเกิดการติดเชื้อลุกลามไปยังบริเวณผิวหนังใกล้เคียง หรือแแพร่กระจายติดผู้อื่น

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคสังคัง โรคสังคังเกิดจากอะไร

1. เหงื่อและความอับชื้นจะทำให้เชื้อราเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนมากขึ้น เช่น นักกีฬาที่เหงื่อออกมาก
2. พบในคนอ้วนที่ขาเบียดชิด ทำให้เกิดกลิ่นอับ และมีเหงื่อออกมากตามบริเวณจุดอับของร่างกาย
3. พบในผู้ป่วยเบาหวานที่รางกายติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติ

อาการโรคสังคัง

อาการของโรคสังคัง คือ ผื่นแดงอาจเป็นแผ่น หรือเป็นวง มีผื่นแดงคัน มีขุย ขอบของผื่นนูนชัด ขึ้นกับชนิดย่อยของเชื้อรา Dermatophyte ผื่นมักมีอาการคัน และ แสบ บริเวณขาหนีบ อวัยวะเพศ หัวหน่าว รอบปากทวารหนัก
หากมีผื่นแดง คัน โดยเฉพาะที่ขาหนีบ และผื่นไม่หายไป หรือเป็นมากขึ้นควรพบแพทย์ผิวหนัง

ยารักษาโรคสังคัง

1. ยาทา เช่น ยา Ketoconazole, Clotrimazole โดยทาผื่นให้ทั่วหลังอาบน้ำ เช้า-เย็น เป็นเวลานานประมาณ 2-4 สัปดาห์
2. ยารับประทาน ใช้ในกรณีที่รอยโรคมีขนาดกว้าง โรคเป็นเรื้อรัง และ/หรือไม่ตอบสนองต่อยาทา ซึ่งควรต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งยาให้ ยาที่ใช้ในการรักษาเช่น Griseofluvin, Ketocona zole, Itraconazole, Terbinafine ซึ่งยาแต่ละตัวมีผลข้างเคียง เช่น ท้องผูก คลื่นไส้ ท้องเสีย วิงเวียน อาเจียน นอนไม่หลับ ตับอักเสบ และแพ้ยา และระยะเวลาในการรักษาต่างกัน จึงจำ เป็นต้องสั่งยาโดยแพทย์ และรวมทั้งราคายาก็แตกต่างกันด้วย โดยทั่วไประยะเวลาในการรักษาประมาณ 1-4 สัปดาห์ 

ผลข้างเคียงจากโรคสังคัง

ผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคสังคัง มีดังต่อไปนี้
1. อาการคันในร่มผ้า
2. แผลถลอกเกิดติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน
3. ติดเชื้อราชนิดแคนดิดา ( Candida ) ซ้ำซ้อน
4. เจ็บที่ผื่น อาจมีหนอง มีรอยดำของผื่นหลังการอักเสบ

รักษาโรคสังคัง และการป้องกัน

1. ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น กรรไกรตัดเล็บ หวี เสื้อผ้า แปรงสีฟัน ผ้าขนหนู ชุดชั้นใน
2. สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
3. ในกรณีที่มีเชื้อราที่เท้า หรือ โรคกลาก ฮ่องกงฟุต ร่วมด้วย ควรสวมถุงเท้าก่อนสวมกางเกงชั้นใน เพื่อป้องกันการพาเชื้อราจากเท้าไปที่บริเวณขาหนีบ
4. หลังอาบน้ำ ให้เช็ดบริเวณขาหนีบให้แห้งด้วยผ้าขนหนูแยกชิ้นจากที่เช็ดบริเวณอื่น แล้วจึงค่อยทายา
5. ลดน้ำหนักตัว ไม่ให้ขาเบียดจนเกิดจุดอับชื้น
6. ทำความสะอาดแผลเบาหวาน
7. หมั่นล้างมือให้สะอาด ก่อนสัมผัสจุดติดเชื้อ เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจาย
8. หมั่นทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่ม ผ้าปูที่นอน ด้วยการซักและตากแดดจัดเป็นประจำ

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

Guideline of management for superficial fungal infection : สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์
Dermatophyte ;

Center of Disease control and prevention ;

http://www.cdc.gov/fungal/dermatophytes/ [2013,Nov25].

ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร บรรณาธิการ. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2010 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โฮลิสติก พับลิชชิ่ง. 2548, 231-234.